วิรัตน์ แสงทองคำ : สถานการณ์ท้าทาย “ทุนรายใหญ่” ท่ามกลางการระบาด

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สังคมไทยก็เช่นเดียวกัน

เมื่อตอนก่อนๆ เคยสรุปบางประเด็นไว้ว่า “ยิ่งภาวะเศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้น ดูเหมือนระบบจะคัดเลือกและประคับประคองรายใหญ่มากยิ่งขึ้น” (จากเรื่อง “เครือข่ายยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงพยาบาล” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 มีนาคม 2563)

ใคร่จะนำเสนอบทสรุปตอนต่ออีกว่า หากเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ไม่ว่ารายเล็ก-รายใหญ่ ล้วนมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น

นี่คงเป็นบทเรียนสำคัญจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว

 

วิกฤตการณ์โรคระบาดระดับโลก (Pandemic) กรณีโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ COVID-19 กำลังเกิดขึ้นอย่างพรั่นพรึงเวลานี้ หากกล่าวในแง่สังคมและผู้คนแล้ว นับว่าได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง เฉพาะสังคมไทยอาจจะส่งผลกว้างขวางได้มากกว่าวิฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ก็เป็นไปได้

มีการวิเคราะห์ คาดการณ์กันบ้างแล้วว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะสร้างแรงบีบคั้น ปรับเปลี่ยนแบบแผนอย่างสำคัญ ไม่ว่าวิถีการทำงานประจำ ระบบการศึกษาเล่าเรียน การจับจ่ายใช้สอย การเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ นั้นอาจเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป เป็นภาพต่อเนื่องจากปรากฏกาณ์ชะงักงันในเวลานี้

ในเชิงเศรษฐกิจ มองผ่านความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ เป็นภาพมีบุคลิกเฉพาะของสังคมไทยในปัจจุบัน อาจจะเป็นคลื่นและกระแสอันครึกโครมอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมธุรกิจไทย นั่นคือปรากฏการณ์ธุรกิจรายใหญ่มีบทบาทนำอย่างชัดเจน

บทบาทนำในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอันกระฉับกระเฉง ด้วยมุมมองเชิงบวกว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจ ว่าด้วยความพยายามเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันเชื่อมโยงระดับภูมิภาค เมื่อสถานการณ์พลิกผันอย่างที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

ความท้าทายและการปรับตัวทางธุรกิจจะเป็นบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งสำหรับธุรกิจรายใหญ่ จะกล่าวถึง ยกเป็นกรณีตัวอย่างบางราย ล้วนเป็นเครือข่ายธุรกิจมีประสบการณ์และความสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ครั้งที่แล้วมาด้วยกันทั้งสิ้น

 

การเปิดตัวไอคอนสยามเมื่อปลายปีก่อน (พฤศจิกายน 2561) เปิดฉากขึ้น เป็นกรณีสำคัญ ถือเป็นหัวหอก สร้างกระแสและความมั่นใจตามมาเป็นระลอก

“ไอคอนสยาม…เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 54,000 ล้านบาท ด้วยความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรภาคเอกชนไทยที่มีชื่อเสียง… ประกอบไปด้วย สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหาร mixed-used development …อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ร่วมกับ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและโครงการมิกซ์ยูสระดับลักชัวรี่ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทชั้นนำของไทย…” ข้อมูลพื้นฐาน (อ้างจากต้นแหล่ง–https://www.iconsiam.com) ของโครงการใหญ่ล่าสุด เปิดตัวขึ้นอย่างมั่นใจ จากแผนการซึ่งเดินหน้ามาราว 5 ปี

โครงการใหญ่ซึ่งผนึกกำลังระหว่างธุรกิจซึ่งเติบโตอย่างมากหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 นั่นคือ กลุ่มสยามพิวรรธน์กับเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี อาณาจักรธุรกิจใหญ่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาตั้งแต่หลังยุคสงครามเวียดนาม

เมื่อผ่านไปหนึ่งปี ผู้บริหารไอคอนสยาม ประกาศอย่างท้าทาย “ไอคอนสยาม” คือ “Game Changer Destination” ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้อมูลนำเสนอที่น่าสนใจมีตอนหนึ่ง

“จากสถิติในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 80,000-120,000 คนต่อวัน หากเป็นช่วงเทศกาล เช่น วันปีใหม่ ลอยกระทง หรือสงกรานต์ ผู้เข้าใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น 200,000-350,000 รายต่อวัน โดยคิดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 35% กลุ่มหลักคือ จีน, เกาหลี, ไต้หวัน, อินเดีย และกลุ่ม CLMV”

นับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างมากในเวลานั้น เมื่อมองผ่านเครือข่ายธุรกิจใหญ่ กำลังเดินแผนทำนองเดียวกันอย่างคึกคัก

 

กิจการหนึ่งในเครือทีซีซี เปิดฉากด้วยแผนการเข้าตลาดหุ้นเป็นกรณีครึกโครมรายแรกๆ

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (10 ตุลาคม 2562) ในฐานะบริษัทพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซี ด้วยแผนการเดินหน้าอย่างรวดเร็วทันใจ ขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) สามารถระดมเงินจากสาธารณชนได้ 48,000 ล้านบาท

AWC ธุรกิจซึ่งถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ด้วยเครือโรงแรมนับสิบแห่งและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีทั้งกิจการค้าปลีกรูปแบบต่างๆ และธุรกิจอาคารสำนักงานอีกนับ 10 แห่งเช่นกัน

“เริ่มจากการลงทุนในที่ดิน พัฒนามาลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลเมื่อปี 2537 เข้าร่วมทุนกับ Capital Land Co., Ltd. ในปี 2546 และพัฒนากลายมาเป็นสายธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป” ปัจจุบันคือ “แอสเสท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ “ASSET WORLD CORPORATION (AWC)” ” ความเป็นมาอ้างมาจากต้นแหล่ง (https://www.assetworldcorp-th.com)

ตามมาอย่างกระชั้นทั้งในฐานะธุรกิจซึ่งเป็นคู่แข่งกันโดยตรงทั้งในกิจการและในเครือข่ายธุรกิจในภาพใหญ่

บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต่อเนื่องกัน (12 พฤศจิกายน 2562)

“ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีบริษัท เอส โฮเทล พีพี ไอส์แลนด์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักซึ่งก่อให้เกิดกำไรหลัก”

ลักษณะธุรกิจซึ่งระบุอย่างเป็นทางการ

 

เป็นที่รู้กันว่า SHR คือกิจการซึ่งขยายตัวอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้า ต่อเนื่องมาจากบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจเกิดขึ้นก่อนหน้าเพียง 5 ปี (2557) ด้วยการซื้อกิจการหนึ่งซึ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า Backdoor Listing

และเป็นที่รู้กันว่า ปรากฏการณ์ สิงห์ เอสเตทในปี 2557 คือการตัดสินใจครั้งสำคัญในแผนการแตกแขนงธุรกิจสู่ “พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์”

ในช่วงเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งคงยึดมั่นธุรกิจดั้งเดิม เป็นจังหวะเวลาสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง (22 พฤษภาคม 2557)

เรื่องธุรกิจกับตลาดหุ้น มักสะท้อนมุมมองว่าด้วยโอกาสและความเชื่อมั่น เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 ธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลของไทยเดินแผนการดังกล่าวในหลายกรณี เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเป็นขบวนใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เลยก็ว่าได้

 

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เป็นไปตามกระสวนนั้น

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC คือกรณีธุรกิจไทยรายล่าสุด ผู้นำค้าปลีกเพิ่งตัดสินใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์กว่า 7 ทศวรรษ นำธุรกิจหลักเข้าตลาดหุ้น (20 กุมภาพันธ์ 2563) ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 เลยก็ว่าได้ ในช่วงเดียวกันมีผู้ติดเชื้อในประเทศจีนมากถึง 75,000 คน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,200 คน

ทว่าดูเหมือนว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังลดลงอย่างชัดเจน เหมือนสถานการณ์คลี่คลาย

แต่ว่าโชคไม่เข้าข้าง หลังจากนั้นไม่กี่วัน COVID-19 แพร่กระจายรอบใหม่รอบใหญ่ไปทั่วโลก จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปยังโลกตะวันตก รวมทั้งไปยังประเทศอิตาลี ซึ่ง CRC เครือข่ายธุรกิจที่นั่นด้วย

“ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายในประเทศไทย ประเทศอิตาลี และประเทศเวียดนาม และเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ Omni-channel ในประเทศไทย ซึ่งช่วยเสริมสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกในการนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค” ดังภาพใหญ่ลักษณะธุรกิจ CRC ที่ระบุไว้ (ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ)

เครือข่ายธุรกิจใหญ่ข้างต้นมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับวิกฤตการณ์ การติดตามความเป็นไป ย่อมมองเห็นเค้าลางและสัญญาณในภาพใหญ่ ไม่มากก็น้อย