ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส
ห้องสมุดที่เปลี่ยนไป
มองบ้านมองเมืองฉบับนี้เอาง่าย พาไปมองสถานที่ใกล้ตัว ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในหมู่คนทุกเจน
เมื่อไม่นานมานี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวห้องสมุดใหม่ หลังจากก่อสร้างมานานแรมปี ดูจะคุ้มค่ากับการรอคอยของนิสิต
เพราะโฉมใหม่ห้องสมุด สวยงาม ล้ำยุค แบบสุดสุดไปเลย เป็นที่กล่าวถึงในมหาวิทยาลัย ต่างมหาวิทยาลัย และแชร์ไปทั่วโลกโซเชียล
แม้ว่าขนาดพื้นที่จะเท่าเดิม ยังคงมีสามระดับชั้นเหมือนเดิม แต่ด้วยการออกแบบก่ออิฐปิดช่องหน้าต่างเดิมที่ยาวสุดผนังให้เหลือไม่กี่ช่อง จากห้องที่เคยสว่างด้วยแสงอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นสว่างด้วยแสงไฟฟ้า จากห้องที่เคยโปร่งโล่ง เปลี่ยนเป็นห้องสลัวและลึกลับ
การตกแต่งด้วยโครงสเตนเลส ที่ออกแบบให้เป็นช่องๆ คล้ายชั้นหนังสือ ทั่วทุกผนัง จากหน้าห้อง ริมห้อง ไปจนถึงท้ายห้อง ดูเยอะ ตื่นเต้น ละลานตา
เฟอร์นิเจอร์และดวงโคม คล้ายที่เห็นตามร้านกาแฟหรือร้านอาหารหรู ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศห้องสมุดเดิมไปไกล
ชั้นล่างเปิดโล่ง เป็นที่นั่งทำงานของนิสิต ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ชั้นสองคล้ายกัน แต่เพิ่มชั้นหนังสือ วารสาร และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ส่วนชั้นบนสุดเป็นเหมือนห้องประชุม แต่เป็นแบบสมัยใหม่ ไม่ยกพื้นเวที ไม่มีแถวแนวโต๊ะ-เก้าอี้ หากเป็นพื้นลดหลั่น มีฟูกรองนั่งแบบกระจัดกระจาย
คล้ายเป็นห้องนั่งเล่นที่บ้านมากกว่า
การออกแบบและตกแต่ง จึงร่วมยุคร่วมสมัยไปกับนิสิต ยุคไอที เจนแซด ดิจิตอล เอไอ ห้าจี ฯลฯ แต่ไม่ถูกจริตอาจารย์ ยิ่งเป็นอาจารย์มีอายุ มองไม่ค่อยเห็น เดินไม่ค่อยถนัด หาหนังสือไม่ค่อยเจอ
และที่สำคัญ รู้สึกว่าห้องสมุดไม่ใช่ห้องสมุดอีกต่อไป
ก็ในเมื่อทุกวันนี้นิสิตไม่อ่านหนังสือ ไม่หาข้อมูล ไม่ดูภาพจากวารสารอีกแล้ว
ห้องสมุดจึงมีแต่ตำราประวัติศาสตร์ วารสารตกรุ่น นิสิตเลือกที่จะเปิดดูจากโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก หรือพีซี เพราะง่ายกว่า เยอะกว่า ทันสมัยกว่า และที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้
ห้องสมุดหรือห้องเก็บ หรือห้องอ่านหนังสือจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป
ที่นิสิตต้องการคือ พื้นที่พบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง กินขนม ดื่มชาไข่มุกร่วมกัน
เพราะเวลาที่เหลือ นิสิตจะอยู่ในโลกส่วนตัว มองแต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ฟังแต่เสียงจากหูฟังเท่านั้น
ถ้าห้องสมุดเปลี่ยนไป เพราะวิธีการหาความรู้เปลี่ยนไป พฤติกรรมนิสิตไม่เหมือนเดิม การเรียนการสอนก็คงจะเปลี่ยนไปด้วย
คณะไม่ใช่ที่เรียน ไม่ใช่การนั่งฟังอาจารย์บรรยาย หากเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน
คณะอาจไม่จำเป็นต้องมีห้องบรรยาย ไม่ต้องมีสตูดิโอ เพราะวิธีวาดรูป เขียนแบบ ล้วนทำได้ง่าย ด้วยโปรแกรมต่างๆ เพียงแค่มีพื้นที่ที่มีปลั๊กไฟฟ้าเยอะๆ เน็ตแรงๆ
เพียงแค่ที่นั่งสบาย สว่าง ทั้งแบบส่วนตัวและส่วนรวม
ที่ยังจำเป็นต้องมี คงจะเป็นที่ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ สำหรับเรื่องที่หาไม่ได้ในเน็ต และที่ปรึกษาอาจารย์ ในเรื่องที่หาไม่ได้ในวิกิพีเดีย หรืออาจารย์กู (เกิล) ไม่รู้
คงเป็นเช่นเดียวกับธนาคาร ที่ไม่ใช่สถานที่ฝาก ถอน โอนเงินอีกต่อไป เพราะใครๆ ก็ทำได้ผ่านมือถือหรือกดตู้เอทีเอ็ม แต่ยังต้องไปธนาคาร เวลาที่จำเป็นต้องสอบถามและปรึกษาเรื่องต่างๆ
คงเป็นเช่นเดียวกับร้านอาหาร ถ้าต้องการรับประทานอาหารอร่อย แค่สั่งผ่านแอพพ์ จะมีคนส่งถึงบ้านเร็วพลัน เลือกกินได้ทุกรายการ ทุกเวลา ทุกราคา และทุกที่ แต่ถ้าจะไปร้านอาหาร นั่นหมายถึง ต้องการไปพบปะผู้คน สังสรรค์พูดคุย และถ่ายภาพ
คงเป็นเช่นเดียวกับร้านค้าและศูนย์การค้า ที่ไม่ใช่สถานที่ที่ซื้อหาสินค้าแบบเดิมๆ เพราะซื้อหาจากเน็ตง่ายกว่า ถูกกว่า และมีบริการจัดส่งถึงบ้าน หากต้องไปสืบค้นข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม ที่เจ้าหน้าที่คอลล์เซ็นเตอร์ให้ไม่ได้ หรือให้ได้แต่ไม่รู้เรื่อง ต้องไปสัมผัส พูดคุย ถึงสิ่งของสินค้าที่ไม่ธรรมดา เฉพาะกลุ่ม เฉพาะพวกรสนิยมเดียวกัน
ทั้งหมดคงเป็นเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้า ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป การใช้สอยพื้นที่และอาคารจึงต้องแปรเปลี่ยนตาม
ห้องสมุดและมหาวิทยาลัยคงไม่เหมือนเดิม ร้านอาหารและธนาคารคงไม่เหมือนเดิม ศูนย์การค้าและสถานที่ราชการก็ต้องไม่เหมือนเดิม งานสถาปัตยกรรมเลยไม่เหมือนเดิม บ้านเมืองเลยไม่เหมือนเดิม
ส่งผลให้การเรียนการสอนสถาปัตย์และผังเมืองแปรเปลี่ยนไป
โชคดีที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์สูงวัย พ้นภาระไปแล้ว เลยไม่ต้องคิดว่าจะปรับตัว ปรับใจอย่างไร ไม่ต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น และหายไปอย่างรวดเร็ว จนไม่รู้จะสอนหนังสือเรื่องอะไร อย่างไร จนถึงขั้นจะไปมหาวิทยาลัยทำไม
เมื่อนิสิตนักศึกษาเขาไม่ต้องการ