วงค์ ตาวัน | ประชาชนโง่ ?

วงค์ ตาวัน

จากข้อความ “ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด” ในเฟซบุ๊กของ ส.ส.สังกัดพรรคแกนนำรัฐบาลได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรง ถูกตอบโต้อย่างดุเดือดจากชาวเน็ต จนต้องออกมายกมือไหว้ขอโทษ อ้างว่าเป็นการแชร์ต่อข้อความของคนอื่น ตนเองไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นประชาชนแต่อย่างใด

คำชี้แจงนี้ ฟังขึ้นหรือไม่ ขึ้นกับดุลพินิจของประชาชนทั้งหลายที่ถูกพาดพิงถึง

ที่แน่ๆ ต่อมามีป้ายไวนิลติดหลากลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา ข้อความว่า “ประชาชนโง่ หรือ ส.ส.เขต 2 สงขลาโง่”

“บ่งบอกถึงอารณ์อันคุกรุ่นอยู่”

เข้าใจได้ว่า ถ้อยความ “ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด” ดังกล่าวมีเจตนาเพื่อจะตอบโต้ถ้อยคำ “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” ที่ฮิตติดปากคนทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งโด่งดังมาจากวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยในขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมืองนั้น มีป้ายผ้าเขียนคำอักษรย่อที่สะดุดตาอย่างยิ่ง “ผนงรจตกม”

ต่อมามีการเฉลยคำแปล และอธิบายว่า เหตุที่ต้องเขียนคำย่อ เพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์และการโดนยึดป้ายผ้า

“และนับจากนั้น “ผนงรจตกม” ก็ฮิตติดอันดับทวิตเตอร์ และใช้กันไปทั้งเมือง”

เท่านั้นไม่พอ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังมาขยายความฮิตต่อไปอีกว่า

“”#ผนงรจตกม ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด ไม่น่ากลัวเท่า #รตกมลผนยงย เราตายกันหมดแล้วผู้นำยังโง่อยู่””

นี่กระมัง กองเชียร์ผู้นำคงสุดจะทน งัดคำโต้ตอบที่ว่า “ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด” ออกมาเพื่อสวนกลับ แต่กลายเป็นการปะทะกับประชาชนส่วนใหญ่ไปเสียเอง

ในเมื่อจะปกป้องผู้นำ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมาลงที่ประชาชน

แต่ก็มีการมองไปในอีกทางว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มการเมืองในฝ่ายที่แอบอิงอำนาจจากการรัฐประหาร ได้ดิบได้ดีจากขบวนการล้มประชาธิปไตย ล้วนมีความเชื่อลึกๆ ว่าประชาชนคนไทยยังโง่อยู่

นี่เป็นต้นเหตุทำให้มีกลุ่มคนที่มีแนวคิดไม่เอาประชาธิปไตย ซึ่งเห็นว่าประชาชนยังไม่ควรมีส่วนร่วมในทางการเมือง ยังไม่ควรมีอำนาจในทางการเมือง เพราะประชาชนยังไม่พร้อม ประชาชนยังโง่อยู่

พวกนี้จึงไม่เห็นด้วยที่ประเทศเราจะมีประชาธิปไตย หรือถ้ามีก็เอาแค่ครึ่งๆ กลางๆ แบบที่เป็นอยู่ในการเมืองไทยวันนี้ ซึ่งมีกลไกมีกติกาเขียนเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจการเมืองแบบผูกขาด และทำให้อยู่ได้ยาวนานที่สุดถึง 20 ปี

ความคิดความเชื่อว่าประชาชนโง่ จึงเป็นความคิดที่มีอยู่จริง!!

เป็นความจริงที่ว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น เจตนาจะกำหนดให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ แค่ครึ่งใบ หรือแค่เสี้ยวใบเท่านั้น เขียนเพื่อให้คณะ คสช.สามารถต่อท่ออำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และถ้าเป็นไปได้ก็จะอยู่ให้นานที่สุด ถึงขั้นมีการเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี ขึ้นมากำหนดการเมืองไทยอีกด้วย

การเข้าสู่อำนาจของ คสช.ที่ยังต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่เสียงนกหวีดปลุกม็อบดังขึ้น นำมาสู่การชัตดาวน์ประเทศ เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน

โดยเมื่อรัฐบาลดังกล่าวยอมถอยกรูด ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นทางเลือกที่ยึดแนวประชาธิปไตย คือคืนอำนาจให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสิน

“แต่แกนนำม็อบนกหวีดกลับไม่ยอมเลือกทางออกตามวิถีประชาธิปไตย สร้างวาทกรรมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั่นคือไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เป็นการบีบให้ประเทศเหลือทางเดียว คือทางรถถัง”

 

นำมาสู่ 22 พฤษภาคม 2557 ประชาธิปไตยล้มคว่ำ รัฐบาลทหาร คสช.อยู่ในอำนาจ 5 ปีเต็ม ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างขนานใหญ่ เป็นไปตามวิถีทางของรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะถูกทั่วโลกแอนตี้

แต่ที่แน่ๆ ไม่มีการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ เลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ที่อ้างกันตอนขวางเลือกตั้งนั้น ก็แค่กระบวนการสร้างภาพลวงตาในเกมชิงอำนาจเท่านั้นเอง

“ที่ตลกกว่านั้น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่การเมืองหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่จัดกันในยุค คสช.นั้น ล้าหลังน้ำเน่าอย่างร้ายแรง”

เท่ากับว่ากระบวนการตั้งแต่เริ่มเป่านกหวีด มาสู่การรัฐประหาร และได้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรากลุ่มอำนาจนั้น

เป็นกระบวนการภายใต้การเห็นประชาชนว่ายังไม่พร้อม ยังโง่อยู่ ไม่ควรมีอำนาจการเมืองเต็มที่ จึงมีกติกาที่ทำให้เสียงประชาชนหลายล้านในวันเลือกตั้ง มีน้ำหนักกว่าเสียง 250 ส.ว.เสียอีก

เสียงที่เปล่งร้องตอนปลุกม็อบที่ว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มาจากพื้นฐานที่ว่าประชาชนไม่มีความรู้พอ จึงยังไม่ควรคืนอำนาจให้ประชาชน จึงยังไม่ควรมีเลือกตั้ง

ก็คือยังเห็นว่าประชาชนโง่นั่นเอง

ไม่ว่า ส.ส.ที่โพสต์ข้อความ “ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด” จะมีเจตนาเช่นไรก็ตาม แต่เมื่อสังกัดพรรคใหญ่แกนหลักของรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะกลุ่มอำนาจในรัฐบาลนี้ ย่อมรู้ตัวดีว่าได้เป็นรัฐบาลได้เข้าสู่อำนาจ เพราะมีกลไกทุกอย่างที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา

ยึดแนวทางที่ไม่ได้อิงเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในวันเลือกตั้งเป็นหลักสำคัญแต่อย่างใด

“มั่นอกมั่นใจตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า อย่างไรเสียในการตั้งรัฐบาลก็ต้องชี้ขาดกันที่ 250 ส.ว.”

ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง

ความจริงของการเมืองไทย นับจากหลังการรัฐประหาร 2557 และการดำรงอยู่ของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถึง 5 ปี ได้ปลุกให้คนรุ่นใหม่เติบโตทางการเมืองอย่างขนานใหญ่ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกของเสรีนิยม ไม่ชอบอำนาจเผด็จการ ไม่ชอบรัฐบาลที่ไม่มาจากอำนาจในมือของประชาชน

ที่สำคัญเชื่อว่าการเมืองที่เสรีเปิดกว้างเท่านั้นจะนำมาซึ่งการพัฒนาเจริญรุดหน้าของประเทศชาติเพราะเปิดกว้างให้กับคนคิดใหม่ๆ ทัศนะกว้างไกล

“การเมืองที่ผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจที่อยู่ในเครื่องแบบ จะไม่ใช่การเมืองที่ทะยานไปข้างหน้า”

จากนั้นพลังคนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็ออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างขนานใหญ่ ในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองตัวแทนคนรุ่นใหม่ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.ล้นหลาม

แต่ไม่ทันไรพรรคการเมืองที่คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นว่าจะสร้างการเมืองแนวทางใหม่ให้กับประเทศชาติ ก็ไปไม่รอด ปิดฉากไปจากเวทีรัฐสภา

เลยนำมาสู่การลุกฮือปลุกแฟลชม็อบ ลุกลามไปทั่วทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

“เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่รับรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไปจนถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐบาล ไปจนถึงกองเชียร์รัฐบาล ดาหน้าออกมาตอบโต้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างรุนแรง

เป็นอีกครั้งที่เห็นได้ว่า แนวคิดเก่าและแนวคิดใหม่ยังปะทะกันอย่างหนักหน่วงในสังคมไทย

“โดยพลังคนรุ่นใหม่และคนรักประชาธิปไตยคือฝ่ายที่เชื่อว่า การเมืองที่แท้จริงต้องมอบอำนาจให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจ”

แต่อีกฝ่ายเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

การเมืองต้องอยู่ในมือขุนทหารขุนน้ำขุนนาง เพราะประชาชนยังไม่พร้อม

คำว่าประชาชนยังโง่ จึงยังเป็นความเชื่อของคนแนวคิดหนึ่งจริงๆ!!