มุกดา สุวรรณชาติ : ดูดัชนีตลาดหุ้น ลุ้น…อนาคตรัฐบาล

มุกดา สุวรรณชาติ

ไปดูความทุกข์ของคนชั้นกลางกันบ้าง

คนเหล่านี้พอมีเงิน มีอาชีพ บางคนก็สูงอายุแล้วอาจจะไม่ได้ทำงานหลัก แต่มีงานเสริมเล็กน้อย

เมื่อดูบัญชีเงินฝากจากงานวิจัยบอกว่า ผู้ที่มีเงินฝากอยู่ระหว่าง 5 แสนถึง 1 ล้านมีประมาณ 970,000 บัญชี และ 1 ล้านถึง 10 ล้านมีประมาณ 900,000 บัญชี คนกลุ่มนี้มีบัญชีเงินฝากคนละ 2-4 บัญชี ดังนั้น น่าจะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 5-600,000 คน

บัญชีส่วนใหญ่น่าจะเป็นบัญชีที่หมุนเงินในทางธุรกิจ แต่บางส่วนก็ไม่ได้ทำอะไร เป็นเงินเก็บที่เดิมหวังดอกเบี้ย

แต่ในยุคนี้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำมาก ดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 20 สตางค์ต่อปี (อาจจะลดลงอีก) หมายความว่าคุณมีเงินฝาก 1 ล้านจะได้ดอกเบี้ยแค่ 2,000 บาท

แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ยฝากแบบพิเศษหรือฝากประจำจะได้ประมาณ 1.2% ต่อปี เงินฝาก 1 ล้านจะได้ 12,000 บาท คิดเป็นเดือนก็จะได้เดือนละ 1,000 บาทไม่พอยังชีพ

คนที่เคยมีเงิน 5 ล้านแล้วบอกว่าฝากธนาคารไว้กินดอก สมัยก่อนโน้นเคยได้ 200,000 บาทต่อปีก็พออยู่ได้ เดี๋ยวนี้เหลือ 60,000 ต่อปี หักภาษีแล้ว คิดเป็นเดือนเหลือไม่ถึง 5,000 บาท

ยังน้อยกว่าลูกจ้างรายวัน เสมียนพนักงาน คนที่เคยอยู่สบายอยู่ไม่รอด พวกที่เกษียณรับบำนาญ รับบำเหน็จแล้วนำมาฝากกินดอกก็ไปไม่รอด

ที่เขาบอกว่าคนคนจนจะมีมากขึ้นก็เพราะแบบนี้ คนซึ่งเคยพอมีกินก็ต้องควักเงินเก็บมาใช้เรื่อยๆ ไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นคนจน

ดังนั้น หลายคนจึงดิ้นรนไปลงทุนทำโน่นทำนี่

แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้บางคนกลับขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก ที่เคยมีก็หมดไป หลายคนมีความเชื่อมั่นในตนเองไปลงทุนในตลาดหุ้น ตอนนี้มีนับแสนคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่หุ้นตกหนัก ส่งผลกระทบต่อทั้งแมลงเม่าและขาใหญ่

คนเป็นจำนวนมากกังวลว่าจะเป็นอย่างนี้นานแค่ไหน เมื่อไรเศรษฐกิจจะดีขึ้น

พวกเขาจะถูกโค(ข)วิด-19 ตายหรือไม่

ทีมวิเคราะห์คาดการณ์ไม่ได้ แต่มีคนที่อยู่ในวงการเมือง และมีประสบการณ์ซื้อกองทุนระยะยาว เขาถือหุ้นยาวเป็น 10 ปี ศึกษาตลาดโดยรวมบอกว่า เรากำหนดการขึ้น-ลงของตลาดไม่ได้ แต่ถ้าคิดเฉพาะหุ้นบางตัว อาจเกิดจากการบริหารของบริษัท หรือการปั่นหุ้นได้

แต่ถ้าดูภาวะโดยรวมของตลาดมักจะเกิดจากสถานการณ์โลก หรือรัฐบาล หรือทั้งสองอย่าง

งานนี้ยาวแน่…และจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

การขึ้น-ลงแรงๆ ของตลาดหุ้นแต่ละครั้งมีที่มา และมักเกี่ยวพันกับรัฐบาล ดัชนีหุ้น กับรัฐบาลจึงมีความสัมพันธ์กันเสมอ

 

ดัชนีหุ้นกับดัชนีรัฐบาลมีสัมพันธ์กันโดยตรง

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ Set index อยู่ที่ 1,740 จุด ก่อนวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ซึ่งรัฐบาล คสช.แปลงกายเป็นรัฐบาล ที่มาจาก ส.ว. + ส.ส. เป็นคนเลือก แต่เป็นรัฐบาลที่ตั้งช้าเป็นประวัติการณ์ แล้วก็มีเสียงปริ่มน้ำอย่างน่าหวาดเสียว ต้องใช้กรรมการช่วยคิดคะแนนพิเศษจึงตั้งรัฐบาลได้

การถวายสัตย์และแถลงนโยบายก็มีปัญหาตลอด พอถึงปีใหม่ 2563 ตลาดหุ้นมีโอกาสได้เห็นตัวเลข 1,600 อยู่แวบหนึ่ง (แสดงว่าตกลงมา 140 จุดแล้ว) และเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2563 ก็ได้เห็นดัชนี 1,000 จุด ถือเป็นการตกที่วัดโดย Set index ที่รุนแรงมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดทุน

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้สถานะของรัฐบาล เพราะสะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจปัจจุบัน และยังสามารถทำนายอนาคตได้ ก็เพราะตัวเลขที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากการเสี่ยงโชค หรือเซียมซีหรือผูกดวง

แต่ตัวเลขเหล่านั้นมีผลจากความสามารถการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สถานการณ์ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ การค้าขายและการต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ในอดีตก็มีเหตุการณ์แบบนี้ เช่น ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ Set index ไต่ขึ้นจากระดับ 300 จุด ใช้เวลา 2 ปีครึ่งไปได้ถึง 1,100 กว่าจุด ก็เกิดสถานการณ์สงครามกรณีอิรักบุกคูเวต หุ้นตกลงมาเหลือ 500 กว่าจุด และก็ค่อยๆ ไต่กลับขึ้นไปใหม่

แต่ พล.อ.ชาติชายไม่ได้แสดงฝีมือต่อ เพราะถูก พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ รัฐประหารปี 2534

จากนั้นก็เป็นรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และต่อด้วยนายชวน หลีกภัย ใช้เวลารวม 2 ปี 6 เดือนก็ยังไปได้ไม่ถึง 1,000 จุด

จนกระทั่งปี 2536 นายกฯ ชวน หลีกภัย ได้ใช้นโยบาย BIBF โดยเซ็นอนุมัติให้ 47 สถาบันการเงินสามารถนำเงินต่างประเทศเข้ามาให้ลูกค้ากู้ได้โดยตรงเพื่อใช้ในการลงทุน ดอกเบี้ยถูกกว่าแบงก์ไทย ขณะนั้นไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนก็คงที่ 25 บาทต่อ 1 USD มีบ้างที่เอาไปลงทุนจริงในทางอุตสาหกรรมและการผลิตอื่นๆ แต่ก็มีที่เอาไปเก็งกำไรซื้อที่ดิน เอาไปซื้อหุ้น เอาไปปั่นหุ้น ทั้งหุ้นและที่ดินก็ราคาพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

สถาบันการเงินทั้งหลายได้รับอนุมัติให้นำเงินนอกเข้ามาลงทุนได้เดือนมีนาคม 2536 ช่วงนั้นดัชนีหุ้นอยู่ที่ประมาณ 800 กว่า เดือนพฤษภาคมหุ้นก็ขยับขึ้นและก็ขึ้นต่อเนื่องทุกเดือนโดยเฉพาะเดือนกันยายนขึ้นถึง 200 กว่าจุด พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2536 ก็แตะ 1,700 จุด

ภายใน 7 เดือน Set index ขึ้นไปสูงเกิน 100% อันนี้เรียกว่าเป็นผลจากนโยบายการเงิน เชื่อหรือยังว่าผู้นำรัฐบาลสามารถพาเราขึ้นทางด่วน หรือลงเหวก็ได้

 

ถ้าสาเหตุหุ้นตก
เป็นเพราะปัญหาภายในประเทศ
รัฐบาลก็ตกตามหุ้น

4มกราคมปี 2537 Set index พุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 1,789 จุด ฟองสบู่เริ่มแตก ณ ที่จุดนี้

หุ้นตกโดยทั่วหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไหลลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,200 จุด ตกลงมาประมาณ 500 กว่าจุดในเวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นก็ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่ประมาณ 1,200 ถึง 1,400 จุด รัฐบาลชวน หลีกภัย ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. จนต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ปี 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ ได้แค่ปีกว่าๆ ก็ต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ได้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในปลายปี 2539 ตอนนั้นปัญหาเศรษฐกิจก็หนักแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ไหลลงตลอดทั้งปีจนต่ำกว่า 1,000 จุด

ถึงปี 2540 Set index อยู่ที่ 800 จุด ประเทศไทยมีแต่ข่าวร้าย รัฐบาลสั่งให้สถาบันการเงิน 20 กว่าแห่งเพิ่มทุน และในที่สุดก็สั่งปิดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 16 แห่ง

ถึงเดือนกรกฎาคม ก็สู้เรื่องค่าเงินบาทไม่ไหว เพราะใช้อัตราคงที่ 25 บาทมาตลอด ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในช่วงข้ามคืนค่าเงินบาทกลายเป็น 50 กว่าบาทต่อ USD ช็อกกันไปทั้งประเทศ คนที่ยืมเงินมา 1 ล้าน USD เดิมเป็นหนี้ 25 ล้านบาท ตอนนี้แบงก์มาทวงคืนกลายเป็น 50 ล้าน เจ๊งไปตามๆ กัน

เดือนสิงหาคม 2540 ต้องปิดสถาบันการเงินอีก 42 แห่ง จนถึงปลายปีที่ พล.อ.ชวลิตยอมลาออก Set index ก็ตกไปที่ 400 จุด ค่าเงินบาทเริ่มนิ่ง มาอยู่ที่ประมาณ 43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แต่การอุ้มและจัดการแก้ไขสถาบันการเงินต่างๆ ในเรื่องหนี้สิน ปรากฏว่ารัฐบาลชวน หลีกภัย ที่เข้ามารับไม้ต่อได้ให้ ปรส. ประมูลขายทรัพย์สินของสถาบันการเงิน มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปในราคาเพียง 190,000 ล้านบาท

ซึ่งทำให้ขาดทุนไปประมาณ 660,000 ล้าน เป็นคดีฟ้องร้องกันยาวนาน สุดท้ายไม่มีใครในรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

มีคนที่รับผิดชอบ คือประธาน และเลขาฯ ปรส. ถูกปรับแค่ 20,000 บาท (สองหมื่นบาท ไม่ใช่สองหมื่นล้าน)

หนี้สินส่วนที่เกินมาและดอกเบี้ย รัฐบาลต่อๆ มาต้องเอาเงินภาษีมาชดใช้

เมื่อนายกฯ ชวนกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งปี 2541 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ดีขึ้น ยังวิ่งลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 200 จุด และก็ขึ้น-ลงประมาณ 300-500 จุด แต่ส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 400 จุด ตอนนั้นคนไทยรู้จัก IMF ว่าเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเรา

จากจุดสูงสุดของ Set index 1,789 จุดในยุคชวน 1 จนตกต่ำมาถึงต่ำสุด 204 จุดในยุคชวน 2 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี 9 เดือน ผ่าน 4 รัฐบาล บาดเจ็บกันทั่วหน้าทั้งคนเล่นหุ้น และคนค้าขาย

 

ยุคทักษิณ รดน้ำที่ราก
ปลุกพลังการผลิตจริง หุ้นขึ้นมาเอง แต่ไม่มาก

ปี2544 มีการเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มาบริหารประเทศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังวิ่งอยู่ที่ประมาณ 300 จุด เป็นอย่างนั้นเกือบ 2 ปี จนกระทั่งปี 2546 จึงได้วิ่งขึ้นทะลุ 600 จุด นายกฯ ทักษิณประกาศจะใช้หนี้ IMF ให้หมด

ข้อดีของช่วงเวลานั้นคือค่าเงินที่อ่อนลงกับทำให้ผู้ที่ทำธุรกิจเพื่อส่งสินค้าออกกับทำเงินได้ดีมาก มีหลายบริษัทที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และการท่องเที่ยวก็ไปได้ดีมาก นโยบายรดน้ำไปที่รากก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน กลุ่ม SME ก็ค่อยๆ ฟื้นตัว ถ้าดู Set index ยุคทักษิณ จะไม่หวือหวา ความเติบโตอยู่ที่ภาคการผลิต และบริการจริงๆ ไม่ใช่ในตลาดหุ้น

จะเห็นว่าเมื่อฟองสบู่เริ่มแตกในปี 2537 ตามด้วยวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2540 ผลกระทบทางการเงิน ทำให้ตลาดหุ้นซบเซา เพราะต่างชาติก็ไม่นิยมมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนไทยก็บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จากปี 2541-2545 ดัชนีจึงวิ่งอยู่ที่ 300-400 จุด นานถึง 5 ปี

ตลอดสมัยที่นายกฯ ทักษิณมาบริหารประเทศ Set index ขึ้นไปอยู่ที่ 600 จุดในปี 2546 และไปต่อได้แค่ประมาณ 700 จุดเท่านั้น แต่ในภาคการผลิตจริง ผู้คนคึกคักกันมาก เงินสะพัด ตั้งแต่เมืองถึงชนบทชั้นรากหญ้า ตอนนั้นประเทศหลุดพ้นจากสภาพลูกหนี้ผอมโซแล้ว กลายเป็นคนแข็งแรงที่ทำงานได้อย่างเต็มที่

แต่ดัชนีไม่ทันได้ไปต่อ รัฐบาลทักษิณก็ถูกรัฐประหาร กันยายน 2549

ปี 2549 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วิ่งอยู่แถว 800 แต่เมื่อมีม็อบพันธมิตรเสื้อเหลือง Set index ก็เริ่มตกลงและตกลงไปอีกเมื่อมีการยึดทำเนียบรัฐบาล จนถึงยึดสนามบิน ดัชนีเหลือ 400 จุด มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลโดยการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เปลี่ยนขั้วรัฐบาลเป็นนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปีใหม่ 2552

ช่วงนั้นดัชนีค่อยๆ ไต่ขึ้นไปอีกครั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปสู่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร Set index ขึ้นต่อเนื่องรวดเดียว 5 ปี มีเพียงช่วงน้ำท่วม 2 เดือนเท่านั้นที่ตกลงมา และก็ไต่ขึ้นไปใหม่จนถึงปลายยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ได้เห็น 1,600 จุดช่วงต้นปี 2556 จากนั้นก็มีม็อบ กปปส. และรัฐบาลก็ถูกรัฐประหาร 2557

 

2558-2563 เกือบทุกธุรกิจทรุด ฟุบ
คนจนลงทุกวงการ แต่ราคาหุ้นยังไม่ตก

หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วิ่งอยู่ที่ประมาณ 1,300-1,600 จุด เงินต่างประเทศไหลเข้ามากินดอกเบี้ยและพักรอเล่นหุ้น ค่าเงินบาทแข็งขึ้น การส่งออกมีปัญหา แต่หุ้นยังไม่ตก มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีสัญญาว่าจะเลือกตั้ง Set index ไต่ขึ้นไปถึง 1,833 จุด ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ท่ามกลางความหวังว่าจะมีเลือกตั้ง แต่เมื่อไม่มี ตลาดหุ้นก็ลงมา จนเห็นดัชนี 1,600

แต่ คสช.ลากการเลือกตั้งไปถึงเดือนมีนาคม 2562

หลังเลือกตั้ง Set index วิ่งขึ้นไปตอนตั้ง ครม.ถึง 1,740 จุด ซึ่งถือเป็นดัชนีสูงสุดของรัฐบาลผสมประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนกรกฎาคม 2562 เพราะนับแต่วันนั้นก็เริ่มตกลงมาประมาณ 100 จุด ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะไหลลงตลอด ก่อนวันตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ Set index อยู่ที่ประมาณ 1,500 จุด

ในช่วงที่นักเรียน นักศึกษาชุมนุมขับไล่ในสถาบันต่างๆ ดัชนีเหลือประมาณ 1,300 กว่า

ที่จริงถ้าดูปัจจัยเฉพาะการไร้ความสามารถและพฤติกรรมของรัฐบาล แม้โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ และขับไล่ ดัชนีควรจะค่อยๆ ตกลง และต้องใช้เวลาหลายเดือน

แต่ว่าเงินระยะสั้นที่มาจากเมืองนอก โดนกระแส COVID-19 ที่ทำให้ป่วนทั้งโลก เจ้าของเงินก็รีบถอนออกจากไทยอย่างเร็ว เพื่อเอาไปตั้งรับในตลาดที่ใหญ่กว่าไทย การเทขายชนิดที่ตลาดต้องติดเบรกจึงเกิดขึ้นหลายครั้ง ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาต่างชาติขายไปถึง 40,000 ล้าน และก่อนหน้านั้นก็ขายออกเป็น 3 แสนล้านแล้ว

ตอนนี้เขาลุ้นกันว่าจะหลุดจาก 1,000 จุดหรือไม่ และจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน

รัฐบาลกับ COVID-19 ใครจะหายไปก่อน

 

คําเตือนของผู้มีประสบการณ์คือ

1. ธรรมชาติของราคาหุ้น ถ้ามองภาพรวมทั้งตลาดจะพบว่า กว่าหุ้นจะขึ้นได้ต้องใช้เวลาหลายปีเหมือนเราไต่ภูเขา แต่เวลาตกเหมือนตกเหว กว่าจะไต่ขึ้นไป 500 จุดใช้เวลาหลายปี แต่ขาลงอาจจะใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ และแบบที่เกิดเร็วๆ นี้เรียกว่าหุ้นตก ไม่ใช่หุ้นลง

2. หลายคนอาจจะคิดว่าราคาหุ้นขณะนี้ต่ำแล้วควรเข้าไปซื้อ อยากให้ไปดูกราฟย้อนหลัง เวลาหุ้นตก กินเวลานานพอควร เป็นแรมปี และกว่าราคาจะกลับขึ้นไปต้องใช้เวลาหลายปีเช่นกัน

คำถามคือ… ขณะนี้เรามีด้านใดที่เหลือเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับหลังปี 2540 เรามีใครที่มีความสามารถพอจะนำฝ่าวิกฤต? ถ้าไม่มี ดัชนีรัฐบาล จากนี้ ก็วัดได้โดย Set index