“เชื่อมั่นผู้นำ” หรือไม่ ?

ในสถานการณ์วิกฤตไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน ความเป็นเอกภาพร่วมมือร่วมใจกันกันกอบกู้ของคนในสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผ่านความเลวร้ายไปได้

ในทางกลับกันหากขาดความร่วมมือร่วมใจ ต่างคนต่างคิดเอาตัวรอด จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดความโกลาหลและส่งผลให้การแก้ปัญหาเต็มไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงที่เลวร้ายอยู่แล้วจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก

ประเด็นจึงอยู่ที่จะสร้างความเป็นเอกภาพในการร่วมมือร่วมใจ เป็นสังคมที่ต่างคนต่างช่วยกันคนละไม้ละมือได้อย่างไร

คำตอบนี้ บทบาทของ “ผู้นำ” มีความสำคัญอย่างยิ่ง

สังคมใดที่ “ผู้นำ” ทำให้สมาชิกที่อยู่ร่วมกันเชื่อได้ว่า “มีความรู้ความสามารถ ฉลาดที่จะค้นคิดวิธีการจัดการกับสถานการณ์ มีความเด็ดขาดกล้าหาญที่จะเดินนำหน้าพาสังคมเผชิญกับวิกฤตอย่างมีความหวัง” ความร่วมมือร่วมใจ และเสียสละที่จะช่วยกันแก้ไขคนละไม้ละมือจะเกิดขึ้น

และนั่นจะเป็นหนทางที่พาให้รอดพ้นจากความเลวร้ายไปได้

“ผู้นำที่ไร้ความสามารถ” แสดงออกมาแต่ละเรื่องไม่ทำให้ประชาชนสัมผัสได้ถึง “ความมีไหวพริบปฏิภาณที่จะสะท้อนความฉลาดของมันสมอง” มีแต่จะก่อความโกลาหล เพราะประชาชนจะเกิดความคิดว่าต้องพึ่งพาตัวเอง

เมื่อต่างคนต่างดิ้นรนเอาตัวรอด ความวุ่นวาย ตื่นตระหนกก็จะเกิดขึ้น

ดังนั้น ผู้นำจึงมีความสำคัญ

สำคัญตรงที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้หรือไม่

ดัชนีที่สะท้อนว่า “สังคมมีความเชื่อมั่นหรือไม่” คือ “ความกลัว”

ไม่เชื่อมั่นก็ “กลัวมาก” หากเชื่อมั่นก็ “ไม่กลัว” หรือ “กลัวน้อย”

สถานการณ์ระบาดของ “โควิด-19” เป็นวิกฤตล่าสุด

ความเชื่อมั่นต่อผู้นำในการรับมือเป็นอย่างไร

ล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เรื่อง “COVID-19”

ในคำถาม “กังวลแค่ไหนกับสถานการณ์ในประเทศไทย” ร้อยละ 32.86 กังวลมาก, ร้อยละ 35.32 ค่อนข้างกังวล, ร้อยละ 18.33 ไม่ค่อยกังวล, ร้อยละ 13.49 ไม่กังวลเลย

เมื่อถามว่า “กลัวหรือไม่ว่าจะติดเชื้อ COVID-19” ร้อยละ 23.97 กลัวมาก, ร้อยละ 36.97 ค่อนข้างกลัว, ร้อยละ 22.14 ไม่ค่อยกลัว, ร้อยละ 17.22 ไม่กลัวเลย

เมื่อคนกลัวมากกว่าไม่กลัว

โอกาสที่จะตื่นตระหนักจึงมีความเป็นไปได้สูง

ดังนั้น ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นใน “ผู้นำ” อันหมายถึงผู้นำบอกอะไรแล้วคนในสังคมพร้อมจะทำตาม จึงเป็นโจทย์ใหญ่

สำหรับประเทศไทยเรา เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งว่า

ที่ผ่านมา “ประชาชนเชื่อผู้นำแค่ไหน”