หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’วิถี’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘วิถี’

 

ทํางานอยู่ในป่า

สัตว์ป่าสอนให้รู้อีกอย่างหนึ่งว่า เรามี “วิถี” ชีวิตที่ต้องเดินไปตามเส้นทาง ทุกคนมี “เส้นทาง” ของตัวเอง

สัตว์ป่ามีเส้นทางเดินอันชัดเจน เป็นวิถีทางที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

ตั้งแต่เกิด เติบโต กระทั่งตาย

สัตว์ป่าหลายชนิดมีวิถีชีวิตซึ่งอยู่ร่วมกันเป็นฝูง บางชนิดถูกกำหนดมาให้อยู่เพียงลำพัง

แต่การถูกกำหนดมาให้อยู่ลำพังของสัตว์บางชนิด

ใช่ว่ามันจะไม่เคยรู้จักความอบอุ่นของช่วงเวลาที่อยู่กับครอบครัว หรือฝูง…

 

งานผมคือการถ่ายภาพ และเล่าเรื่องราวสัตว์ป่า

แต่ผมพบว่า เกินกว่าครึ่งในงานผม เล่าเรื่องราวของคน

เป็นเรื่องคนที่ได้พบเจอ ร่วมงาน

ไม่ใช่ช่วงเวลาอันยาวนานนักหรอก ส่วนใหญ่เราพบกันแค่เวลาสั้นๆ

อาจเพราะเราพบกันในป่า ในที่กันดาร มีโอกาสได้ “ผจญภัย” ร่วมกัน

คนเหล่านี้จึงไม่เคยหายไปจากความทรงจำ

 

ครั้งที่อยู่ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ คือช่วงเวลาที่ผมได้พบเจอคนมากที่สุด โดยเฉพาะคนผู้ซึ่งมุ่งมั่นกับการศึกษาชีวิตสัตว์ป่า

ที่นี่เป็นที่ฝึกงาน รวมทั้งเป็นที่แห่งความฝันของชายหนุ่ม หญิงสาว ที่เรียนสายสัตว์ป่า ว่าจะมาทำงานที่นี่

ไม่เพียงเพราะอยู่ใจกลางป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเปรียบเสมือน “เมืองหลวง” ของเหล่าสัตว์ป่า

แต่งานวิจัยอันเข้มข้น ทำต่อเนื่องมายาวนาน หลายอย่าง โดยเฉพาะงานศึกษาเรื่องเสือโคร่ง ที่ประสบผลสำร็จและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

ทำให้พวกเขาอยากเข้ามาเรียนรู้

 

ผมอยู่ในสถานีมาแล้วสองปี ตอนที่มุมีนเข้ามา

ชายหนุ่มที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย มุมีนอยู่คณะเดียวกับคิงและนิค ที่เข้ามาก่อนพวกเขา เรียนเรื่องสัตว์ป่า

“เราอยู่รุ่นเดียวกันแหละครับ แต่มุมีนมีปัญหา เลยจบหลังพวกเรา” นิคเล่า

ขณะนิคช่างพูด มุมีนกลับตรงกันข้าม เขาค่อนข้างเงียบขรึม วันๆ ยุ่งอยู่กับการมวนใบจาก ดื่มกาแฟ

มุมีนผิวคล้ำ มาจากจังหวัดสตูล นิคมาจากเชียงใหม่ ผิวขาว รูปหล่อแบบหนุ่มชาวเหนือ

ครั้งหนึ่งที่หมู่บ้าน ก่อนเข้าป่าทุ่งใหญ่ เราให้นิคเข้าไปซื้อเหล้าต้ม

เขาหายไปนาน เดินกลับมามือเปล่า

“ไม่มีเหล้าขายเลยครับ ถามบ้านไหนก็ไม่มี”

ถึงที่สุด ศรีต้องเข้าไปซื้อเอง

“ท่าทางผู้ดีของผู้ช่วยนิคนั่น ชาวบ้านไม่กล้าขายให้ครับ คิดว่าเป็นพวกอำเภอ” ศรีพูดพลางหัวเราะ

ในครัว นิคคุยสนุก มุมีนยึดมุมหนึ่งนั่งเงียบๆ

“ผมจะหากรงนกเขาหรือนกกรงหัวจุกมาแขวนไว้ตรงมุมที่มุมีนนั่ง จะได้บรรยากาศเหมือนแถวๆ บ้าน น่าจะดีนะครับ” ผมพูดขำๆ

“ขอบคุณครับพี่” มุมีนยิ้มๆ พ่นควันยาเส้นโขมง

มุมีนไม่ค่อยพูด เขามีทักษะด้านดนตรีสูง เป่าหีบเพลงปาก สลับการเล่นไวโอลินได้อย่างไพเราะ

เพลงที่เขาเล่น เป็นแนวเพื่อชีวิต

“ผมเล่นอยู่ในวงมหา’ลัยครับ” มุมีนเล่า

“ตอนเรียนดนตรีนั่น เก็บเงินค่าเรียนเอง พ่อไม่สนับสนุนหรอก” เป็นประโยคยาวๆ ที่เขาพูด

กลับออกจากป่าถึงสถานี ฝนตกพรำๆ มีเสียงไวโอลินบรรเลงไพเราะ

คนในสถานีวิจัยสัตว์ป่า ก็ไม่เหงาเกินไป

 

ป่าที่นี่ฝนมาเร็ว

ติดตามเสือโคร่งในช่วงฝนไม่ง่ายสักเท่าใด นอกจากต้องเดินอยู่ภายใต้สายฝนปรอยๆ สลับหนักเกือบตลอดวันแล้ว

อุปสรรคจริงๆ คือ เหล่าแมลงและยุงจำนวนมหาศาลนี่แหละ

กลับถึงสถานี ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งๆ อบอุ่น ยังต้องระวังสิ่งของอีก

นอกจากมีหมูป่าโทนเจ้าประจำที่ชอบเข้ามากัดโน่นกินนี่ ยังมีเสือดาวที่จะมาคาบรองเท้าเดินป่าเราไปแทะเล่นอีก

รองเท้าหายบ่อย แรกๆ เราไม่รู้ว่าตัวการคือเสือดาวหรอก

นิคจึงตั้งกล้องดักถ่าย จึงรู้ว่าคือเสือดาวจอมซนนี่เอง

 

ช่วงฝนปีนั้น ครอบครัวเสือโคร่งตัวเมียที่ถูกจับสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณ กำลังเลี้ยงลูกสี่ตัว ทำให้เรามีงานยุ่งทุกวัน ลูกๆ เสือมีอายุร่วมสองปีแล้ว เป็นเสือตัวโตเท่าๆ แม่ พวกมันล่าเหยื่อได้บ่อย เฉลี่ยล่ากวางสองวันต่อหนึ่งตัว และใช้เวลากินกวางโตเต็มที่เพียงสองวันก็หมด

เราออกไปตรวจสอบเหยื่อเสือครอบครัวนี้ทุกวัน บางวันเดินไม่ไกลนัก บางวันไกลกระทั่งไม่สามารถไป-กลับได้ภายในหนึ่งวัน

นิคและมุมีนทำหน้าที่วางกล้องดักถ่าย

ภาพที่ได้ แสดงให้เห็นว่า แม่เสือ “ให้ท้าย” ลูกตัวผู้

ลูกตัวผู้ได้สิทธิ์กินก่อน มันกินจนอิ่ม ตัวอื่นๆ จึงเข้ามากินได้

โดยปกติ เสือโคร่งที่เติบโตเต็มวัย มีประสบการณ์สูงๆ จะมีความชำนาญในการล่ามาก ใช้วิธีกัดบริเวณต้นคอ หลังจากล้มเหยื่อได้ มันจะกัดแถวคอหอย งับไว้จนกระทั่งเหยื่อขาดใจ

การกัดแถวต้นคอก่อน ช่วยให้เสือปลอดภัยจากเขาหรือตีนเหยื่อ

แต่เหยื่อของเสือครอบครัวนี้ เราพบว่า วัวแดงบางตัวถูกกัดแถวสันหลัง รวมทั้งลำตัวเหยื่อจะมีรอยเล็บเป็นทางทั่วไปหมด

เหล่าลูกเสือกำลังอยู่ในบทเรียนอันเข้มข้น

การกินเหยื่อนั้น หากเป็นเสือตัวเดียว มันจะเริ่มกินบริเวณสะโพก และกินครั้งละ 30-40 กิโลกรัม

เหยื่อของเสือ 5 ตัวนี้ จะถูกกินมากกว่าครึ่ง และเครื่องในถูกกินไปหมดตั้งแต่ช่วงแรกที่ฆ่าเหยื่อได้

 

เดือนสิงหาคม เวลาที่มุมีนถือบวช

เขาตื่นกินข้าวตั้งแต่ตีสาม และไม่กินอะไรอีกเลยจนพลบค่ำ

เขาไม่ค่อยออกไปตามเสือนัก ทำงานอยู่ในสถานี เราพยายามเอาใจช่วยให้เขาปฏิบัติไปตามขนบ รวมทั้งไม่กินอะไรต่อหน้าเขาในเวลากลางวัน

 

มุมีน, นิค และชายหนุ่ม หญิงสาว อีกจำนวนไม่น้อย เข้ามาเรียนรู้ทำความรู้จักสัตว์ป่า พวกเขาจะอยู่ที่นี่ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนแยกย้าย

ถึงวันนี้ นิคเป็นผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางเหนือ

มุมีนรับราชการในป่าทางภาคใต้ เขาแต่งงาน มีครอบครัวอบอุ่น…

เสือโคร่งไม่ใช่สัตว์ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นฝูง

เมื่อถึงเวลา พวกมันจะต้องไปจากแม่ เริ่มต้นพบกับการดำเนินชีวิตลำพัง

สำหรับเสือโคร่ง พวกมันมีช่วงเวลาของมันเช่นกัน

ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ช่วงเวลาที่เติบโตเต็มวัย หรือในช่วงเวลาที่ถึงวัยอันอ่อนล้า

พวกมันแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาใด

“วิถี” แห่งเสือ อยู่กับพวกมันเสมอ…

 

บรรยายภาพ

เสือโคร่ง – แม้ร่างกายถูกออกแบบมาให้เป็นนักล่า น่าเกรงขาม แต่หลายครั้งที่ “แววตา” ของมันแสดงให้เห็นถึงชีวิตและความอ่อนโยนที่อยู่ข้างใน