“โปเกมอน โก” ฟีเวอร์ ฮิตทั่วไทย-ทั่วโลก ธุรกิจแห่เกาะกระแส

AFP PHOTO / JIM WATSON

แรงฉุดไม่อยู่ สำหรับเกมบนมือถือ “โปเกมอน โก” ที่ทำลายทุกสถิติทั่วโลก ตั้งแต่เปิดตัวไม่กี่วัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่จำนวนผู้ดาวน์โหลด ระยะเวลาที่คนเล่นเกมนี้ต่อวัน แซงหน้ากระทั่งโซเชียลมีเดียดังๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม หรือวอทแอป

เช่นกันกับรายได้เฉลี่ยต่อวัน จากการขายไอเท็มในเกมที่แซงหน้า “แคนดี้ครัช” เกมเรียงลูกอมที่เคยฮ็อตฮิตถล่มทลายไปก่อนหน้านี้

หลังเปิดได้แค่เดือนเดียวทำรายได้ทั่วโลกทะลุ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่นับกระแสตื่นตัวที่ลามไปทั่วโลก รวมถึงบ้านเรา ที่ “โปเกมอน โก” เพิ่งเปิดให้เล่นเมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา และฮ็อตฮิตเพียงชั่วข้ามคืน

โซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลายต่างพูดถึง ตั้งแต่การแชร์ภาพการไล่ล่าตามจับ “โปเกมอน” ตามสถานที่ต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการสอนกลเม็ดเคล็ดลับในการเล่น แม้แต่วินมอเตอร์ไซค์บางแห่งติดป้ายรับจ้างตามล่าหาโปเกมอนให้ก็มี

ด้วยว่า “โปเกมอน โก” เป็นเกมที่ออกแบบให้ผู้เล่นต้องเดินตามเก็บไข่โปเกมอนตามที่ต่างๆ (จะวิ่งหรือนั่งรถตามหาก็ได้) สร้างความสนุกด้วยการเคลื่อนไหว เช่น ถ้าเดินครบ 5 กิโลเมตร ไข่จะฟักเป็นตัว ฯลฯ

ชั่วโมงนี้หากมีโอกาสไปตามสถานที่ศูนย์รวมผู้คนต่างๆ อาทิ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เมเจอร์รัชโยธิน จะเห็นคนก้มหน้าก้มตาเล่นเกมนี้บนมือถือเป็นร้อยๆ คนทีเดียว

ในความเป็นจริง “โปเกมอน โก” อาจเป็นเกมบนมือถือที่เพิ่งเปิดตัวออกมาได้ไม่นาน แต่คนทั่วโลกรวมถึงบ้านเราต่างรู้จักและคุ้นเคยกับ “โปเกมอน” มานานมากแล้ว โดยเฉพาะเจ้าหนูสีเหลือง “พิคาชู” โดยปีนี้ “โปเกมอน” จะอายุครบ 20 ปีพอดิบพอดี

และนั่นทำให้กลุ่มทรูติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์แคแร็กเตอร์การ์ตูนโปเกมอนจาก “เดอะ โปเกมอน คัมปะนี” และเป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

“มาซามิ ทานากะ” ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กร บริษัท เดอะ โปเกมอน คัมปะนี จำกัด เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อปีที่แล้วว่า “โปเกมอน” ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในรูปแบบของวิดีโอเกม ภายใต้ชื่อ “Pokemon Red and Green” และเมื่อวางจำหน่าย เกมนี้ก็เป็นที่คลั่งไคล้ไปทั่วญี่ปุ่น และทั่วโลก มียอดขายการ์ดเกมสูงถึง 13,000 ล้านแผ่น ส่วนการ์ตูนแอนิเมชั่นได้ฉายใน 68 ประเทศทั่วโลก

เฉพาะในปี 2013 แบรนด์โปเกมอนมีมูลค่าตลาดในประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ 1.9 ล้านล้านเยน และมีมูลค่าตลาดรวมทั่วโลกประมาณ 4.2 ล้านล้านเยน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมที่มีมาอย่างยาวนาน มีส่วนอย่างยิ่งทำให้ “โปเกมอน โก” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

และเมื่อ “โปเกมอน โก” เปิดให้ดาวน์โหลดได้ในประเทศไทย “กลุ่มทรู” ซึ่งเป็นรายเดียวที่ได้ลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ไม่รอช้าจัดกิจกรรมเกาะกระแสในทันที รวมถึงเปิดแพ็กเกจดาต้าพิเศษเพิ่มเติมให้ลูกค้าที่ใช้มือถือทรูมูฟเอช เพราะรู้ดีว่าถ้าลูกค้าโหลดเกมมาเล่นเมื่อไรจะต้องใช้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นมากอย่างแน่นอน

ทรูระบุว่า กระแสความแรงของการเล่นเกม “โปเกมอน โก” ทำให้บริษัทห้างร้าน และเจ้าของสินค้าต่างๆ ติดต่อมายังบริษัทเป็นจำนวนมาก เพื่อขอสิทธิในการนำแคแร็กเตอร์การ์ตูนโปเกมอนไปใช้ทั้งจัดกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่างๆ แทบจะทุกกลุ่มสินค้า ตั้งแต่สายการบิน เครื่องกีฬา ชุดนอน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

เชื่อกันด้วยว่าความร้อนแรงของ “โปเกมอน โก” จะเป็นกระแสไปอีกพักใหญ่

กระนั้นก็ตาม กระแสฮ็อตฮิตที่เกิดขึ้นกับ “โปเกมอน โก” ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายใดๆ แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว เรื่องทำนองนี้ต้องมีอะไรที่พิเศษๆ จนนึกไม่ถึงเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมาย

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามของผู้สื่อข่าวต่อรัฐมนตรีด้านความมั่นคง รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี สารพัดหน่วยงานต้องขึ้นป้าย “เขตห้ามเล่น” โปเกมอน

ด้วยความที่การเล่นเกมต้องไปตามล่าหาโปเกมอนในที่ต่างๆ ทำให้ภาครัฐมีความเป็นห่วงว่าอาจเกิดอันตรายกับเด็กและเยาวชน หากต้องไปจับในสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย รวมถึงอาจเกิดปัญหาบิลช็อกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับเกมอื่นๆ

แต่คงไม่มีอะไรที่เรียกรอยยิ้มมุมปากเท่ากับการที่สำนักงาน “กสทช.” ที่เร่งรีบนัดหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่ายมือถือทั้งหลายมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทันที

และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กสทช. จะแจ้งไปยัง Niantic, Inc ผู้พัฒนาเกม ให้จำกัดพื้นที่ในการเล่นเกมในเบื้องต้น 4 แห่ง ได้แก่ 1.สถานที่ราชการ 2.ศาสนสถาน และโบรารณสถาน 3.สถานที่อันตราย เช่น ริมทางรถไฟ, ริมน้ำ และ 4.พื้นที่ส่วนบุคคล

รวมถึงให้ค่ายมือถือจัดทำคู่มือแนะนำการเล่นเกม รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังเล่นเกม หากมีการซื้อไอเท็มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเรียกเก็บค่าบริการมากกว่าปกติ หรือบิลช็อก

โดยที่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. แถลงภายหลังการประชุมว่า จะสอบถามไปยังบริษัทด้วยว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะให้จำกัดเวลาการเล่น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ที่สุดแล้ว กสทช. มิได้มีอำนาจจะไปบังคับ “โปเกมอน โก” เพราะการเล่นเกมหรือใช้แอพพลิเคชั่นของผู้บริโภค ไม่ผิดกฎหมาย กสทช. จึงไม่สามารถเข้าไปห้าม หรือสั่งบล็อกได้

ที่แน่ๆ คือกระแสฟีเวอร์ของโปเกมอน โก กำลังถูกนำไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจ ใช้เป็นเครื่องมือการตลาดและส่งเสริมการขายที่ยังจะมีมิติที่น่าสนใจเกิดขึ้นตามมาอีกแน่นอน