คุยกับทูตฝรั่งเศส ‘ฌัก ลาปูฌ’ เน้นยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทูตสตรีเป็นอันดับแรกๆ

คุยกับทูต ฌัก ลาปูฌ ไทย-ฝรั่งเศส สัมพันธ์ที่ยืนยาว และยั่งยืนกว่าสามศตวรรษ (3)

ปัจจุบัน การทูตสาธารณะ (public diplomacy) ของฝรั่งเศสให้ความสำคัญในเรื่องยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-pacific strategy) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทูตสตรีเป็นอันดับแรกๆ

การทูตสาธารณะ เป็นการดำเนินการทางการทูตแบบหนึ่งเพื่อโน้มน้าวชักจูงให้สาธารณชนและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐให้มีความชื่นชมและเข้าใจ ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนให้มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น และประสบผลสำเร็จอย่างแนบเนียน แตกต่างจากการดำเนินการทางการทูตแบบดั้งเดิม ที่เน้นการสื่อสารระหว่างรัฐต่อรัฐ (Government to Government)

แต่การทูตสาธารณะจะเน้นวิธีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน (Government to People) ภาคเอกชน ประชาสังคม หรือสื่อมวลชนในต่างประเทศหรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

อนึ่ง การทูตวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) ที่ใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อเชื่อมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนนั้น ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของการดำเนินการทางการทูตสู่สาธารณชนนี้

เริ่มจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-pacific strategy) นายฌัก ลาปูฌ (His Excellency Mr. Jacques Lapouge) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า แม้แผ่นดินใหญ่ของฝรั่งเศสตั้งอยู่ในทวีปยุโรป แต่ฝรั่งเศสก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย

“ฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจหนึ่งในอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของดินแดนโพ้นทะเลหลายแห่งของฝรั่งเศส เป็นที่ตั้งของร้อยละ 93 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษของฝรั่งเศส รวมถึงเป็นที่อยู่ของประชากรฝรั่งเศส 1.5 ล้านคน และเป็นที่ประจำการของทหารฝรั่งเศส 8,000 นาย”

ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกยังมีความสำคัญทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดย 6 ประเทศสมาชิกจี 20 ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

เส้นทางการค้าทางทะเลที่เชื่อมยุโรป อ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นเส้นทางสำคัญ สัดส่วนการค้าการลงทุนของภูมิภาคดังกล่าวในตลาดโลกที่สูงขึ้นทำให้อินโด-แปซิฟิกกลายเป็นแถวหน้าในโลกยุคโลกาภิวัตน์

และเนื่องจากภูมิภาคนี้มีจำนวนประชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง และมีการบริโภคพลังงานในระดับสูง จึงนับเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของโลกในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศสจึงมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของฝรั่งเศสในประเด็นสำคัญของโลกอันเนื่องมาจากเปลี่ยนแปลงทางประชากรและเศรษฐกิจ”

วิสัยทัศน์ของฝรั่งเศสมีหัวใจหลักอยู่ที่ระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจที่มีเสถียรภาพ

“นอกจากนี้เรายังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และสนับสนุนให้เกิดระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจที่มีเสถียรภาพโดยยึดหลักนิติธรรม” ท่านทูตเสริม

“สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวของฝรั่งเศสและเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific : AOIP) ที่ได้รับการรับรองเมื่อไม่นานมานี้ มีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน”

“ทั้งนี้ ฝรั่งเศสกำลังแสวงหาหนทางเพื่อให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในอาเซียน และเป็นประเทศผู้สมัครเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของอาเซียน ฝรั่งเศสยังมีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers” Meeting-Plus : ADMM +) และให้การสนับสนุนมากขึ้นในเวทีที่เกี่ยวข้อง”

ประเด็นที่สำคัญต่อมาคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เสาหลักสำคัญของฝรั่งเศส คือการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นความสำคัญอันดับแรกของฝรั่งเศส”

“สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) ได้ให้การสนับสนุนโครงการจำนวนมากในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับประเด็นการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการเหล่านี้ครอบคลุมหลายด้าน”

“อาทิ เมืองยั่งยืน การจัดการน้ำ การวางแผนภาค (regional planning) การปกป้องและส่งเสริมมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม การจัดการปกครองและประสิทธิภาพของรัฐ สวัสดิการสังคม งานที่มีคุณค่า (decent work) และการดูแลสุขภาพ ศูนย์วิจัยของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายการพัฒนา ก็ตั้งอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้เช่นเดียวกัน”

“นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังเป็นแถวหน้าในเรื่องการเสนอข้อริเริ่มระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ พันธมิตรพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศ (International Solar Alliance) ซึ่งก่อตั้งร่วมกับอินเดียเมื่อปี 2018”

“ข้อริเริ่ม Pacific Initiative for Adaptation and Biodiversity ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสหภาพยุโรป แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ในระหว่างการประชุม One Planet Summit 2018 หรือข้อริเริ่ม Climate Risk and Early Warning Systems (CREWS) Initiative เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก”

การทูตสาธารณะประเด็นที่สาม คือ การทูตสตรี

“ฝรั่งเศสมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการเพิ่มพลังของสตรีทั่วโลกผ่านการต่อต้านความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในที่ทำงาน และการต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง”

“ความเท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นสำคัญในวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีมาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนจำนวน 120 ล้านยูโร ให้แก่นานาชาติเพื่อใช้ในการนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนและขบวนการเพื่อสิทธิสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม สิทธิ และศักดิ์ศรีของเด็กผู้หญิงและสตรีในทุกที่”

ท่านทูตฌัก ลาปูฌ เล่าว่า

“ในบรรดาโครงการความริเริ่มสำคัญที่ฝรั่งเศสให้การสนับสนุน การประชุม Generation Equality Forum (GEF) จะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ประเทศเม็กซิโก และจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2020 ที่กรุงปารีส”

“โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการประชุมสำคัญครั้งนี้ซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women)”

“ทั้งนี้ สถานทูตฝรั่งเศสและนางแดลฟีน โอ (Mrs. Delphine O) เลขาธิการ GEF ได้ทำงานร่วมกับ UN Women มาโดยตลอด รวมถึงช่วงที่นางแดลฟีนเดินทางเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 เมื่อครั้งที่มีการประชุมปฏิญญาเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรี: การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง +25 (Asia-Pacific Ministerial Conference on the Beijing + 25 Review)”

“สําหรับกิจกรรมการกุศลที่สถานทูตฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี คืองานออกร้านคณะภริยาทูต ประจำประเทศไทย โดยร่วมกับสภากาชาดไทยจัดมหกรรมสินค้านานาชาติเพื่อการกุศล (Diplomatic Red Cross Bazaar) ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 53 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา”

“งานการกุศลประจำปีอีกงานหนึ่งราวเดือนพฤศจิกายน คือ งานออกร้านคณะภริยาทูตประจำประเทศไทย ร่วมกับสมาคมวาย ดับเบิลยู ซี เอ กรุงเทพฯ (Young Women”s Christian Association of Bangkok) จัดงานออกร้านนานาชาติในราคาพิเศษเพื่อมอบเป็นของขวัญในเทศกาลแห่งความสุขปลายปี โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหลังหักค่าใช้จ่าย แบ่งปันน้ำใจสู่เด็กผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส”

ฝรั่งเศสไม่ได้เน้นให้ความสำคัญเฉพาะด้านการค้าและเศรษฐกิจกับไทยและอาเซียนเท่านั้น แต่ยังมีนโยบายเพิ่มการเผยแพร่ภาษาฝรั่งเศสให้เป็นภาษาที่สามของประชาชนมากขึ้น โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ผ่านการดำเนินงานของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Fran?aise Bangkok)

นับเป็นการส่งเสริมให้การดำเนินนโยบายการทูตวัฒนธรรมของรัฐบาลไปสู่ระดับประชาชนได้อย่างแท้จริงอีกทางหนึ่ง