มุมมองกฎหมายคดีฆ่าชายพิการ 6 โจ๋พกอาวุธ “ไตร่ตรอง” จริงหรือ?!!

ข่าวโด่งดังตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม คงไม่พ้นกรณีหนุ่มวัยรุ่น 6 คน อายุตั้งแต่ 18-22 ปี ยกพวกรุมทำร้ายร่างกาย นายสมเกียรติ ศรีจันทร์ อายุ 36 ปี ชายขาพิการ อาชีพส่งขนมปัง จนเสียชีวิต หน้าร้านขายขนมปัง ซอยโชคชัย 4 แยก 69 จนเสียชีวิต ก่อนจะมีผู้แอบอัดคลิปวิดีโอไว้ พร้อมนำมาเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายถึงความทารุณ โหดร้ายของกลุ่มวัยรุ่นทั้ง 6 คน นำมาซึ่งการเรียกร้องให้เร่งติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุโดยเร็วที่สุด

และยิ่งกลายเป็นประเด็นฮ็อตอิชชู่ เมื่อพบว่า 4 ใน 6 ผู้ก่อเหตุนั้นเป็นลูกตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

ทำให้เกิดความคลางแคลงใจว่า ฝ่ายผู้เสียชีวิตจะได้รับความเป็นธรรมดังที่ควรจะเป็นหรือไม่?!!

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. ลงพื้นที่ควบคุมคดีและตรวจสำนวนด้วยตัวเองแทบจะทุกขั้นตอน ยืนยันให้ความเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด จนนำไปสู่การจับกุม 6 วัยรุ่น พร้อมอีกหนึ่งหญิงสาวที่มีคลิปเป็นพยานและหลักฐานยืนยันว่าเป็นผู้ยุยง ส่งเสริมให้ก่อเหตุครั้งนี้ โดย รรท.ผบช.น. เล็งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเสมือนตัวการ ทั้ง 7 คน จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเคหสถาน พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

แต่ทว่า นายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความฝ่ายผู้เสียชีวิต และพยานที่เห็นเหตุการณ์ เรียกร้องให้แจ้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” เพิ่มกับวัยรุ่นทั้ง 7 คน โดยให้เหตุผลว่ากรณีดังกล่าวเป็นการไตร่ตรอง และเตรียมการนำอาวุธมาทำร้ายและเจตนาฆ่าผู้เสียชีวิตอยู่แล้ว

ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” จึงกลายเป็นปมใหญ่ถกเถียงในแวดวงนักกฎหมาย

พล.ต.ท.ศานิตย์ ตั้งโต๊ะแถลงอธิบายสาเหตุที่ไม่สามารถแจ้งเพิ่มข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ตาม ป.อาญา มาตรา 289 ว่า เนื่องจากขณะนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏยังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ยืนยันว่าอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบข้อเท็จจริงเพิ่มที่นำไปสู่การเพิ่มข้อหาได้นั้น จะแจ้งเพิ่มอย่างแน่นอน

“ขอชี้แจงว่าการเข้าสู่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องพบว่าการก่อเหตุดังกล่าวมีการคิดมาก่อน ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า ก่อนจะมาฆ่า แต่กรณีดังกล่าวนั้น แม้ฝ่ายผู้ต้องหาจะโทรศัพท์เรียกเพื่อนให้มาช่วยขณะที่กำลังต่อสู้กับผู้เสียชีวิต แต่ต้องพิจารณาว่าการที่เพื่อนมาช่วย แม้ว่าจะนำอาวุธติดตัวมาด้วยนั้น เป็นการนำมาเพื่อป้องกันตัวเองและมาช่วยเพื่อน หรือมีเจตนามาฆ่าผู้ตายอยู่แล้ว จากการสอบปากคำชายทั้ง 6 คน ให้การว่าเพียงต้องการมาช่วยเพื่อน และป้องกันตัว ไม่ได้ตั้งใจเอาอาวุธมาเพื่อฆ่าผู้ตายตั้งแต่แรก

“เมื่อข้อเท็จจริงจากหลักฐานและการสอบปากคำเป็นเช่นนี้ จะให้แจ้งข้อหาเพิ่มได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อพยานหลักฐานไปไม่ถึงการเพิ่มข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรอง จะให้แจ้งไว้ก่อน แล้วให้ศาล หรืออัยการเป็นผู้พิจารณาเองก็ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากการตั้งข้อหาตามกระแส หรือความรู้สึกส่วนตัว หรือแจ้งไปก่อนนั้น ทำให้พนักงานสอบสวนตกต่ำ หากคิดเพียงว่าแจ้งไว้ก่อน ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นตามนั้นเสมือนเป็นการกลั่นแกล้ง ลดความน่าเชื่อถือของพนักงานสอบสวน และการทำงานไม่เป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการแจ้งข้อหาต้องเป็นไปตามพฤติการณ์ทางคดี ทั้งนี้ ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ป.อาญา มาตรา 288 ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี ขณะที่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อาญา มาตรา 289 โทษประหารชีวิต ทั้ง 2 มาตรามีโทษสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว”

พล.ต.ท.ศานิตย์ ชี้แจงตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ศานิตย์ ลำดับเหตุการณ์ว่า สอบปากคำพบว่าต้องย้อนไปตั้งแต่ที่ฝ่ายผู้เสียชีวิตและผู้ต้องหาทะเลาะกันและมีการท้ากัน ก่อนจะจบและแยกย้ายกันไปแล้ว จากนั้นฝ่ายผู้ต้องหานั่งดื่มสุรากันต่อ ก่อนที่ 4 คนจะขึ้นห้องนอน

ส่วนอีก 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คันกลับบ้าน เป็นทางบังคับว่าทางกลับบ้านนั้นต้องผ่านหน้าร้านของผู้เสียชีวิต

โดยบังเอิญ ผู้เสียชีวิตยืนอยู่หน้าร้านพร้อมตะโกนด่าทอกัน

ฝ่ายผู้ต้องหาบอกว่าขอโทษไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่จบ กระทั่งโต้เถียงหนักขึ้นจนนำไปสู่การเกิดเหตุดังกล่าว ก่อนที่จะโทรศัพท์เรียกเพื่อนมาช่วย

ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการไตร่ตรอง เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ผู้ต้องหาบุกมาบ้านและมาทำร้ายผู้เสียชีวิต แต่เป็นเหตุการทะเลาะที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง

ขณะที่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยกเครดิตจาก “คดีโลก คดีธรรม” สรุปว่า “ไตร่ตรองหรือไม่ดูง่ายมาก?#Cr.คดีโลก คดีธรรม ว่ามีความเห็นตรงข้ามกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหามีการโทรศัพท์และยืนรออยู่สักพัก เพื่อรอพรรคพวกที่จะตามมาพร้อมกับอาวุธมีดดาบ ก่อนจะยกแนวฎีกา กรณีที่นอกจากการวางแผนแล้วนั้น ศาลตีความเรื่องระยะเวลาอย่างไร อาทิ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 218/2527 “…หลังจากทะเลาะกัน ผ่านไป 10 นาที จำเลยกลับมาใช้ปืนยิงผู้เสียหายถือว่าระยะเวลา 10 นาที เพียงพอที่จะทำให้จำเลยคิดและมีสติได้ จึงถือว่าเป็นการไตร่ตรอง…” คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2217/2556 “…การที่มีเวลาคิดไตร่ตรอง ย่อมจะไม่ใช่เกิดเหตุปัจจุบันทันด่วน…” เป็นต้น”

อย่างไรก็ดี นายนิวัฒน์ แก้วล้วน เลขาธิกาสภาทนายความ ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการจะแจ้งข้อหาไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น จะต้องพิจารณาว่าเตรียมการหรือไม่ อย่างไร

เตรียมการที่ว่านั้นมีลักษณะเช่นไรบ้าง

มีการเตรียมอาวุธ เตรียมแผนการเป็นฉากๆ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน หรืออย่างไร

เพราะเพียงแค่โทรศัพท์ไปยังเพื่อน เรียกพวกมา ตนมองว่าไม่น่าจะเป็นไตร่ตรองไว้ก่อน

อีกทั้งกรณีดังกล่าวยังเป็นลักษณะการทะเลาะวิวาท เพียงแค่ฝ่ายหนึ่งมีพวกเยอะกว่า หากพนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อหาเจตนาฆ่า ตนจะเห็นค้านแน่นอน แต่กรณีดังกล่าวแจ้งเจตนาฆ่าไปแล้ว พฤติการณ์ยังไม่ถึงเข้าข่ายไตร่ตรองไว้ก่อน

“ยกตัวอย่างการทะเลาะกันในวงหมอลำ แล้วมาดักตี หรือดักยิง กรณีเช่นนี้ศาลยังไม่ถือว่าเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ที่นำไปสู่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น จะชัดเจนมากในกรณีการจ้างวานฆ่า มีการชี้เป้า หรือซ่อนเร้น เคลื่อนย้ายศพ หรือวางแผนเส้นทางหลบหนี นอกจากนี้ จากการดูภาพของตำรวจ คลิปวงจรปิด รวมถึงที่ผู้ต้องหาให้ปากคำ จึงเห็นพ้องกับพนักงานสอบสวน” เลขาธิการสภาทนายความเผย

เป็นมุมมองของนักกฎหมาย ว่าด้วย “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” อย่างไรก็ดี ทั้งหลายทั้งปวง ขึ้นกับพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม!!