จัตวา กลิ่นสุนทร : เศรษฐกิจบ้านเรา ยุค “โควิด-19” (COVID-19)

ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “เศรษฐกิจ” และเรื่องของไวรัสร้ายจากประเทศจีนที่เรียกว่า “โควิด-19 (COVID -19)”

แต่สามารถสัมผัสรับรู้ได้ในชีวิตประจำวันว่า ทุกวันนี้ผู้คนทำมาหากินกันยากลำบากขนาดไหน

ซึ่งแปลก คนใหญ่คนโตที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับสวนควันปืนว่ายังไปได้ดี

เพิ่งจะมายอมรับเมื่อเร็วๆ นี้เองว่า เศรษฐกิจประเทศจากการบริหารงานจาก “คณะรัฐบาล” ของท่านสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง

หลังจากอ้อมแอ้มยอมรับ แต่ได้โยนไปยังเศรษฐกิจโลกเรื่องสงครามการค้าเป็นต้นเหตุ ส่งผลไปทั่วทั้งโลก ประเทศใหญ่โตอัดกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศเล็กๆ เศรษฐกิจไม่แข็งแรงจึงต้องรับเคราะห์

ไม่มีใครยอมรับว่าเพราะฝีไม้ลายมือ ระบบการคิด วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ การทำงานเชิงรุกมองไกลๆ สู่ยังอนาคตเพื่อรีบหาทางดำเนินการก่อนเกิดวิกฤตการณ์

 

ปัญหา “การเมือง” ในบ้านกำลังเกิด “แฟลชม็อบ” ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศออกมาถามหาความยุติธรรม ต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา หรือลาออก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่เกิดเป็นประจำทุกปี แต่รัฐบาลแทบไม่มีนโยบายอะไรชัดเจนในการแก้วิกฤต

พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเริ่มส่งสัญญาณถึงผู้นำพรรคให้ถอนตัวออกมาเพราะการปรับ “คณะรัฐมนตรี” (ซึ่งทรัพยากรบุคคลเท่าที่เห็น) คงไม่สามารถแก้ปัญหาการบริหารประเทศได้

เมื่อเกิดโรคระบาดไวรัส “โควิด-19” แพร่กระจายไปทั่วโลกทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างชะงักงันแบบฉับพลัน การเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนหดหายไปจนเกือบหมดร้อยทั้งร้อย บ้านเราซึ่งอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญจึงหนักหนาสาหัสอย่างมาก คิดเป็นเม็ดเงินนับแสนล้านบาท

ไม่นับสงครามราคา “น้ำมัน” ที่สอดแทรกเข้ามาช่วยกันฉุดการลงทุนจนทรุดต่ำเตี้ย

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่อสัญกรรม) อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 16) – (2523-2531) เป็นรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีตมามากมาย เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ น่ารับฟังคนหนึ่ง

ท่านเรียกปัญหาเศรษฐกิจทุกวันนี้ว่า “มหาวิกฤตการณ์” ซึ่งคาดว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะกลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน

 

เมื่อปี พ.ศ.2536-2538 ผมตกลงรับทำหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ซึ่ง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (บิ๊กหมง) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้เน้นสั่งนักหนาว่าอย่าลืมไปสัมภาษณ์ ดร. (โกร่ง) วีรพงษ์ รามางกูร เรื่องเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเรื่องเบื้องหลังการลดค่าเงินบาท ในสมัยรัฐบาล (ป๋า) เปรม

รัฐบาล (ป๋า) เปรมผ่านเลยไปแล้วเป็นเวลา 40 ปีเต็ม แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนั้นรวมถึงการตัดสินใจ “ลดค่าเงินบาท” กระทั่งเศรษฐกิจประเทศไทยโงหัวขึ้นมาได้ ดูเหมือนจะเป็นแบบอย่างกับรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทั้งท่าเรือแหลฉบัง จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

รัฐบาลปัจจุบันดำเนินโครงการ “อีอีซี” มีการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เรียกว่าพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเพื่อดึงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่จะประสบผลสำเร็จดังเมื่อหลายทศวรรษหรือไม่? ยังสงสัย ต้องติดตาม

หยิบยกแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในรัฐบาลเมื่อ 40 ปีที่ผ่านจากหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” มาให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลปัจจุบันนี้อ่านกันเพลินๆ อาจเป็นแนวทางให้นำไปแก้ปัญหาได้บ้าง

 

“คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ”

รัฐบาล (ป๋า) เปรม แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาสารพัด ทั้งด้านการเมืองและการ “ปฏิวัติ” อย่างหนักหน่วง แต่นายกรัฐมนตรีเลือดทหาร ซึ่งเกิดและเติบโตจากชนบทของภาคใต้ ได้พบได้เห็นความลำบากยากแค้นของประชาชนในชนบทมาตั้งแต่เล็ก จึงเป็นห่วงเป็นใยผู้คนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ระหว่างรับราชการทหารก็รับผิดชอบในการพัฒนาชนบทมาอย่างต่อเนื่อง ต้องคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ได้สัมผัสและรับรู้ปัญหาของประชาชนมิได้ขาดหาย

เมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งสามารถผลักดันการแก้ปัญหาของประชาชนในชนบทได้ ท่านจึงไม่เคยละเลย

พล.อ.เปรมไม่เคยที่จะลืมปัญหาของประชาชนในชนบท เช่นเดียวกันกับปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่ทรุดหนักอย่างต่อเนื่องมาหลายรัฐบาลแล้ว เมื่อแก้ปัญหาทางด้านการเมืองให้คลี่คลายลงได้ในระดับหนึ่งแล้วท่านก็หันกลับมาเร่งแก้ปัญหาปากท้องและปัญหาชนบททันทีด้วยการผลักดันการทำงานประสานกันระหว่างข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

คณะรัฐมนตรีทั้งหลายก็ถูกกระตุ้นให้ออกไปสำรวจศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในต่างจังหวัดและชนบทห่างไกลทุกภาค

ที่ปรึกษารัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจบางคนวิตกในสภาพความยากจนของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งต่างจากประชาชนในกรุงเทพฯ ราวฟ้ากับดิน

การผลักดันให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวจากนักวิชาการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จึงมีน้ำหนักมากขึ้น เดือนตุลาคม 2524 นั้นเองที่นายกรัฐมนตรีได้เปิดประชุมวิชาการเรื่อง ความเหมาะสมของฝั่งทะเลด้านตะวันออกเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลัก และท่าเรือน้ำลึกเพื่อพัฒนาประเทศและดึงก๊าซขึ้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ อีกทั้งเป็นจุดกำเนิดอุตสาหกรรมอื่นอีกหลายประเภท

นั่นคือจุดเริ่มต้น “แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก” และมีการกำหนดเขตอุตสาหกรรมหลักอยู่ที่หนองแฟบ มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสัตหีบ สำหรับบริการสินค้าออกเป็นหลัก และสามารถบริการสินค้าทั่วไปในระยะแรก ส่วนท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือสำหรับบริการสินค้าทั่วไปให้สอดคล้องกับการพัฒนาท่าเรือสัตหีบ

การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวนี้มีสำนักงาน “คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เป็นแกนกลางในการประสานงานโครงการลงทุนพัฒนา และดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาวางแผนต่อไป

 

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษาคนสำคัญด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสภาพฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินที่ทรุดโทรมของประเทศช่วงนั้นว่า “อัตราเงินเฟ้อในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมากมาย เมื่อราคาน้ำมันและดอกเบี้ยสูงขึ้น ถ้ามองด้านรายจ่ายทางด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ก็แปลว่ารายจ่ายเกี่ยวกับการนำเข้าพลังงานก็ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด–”

ดร.วีรพงษ์เล่าย้อนอดีตว่า การที่จะต้องปรับปรุงฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ (ป๋า) เปรมจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวเลขาธิการ “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ตามที่คุณบุญชู โรจนเสถียร (ถึงแก่กรรม) ผลักดัน อันนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และกำเนิด “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นความคิดของคุณบุญชู โรจนเสถียรด้วยเช่นกัน ซึ่งต่อมาเป็นองค์กรสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจ โดย (ป๋า) เปรมเป็นประธาน และให้เลขาฯ สภาพัฒน์เป็นเลขานุการ

มีการรีวิวภาพทาง Macro ในปี พ.ศ.2524 ก็เห็นได้ว่าภาพทางด้าน Macro นี้มีฐานะค่อนข้างเป็นอันตราย

ขณะนั้นทุก 3 เดือน ฝ่ายสภาพัฒน์จะทำภาพเศรษฐกิจเพื่อรายงาน “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” และเสนอเรื่องที่จะแก้ไขตลอดเวลา

การแก้ไขนั้นมีการใช้มาตรการต่างๆ มากทีเดียว มาตรการแรกคือ จะต้องผลักดัน “การส่งออก” เป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้คนไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไรนะ ที่จริงแล้วมีความสำคัญไม่แพ้การลดค่าเงินบาท

การเปลี่ยนตัวคนรับผิดชอบงาน “เศรษฐกิจ” การปรับ “คณะรัฐมนตรี” ทุกรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ