เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | โลกผลัดวัย

สํานักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีข้อมูลประชากร กำหนด ณ 31 ธันวาคม 2562 ว่ามีจำนวน 66,558,836 คน

ขาดอีกเกือบห้าแสนก็จะครบหกสิบเจ็ดล้านคน

น่าสนใจคือ การแบ่งช่วงเวลากับช่วงอายุคนที่เรียกเป็นเจเนอเรชั่น หรือเจน มีแปดเจเนอเรชั่น ดังนี้

หนึ่งคือ ลอสต์เจน (LOST GEN) ช่วง พ.ศ.เกิดระหว่าง 2426-2443 (17 ปี) อายุปัจจุบันคือ 120-137 ซึ่งไม่มีคนรุ่นนี้อีกแล้วในประเทศไทย

สองคือ เกรทเทสต์เจน (GREATEST GEN) ช่วง พ.ศ.เกิดระหว่าง 2444-2467 (23 ปี) อายุปัจจุบันคือ 96-119 ปี มีอยู่ 78,528 คน

สามคือ ไซเลนต์เจน (SILENT GEN) ช่วย พ.ศ.2468-2488 (20 ปี) อายุปัจจุบันคือ 75-95 ปี มีอยู่ 3,012,560 คน

สี่คือ เบบี้บูมเมอร์ (BABY BOOMER) ช่วง พ.ศ.2489-2507 (18 ปี) อายุปัจจุบันคือ 56-74 ปี มีอยู่ 12,062,744 คน

ห้าคือ เจนเอ็กซ์ (GEN X.) ช่วง พ.ศ.2508-2522 (14 ปี) อายุปัจจุบันคือ 41-55 ปี มีอยู่ 15,650,053 คน

หกคือ เจนวาย (GEN Y.) ช่วง พ.ศ.2523-2540 (17) ปี อายุปัจจุบันคือ 23-40 ปี มีอยู่ 17,527,920 คน

เจ็ดคือ เจนแซด (GEN Z.) ช่วง พ.ศ.2541-2553 (12 ปี) อายุปัจจุบันคือ 10-22 ปี มีอยู่ 10,830,639 คน

แปดคือ เจนอัลฟา (GEN-ALPHA) ช่วง พ.ศ.2554-2562 (8 ปี) อายุปัจจุบันคือ 1-9 ปี มีอยู่ 7,396,392 คน

มีแบ่งพิเศษอีกกลุ่ม เรียกเจนซี (GEN C.) แบ่งตามพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นพฤติกรรมเสพติดการเชื่อมต่อหรือแชร์ได้ทุกเมื่อ

ที่จริงทั้งหมดนั่นคือการแบ่งช่วงสมัยของพัฒนาการสังคมกับช่วงอายุคนในแต่ละช่วงสมัยนั้นๆ นั่นเอง

ดังมีคำอธิบายประกอบแต่ละช่วงสมัย

ดังนี้

ช่วงลอสต์ หรือเจนลอสต์ เป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เสียชีวิตหมดแล้ว

ช่วงเจนเกรทเทสต์ คือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้คนยุคนั้นจะมีความเป็นทางการสูง

ช่วงเจนไซเลนต์ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คนรุ่นนี้มีความจงรักภักดีต่อนายจ้างและประเทศชาติสูง ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น

ช่วงเบบี้บูมเมอร์ ยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 49 ปีขึ้นไป มุ่งมั่นทำงานประหยัดอดออม รอบคอบ

ช่วงเจนเอ็กซ์ ยุคโลกมั่งคั่งแล้วเป็นคนวัยทำงาน โตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ เพลงฮิปฮอป และอาจทันดูทีวีจอขาวดำด้วย ชอบอะไรง่ายๆ ไม่เป็นทางการ เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดสร้างสรรค์

ช่วงเจนวาย ยุคเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตเจริญรุดหน้า คนกลุ่มนี้ชอบงานด้านไอที มีความคิดสร้างสรรค์สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่ค่อยมีความอดทน

ช่วงเจนแซด คือวัยเด็กๆ นั่นเอง เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย สามารถใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้เร็ว

เจนนอกนั้นคือวัยทารกหรือเจนอัลฟากับเจนซีนั้น ดังกล่าวแล้วและพอจะอนุมานได้อยู่แล้วตามวิสัยของทารกกับพฤติกรรมติดจอแผ่น

ใครอยู่ช่วงเจนไหนเป็นอย่างไรลองพิจารณาดูนะ อาจเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมหรือแม้คนในครอบครัวเราเองที่อาจมีหลายรุ่น หลายช่วงสมัย ช่วงวัย คือช่วงเจนต่างๆ นั่นเอง

การแบ่งกลุ่มเป็นช่วงเจนต่างๆ นี้เป็นคติของโลกตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ซึ่งนิยมใช้กันทั่วโลกเป็นสากลแล้ว

ข้อมูลนี้ได้มาจากการประชุมสัมมนาของคณะอนุกรรมาธิการคุณธรรม จริยธรรมในคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรมของวุฒิสภา

เพื่อนำมาเป็นพื้นฐานประกอบทัศนคติที่มีต่อลักษณะของคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทยยุคนี้ต่อไป

สังคมไทยก็เหมือนสังคมทั่วโลก คือมีทั้งความเหมือนและความต่างเป็นลักษณะเฉพาะ

คุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคมไทยนั้นมีวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด เช่นกันกับคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคมอื่นทั้งโลกที่มีวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด

นี้เป็นมาตรฐานทั่วไป

วัฒนธรรมหมายถึง “วิถีชีวิต” ซึ่งเวลานี้วิถีโลกดังข้อมูลเรื่อง “ช่วงเจน” ได้เป็น “ตัวร่วม” กำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในโลกไปด้วยแล้วโดยปริยาย

วิถีโลกกลายเป็นสังคมใหม่ ดังนั้น การตั้งคำถามว่า อะไรคือคุณธรรมใหม่ จริยธรรมใหม่ของสังคมใหม่ จึงเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาร่วมสมัยของคนทั้งโลก

กระนั้นก็ตาม วิถีชีวิตที่มีลักษณะจำเพาะของแต่ละสังคมดังเรียก “วัฒนธรรมชาติ” ก็ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดที่จะกำหนดค่านิยมคุณธรรม จริยธรรมใหม่ของสังคมใหม่ ทั้งของแต่ละสังคมและสังคมโลกอยู่ดี

เหมือนดังวาทะที่ว่า “ก่อนถามว่าเราจะเป็นอะไร ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า อะไรที่ทำให้เราเป็นเรา”

วัฒนธรรมนี่แหละเป็นพลังปฏิรูปโลกที่แท้จริง