จาก ชัตดาวน์ ถึง Lockdown มาตรการรุนแรงสยบวิกฤตไวรัสโควิด-19 / ฉบับประจำวันที่ 27 มี.ค. – 2 เม.ย. 2563

หลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นำกำลังทหารกองทัพบก ออกฉีดยาฆ่าเชื้อโรคในเขตชุมชนต่างๆ ยามวิกาล อย่างเงียบๆ
แบบไม่หวังผลการเป็นข่าว หรือการประชาสัมพันธ์ มาระยะหนึ่ง
แต่หลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2563 นี้แล้ว
การวางบทบาทเป็นกองหลังของ “ทหาร” คงไม่สามารถจะทำให้เงียบได้อีกแล้ว
ด้วย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้
เพื่อเป็นมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 นั้น
ทำให้กองทัพ “ต้อง” มีบทบาท
และพล.อ.อภิรัชต์ซึ่งเก็บตัวเงียบๆ มาตลอด คงไม่อาจทำเช่นนั้นได้แน่นอน
แม้ตามโครงสร้างศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 หรือ “ศอฉ.โควิด”
วางให้บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการคุมกำลังทั้งหมด
แต่เชื่อว่า พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นตัวช่วยสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์
โดยเฉพาะหากจะเลือกใช้วิธี “ยาแรง” ล็อกดาวน์ (Lockdown) กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ระบาดโควิด-19 เพื่อที่จะควบคุมการระบาดให้อยู่หมัด
ส่วนจะมีอะไรตามมา หรือเป็นมาตรการพ่วง หลังจากนั้น สังคมคงต้องช่วยกันจับตากันต่อไป

ทั้งนี้ ทุกคนคงจำได้ ถึงคำอีกคำหนึ่ง นั่นคือ ชัตดาวน์-Shutdown กรุงเทพ ได้ดี
เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
นำมาใช้ระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2557 ถึง 2 มีนาคม 2557
เพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง
และเป็นเงื่อนไขทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้น ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การรัฐประหารดังกล่าวถูกปูทางโดย กกปส.
โดยยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” นั่นเอง

จากวันนั้น มาถึงวันนี้
วันที่รัฐบาลเผชิญวิกฤต จากการระบาดของไวรัส โควิต-19
ที่กลายเป็นเงื่อนไขให้พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศ พ.ร.กฉุกเฉินฯ และกำลังทะยอยออกข้อกำหนดต่างๆออกมา
ซึ่งอาจรวมถึงการล็อกดาวน์ (Lockdown) กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ระบาดโควิด-19 อย่างหนัก ไม่ให้คนเคลื่อนย้าย หรือกักตัวอยู่ในบ้าน
ก็ต้องจับตาว่า รัฐบาลที่มาจากการ Shutdown และอาจไปถึงการใช้วิธี Lockdown รวมถึงมาตรการรุนแรงอื่นๆอีก เพื่อสยบวิกฤตไวรัสโควิด-19
โดยมีกองทัพ และ ข้าราชการประจำ สนับสนุน
จะประสบความสำเร็จหรือไม่
และจะจำกัดอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะวิกฤตไวรัส
หรือรุกคืบไปตาม “กองเชียร์ฮาร์ดคอร์”
นั่นคือ ยุให้กวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองอื่นๆ ด้วยเสียเลย หรือไม่
ต้องติดตาม!!
———————————