วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์แท้และอิสระ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์แท้และอิสระ

 

นับแต่นโยบาย 66/2523 และนโยบายการเมืองนำการทหารที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะ “มติชน” จึงทำได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเมือง เช่นเดียวกับข่าวทางการทหารยังเดินหน้าเจาะลึกต่อไป

ขณะที่ข่าวในวงการทหารมิได้เป็นไปด้วยความราบรื่น หากยังมีประเด็นที่หนังสือพิมพ์ต่างวิพากษ์ วิจารณ์ไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายย่อมเกิดความไม่พอใจสำหรับนายทหารบางคน หรือมีการโยกย้ายแต่งตั้งที่มีเสียงจากผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แล้วแต่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์

กรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้นายทหารใหญ่อย่างน้อย 2 คนคือ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กับ พล.ท.สืบ อักษรานุเคราะห์ กล่าวในเชิงวิจารณ์ต่อการเสนอข่าวและบทความของหนังสือพิมพ์ว่า เป็นตัวการสร้างความแตกแยกภายในกองทัพ นับได้ว่าเป็นท่าทีที่น่าสนใจไม่น้อย

คือประเด็นที่ “บทนำ” หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันพุธที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2525 หยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ในเรื่อง ภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ “แท้”

 

ด้วยเหตุประการหนึ่งแสดงถึงการที่คนระดับสูงในกองทัพให้ความสำคัญกับหนังสือพิมพ์

อีกประการหนึ่ง แสดงด้วยว่า นายพลทั้งสองยังมีความเข้าใจต่อภาระหน้าที่และการทำงานของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ “อิสระ” และหนังสือพิมพ์ “แท้” น้อยมาก

“มติชน” ที่เป็นสื่อมวลชนอิสระ เพียรพยายามก้าวไปสู่ความเป็นหนังสือพิมพ์ “แท้” จึงมีความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงความเป็นจริง อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อความเข้าใจอันดีทั้งระหว่างทหารกับหนังสือพิมพ์ และทั้งต่อประชาชนทั่วไปที่ติดตามหนังสือพิมพ์ของเราด้วย

ทั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และ พล.ท.สืบ อักษรานุเคราะห์ ต่างยืนยันว่าภายในกองทัพไม่มีความแตกแยก

หากว่าภายในกองทัพมิได้มีความแตกแยกและขัดแย้งกันเลยแม้แต่น้อย แต่บรรดาหนังสือพิมพ์ได้ถูกอิทธิพลของ “ผู้ไม่ประสงค์ดี” ครอบงำหรือหลอกลวงให้เชื่อ และต่างพากันเสนอข่าวอันปราศจากมูลความจริงออกมา ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลงโทษตามกระบิลของบ้านเมืองเพื่อให้หลาบจำต่อไป

คำถามที่ต้องการคำตอบก็คือ ความแตกแยกและความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่และมาจากไหน

ภาระหน้าที่พื้นฐานของหนังสือพิมพ์ คือการแสวงหาความจริงและทำความจริงอันนั้นให้ปรากฏต่อสาธารณะ

ความขัดแย้งและแตกแยกที่เกิดขึ้นในวงการทหารนับแต่ภายหลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นลำดับมาหาได้เกิดขึ้นเพราะการเสกสรรปั้นแต่งของหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด ความพยายามล้มล้างกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างพันเอกหลวงพิบูลสงครามกับพันเอกพระยาทรงสุรเดช หาใช่เพราะ “ผู้ไม่ประสงค์ดี” แต่ประการใด

หากเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจทางการทหารและการเมืองที่ลงเอยด้วยการจับกุม และจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิพากษาประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต

การก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งๆ ที่จอมพลสฤษดิ์เคยสาบานว่าจะไม่วัดรอยเท้าจอมพล ป. อย่างเด็ดขาด คือความแตกแยกของคนที่เคยกินข้าวหม้อเดียวกันในโรงเรียนนายร้อยทหารบกมิใช่หรือ

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ระยะหลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเกิดกบฏ 26 มีนาคม 2520 ขึ้น ก็ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ มิใช่หรือที่ลั่นกระสุนเข้าใส่ พล.ต.อรุณ ทวาทะสิน และก็ด้วยนายทหารด้วยเหมือนกันมิใช่หรือที่ พล.อ.ฉลาดถูกถอดยศและประหารชีวิตอย่างอนาถในที่สุด

การจัดรุ่นจัดกลุ่มของตัวเองก็หาได้เริ่มจากหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด หากเป็นบรรดารุ่นและกลุ่มของทหารที่จัดชุมนุมเลี้ยงและเชิญหนังสือพิมพ์ให้ไปถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์ต่างหากที่ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องเช่นนี้

ประกอบกับระยะหนึ่งผู้บัญชาการทหารบกท่านหนึ่งก็เคยเอาอกเอาใจและแสดงความสนใจต่อนักเรียนนายร้อย จปร.บางรุ่นมากเกินไปกระทั่งนายทหารรุ่นนั้นกระทำให้รุ่นอื่นเกิดความไม่พอใจและแสดงออกด้วยการเลี้ยงรุ่นต่างๆ แต่ละเว้นไม่เชิญรุ่นที่พวกตนไม่พอใจ

เหล่านี้ พล.อ.อาทิตย์ กับ พล.ท.สืบจะเห็นว่าเป็นการสร้างขึ้นของบรรดาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และผู้ไม่ประสงค์ดีต่อกองทัพและประเทศชาติกระนั้นหรือ

การก่อรัฐประหารไม่สำเร็จกระทั่งกลายเป็นกบฏ การกวาดล้างกลุ่มนายทหารที่พัวพันกับกบฏ ความไม่พอใจกับบางคนที่จะได้ตำแหน่ง ผบ.ทบ. กระทั่งมีเรื่องวางระเบิดแม้แต่ต่อกระทรวงกลาโหมล้วนแต่พูดกันว่าเป็นเรื่องของทหารด้วยกันทั้งสิ้น หาใช่เพราะการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์ที่มีความรับผิดชอบโดยทั่วไปก็ไม่ต่างจาก พล.อ.อาทิตย์ และ พล.ท.สืบเท่าใดนัก กล่าวคือ ล้วนแต่ต้องการเห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นในวงการทหารหรือวงการหนังสือพิมพ์ แต่ในโลกนี้มีหลายเรื่องหลายอย่างที่เกิดขึ้นของมันเองโดยมิขึ้นต่อเจตนารมณ์ส่วนตัวของผู้ใด

ภาระหน้าที่ร่วมกันของเราย่อมมิใช่การหลีกเลี่ยงหรือปกปิดปัญหาแบบนกกระจอกเทศเอาหัวซุกเข้าไปในทรายอย่างเด็ดขาด หากแต่จะต้องยอมรับและช่วยกันแก้ไขตามสติปัญญาของแต่ละคนที่มี

เมืองไทยทุกวันนี้ปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองรุมรัดเข้ามารอบข้าง ประเทศชาติมิได้เรียกร้องแต่เพียงทหารและข้าราชการอื่นๆ ให้ทำงานในหน้าที่ของตนอย่างมีสติและด้วยความรับผิดชอบเท่านั้น หนังสือพิมพ์อันเป็นวิชาชีพอิสระอย่างหนึ่งก็จำเป็นต้องเรียกร้องตัวเองและมีความสำนึกเช่นเดียวกัน

หนังสือพิมพ์ “มติชน” มิอาจค้ำประกันหนังสือพิมพ์อื่นๆ ได้ แต่ในฐานะที่เราเป็นนักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งที่พยายามก้าวไปสู่ความเป็นนักหนังสือพิมพ์แท้ที่ยึดมั่นในวิชาชีพอย่างมีจิตสำนึก เราขอยืนยันว่า หนังสือพิมพ์ทำได้แต่เพียงแสวงหาความจริงและทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้น เรามิบังอาจและมิบังควรที่จะเสกสรรปั้นเรื่องขึ้นเองโดยเจตนาร้ายอย่างเด็ดขาด

ใครก็ตามที่ทำงานหนังสือพิมพ์อย่างไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นอนาคตก็ไม่สดใสนัก

นั้นคือเจตนารมณ์อันมั่นคงของพวกเรา “มติชน” ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปถึงเมื่อใดก็ตาม