บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/’โลกหยุดหมุน’ อย่างแท้จริง

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘โลกหยุดหมุน’ อย่างแท้จริง

อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดร้ายแรงของเชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นประสบการณ์ครั้งแรกและอาจจะครั้งเดียวในชีวิตของคนส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ระดับความตื่นตระหนกของผู้คน

และที่สำคัญระดับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-กิจกรรมเศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน

อาจจะกล่าวได้เช่นกันว่า อิทธิฤทธิ์ของไวรัสมหากาฬนี้ ทำให้ “โลกหยุดหมุน” อย่างแท้จริง

หลายคนออกปากยอมรับว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ ค.ศ.1997 ที่เริ่มต้นในประเทศไทย วิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงในรอบ 80 ปีเมื่อ ค.ศ.2008 ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐ หรือแม้กระทั่งโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ก็ไม่เคยทำให้โลกต้องหยุดชะงักมากขนาดนี้

ไม่เพียงหลายประเทศต้องชัตดาวน์ตัวเองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่เกือบทั้งโลกก็ต้องชัตดาวน์ไปโดยปริยาย เพราะการเดินทางข้ามประเทศลดลงอย่างฮวบฮาบ

กระทั่งสายการบินต้องหยุดบริการไปโดยอัตโนมัติ

 

แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะเห็นตรงกันว่า ความรุนแรงของ COVID-19 น้อยกว่าซาร์ส ที่เกิดขึ้นในจีนเช่นกันเมื่อ 17 ปีก่อน เนื่องจากผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าซาร์ส

กล่าวคือ แนวโน้มที่จะเสียชีวิตมีเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์ (ระยะหลังองค์การอนามัยโลกปรับเพิ่มเป็น 3.4 เปอร์เซ็นต์) ส่วนซาร์สนั้น ถ้าติดเชื้อแล้วโอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์

แต่ทว่าในแง่ความกว้างและรุนแรงของการแพร่ระบาดแล้ว COVID-19 ร้ายแรงกว่ามาก

ขณะเดียวกันจากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจจะน้อยกว่าซาร์ส

แต่สุดท้าย แม้แต่ไอเอ็มเอฟก็ยอมรับว่า COVID-19 จะรุนแรงกว่า เนื่องจากช่วงที่เกิดซาร์ส จีดีพีของจีนมีมูลค่าเพียง 8% ของเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจุบันขยับเป็น 17-18% แล้ว หรือมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้การติดเชื้อ COVID-19 ระบาดกว้างไปทั่วโลกมากกว่าซาร์ส เป็นเพราะการเดินทางระหว่างประเทศที่ทำได้ง่ายขึ้นเพราะราคาถูกลง ใครๆ ก็บินได้เพราะมีสายการบินต้นทุนต่ำ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว เพียงกดจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมผ่านแอพพลิเคชั่น ช่วยกระตุ้นให้คนทั่วโลกเดินทางอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง

เมื่อคนเดินทางมากและเดินทางด้วยความถี่สูง แออัดกันอยู่ที่สนามบิน บนเครื่องบิน บนรถไฟฟ้า ตามร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยว โอกาสแพร่เชื้อสู่กันก็มาก การนำเข้าและส่งออกเชื้อโรคระหว่างประเทศก็สูงขึ้นตาม

 

ในขณะนี้การระบาดที่รุนแรงได้ย้ายจากจีน ไปยังซีกยุโรปตะวันตก ซึ่งรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปโดนกันถ้วนหน้า ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โดยเฉพาะอิตาลีนั้นมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ในระดับเกิน 3 หมื่นคนแล้ว อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อใหม่และอัตราการตายต่อวันสูงมาก

ก่อนวันที่ 1 มีนาคม สถานการณ์ระบาดหนักยังอยู่ที่เอเชีย โดยมีเกาหลีใต้ที่อยู่ๆ ก็แซงพรวดขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ของโลกรองจากจีน มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงโด่งหลักพันคนต่อวัน

ส่วนไทยที่เคยอยู่อันดับ 2 และ 3 ในช่วงต้นๆ มีผู้ติดเชื้อ 20-30 กว่าคน ไล่เลี่ยกับญี่ปุ่น ตกอันดับไปเรื่อยๆ โดยมีญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ แซงหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทั้งที่สิงคโปร์นั้นเป็นประเทศแรกที่แบนคนจีนทั้งหมดไม่ให้เดินทางเข้าสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม

ในขณะนั้นประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ระดับการติดเชื้อเฉลี่ยแต่ละประเทศอยู่ที่หลักสิบต้นๆ เช่น วันที่ 22 กุมภาพันธ์ อเมริกา 35 คนเท่ากับไทย อิตาลี 39 คน เยอรมนี 16 คน ฝรั่งเศส 12 คน แต่หลังจากวันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา ผู้ติดเชื้อในยุโรปยกแผงขึ้นมาแซงไทยและเอเชียเกือบทั้งหมดอย่างรวดเร็ว การติดเชื้ออยู่ในระดับวันละหลายร้อยถึงหลายพัน ส่วนไทยตกไปอยู่อันดับ 30 กว่าๆ

แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีประชากรแค่ 8 ล้านกว่าคน ใครจะเชื่อว่า ณ วันที่ 17 มีนาคม ติดเชื้อทะลุ 2,700 คนแล้ว

ส่วนอเมริกาที่ได้ตำแหน่งควบคุมการระบาดของโรคได้ดีที่สุดอันดับ 1 ของโลก ผู้ติดเชื้อทะยานลิ่วไปที่ 6,500 กว่าคน เสียชีวิต 115 คน หรือมีผู้ติดเชื้อมากอันดับ 8 ของโลก สวนทางกับตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกด้านการควบคุมโรค

ไม่น่าเชื่อว่า วันนี้ประเทศที่เจริญแล้วในยุโรป มีผู้ติดเชื้ออยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ทั้งอิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวิส

ประเทศยุโรปหลายแห่ง รวมทั้งฝรั่งเศสต้องใช้มาตรการปิดเมือง ห้ามคนออกจากบ้านและปิดพรมแดน ฝรั่งเศสนั้นประธานาธิบดีสั่งระดมทหารมาช่วย โดยบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะสงครามกับไวรัส

ดังนั้น การที่ใคร (คนไทย) บางคนบอกว่าทหารไม่มีความจำเป็นเพราะไม่มีสงครามแล้วนั้น ครั้งนี้อาจต้องคิดใหม่ เพราะสงครามรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง

 

สําหรับประเทศไทยนั้น ก่อนวันที่ 15 มีนาคม เราสามารถรักษาระดับผู้ติดเชื้อไว้ที่หลักสิบ ที่ 82 คน แต่วันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นมากลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มพรวดหลายสิบต่อวัน ทำให้ยอดสะสมทะลุ 100 คนในเวลาอันสั้น หากไม่รีบควบคุม ก็เกรงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นมากจนเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ไหว หมอและพยาบาลจะไม่เพียงพอในการดูแล

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การติดเชื้อที่พุ่งขึ้นเป็นเพราะประชาชนบางจำพวกที่ดื้อรั้น ประมาท ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล บ้าเที่ยวเกาหลี ญี่ปุ่น บ้าบินไปศัลยกรรม กินเหล้าแก้วเดียวกัน ชอบอ้างแต่เสรีภาพแบบไร้ความรับผิดชอบ จึงเป็นที่มาของประโยค “ประชาชนโง่เราจะตายกันหมด”

วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งอื่นๆ เช่น ต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คนที่พอมีเงินก็ยังออกไปจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวและกินอาหารนอกบ้านอยู่บ้าง แม้แต่สนามบินไม่ได้ถึงกับเงียบเหงาร้างผู้คน แต่วิกฤตจากไวรัสครั้งนี้ซึ่งคนทุกระดับตั้งแต่มหาเศรษฐียันคนชั้นล่าง ต่างหวาดกลัวเชื้อโรคที่มองไม่เห็น ได้ทำให้กิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันแทบจะหยุดชะงัก

โลกาภิวัตน์ที่เคยเป็นลมหายใจขับเคลื่อนโลกนี้ให้หมุน 24 ชั่วโมง ต้องเดินช้าลงอย่างมากจนแทบจะหยุดนิ่ง

มีบางคนตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า บางทีไวรัสมรณะตัวนี้ อย่างน้อยก็ทำให้อากาศของโลกสะอาดขึ้น เพราะยุคอุตสาหกรรมที่มีการบริโภคมากเกินเหตุ ผลิตมากเกินไป เดินทางมาก ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกแย่ลง เพราะเกิดมลพิษ

ช่วงเกือบ 2 เดือน ที่จีนในฐานะโรงงานผลิตสินค้าของโลกต้องปิดเมือง หยุดการผลิตของโรงงานต่างๆ ทำให้ท้องฟ้าในจีนใสสะอาดขึ้นมาก

ในทางสังคม จากที่มนุษย์ปัจจุบันมีค่านิยมเรื่องสมาคมสังสรรค์กันมาก (นัยว่าเพื่องาน เพื่อสร้างคอนเน็กชั่น) ทั้งงานปาร์ตี้ งานเลี้ยงรุ่น เข้าผับ เข้าบาร์ กินดื่มกัน 24 ชั่วโมง

มาบัดนี้มนุษย์ต้องอยู่ห่างจากกัน ผู้คนต้องอยู่กับบ้านเพราะเจอมาตรการปิดเมือง ส่วนคนที่ติดเชื้อก็ต้องแยกไปอยู่อย่างสันโดษหรือที่เรียกว่ากักตัว