เตาะแตะ-ฝุ่นตลบ “ทีวีดิจิตอล” 3 ขวบ ปรับผัง-เปลี่ยนทีม-ดึงเรตติ้ง

ยังคงชิงไหวชิงพริบกันอย่างดุเดือดเข้มข้น สำหรับทีวีดิจิตอล ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 3 ของการออกอากาศ ด้วยจำนวนช่องที่มี 22 ช่อง จากผู้ประกอบการ 16 ราย จากเดิมในช่วงปีแรกที่มี 24 ช่อง ของผู้ประกอบการ 17 ราย

หากย้อนไปจะพบว่า การแข่งขันของทีวีดิจิตอล มีความเข้มข้นตั้งแต่วันแรกที่เปิดศักราชใหม่ ทุกค่ายต่างงัดเอาสารพัดกลยุทธ์ออกมาใช้ ชนิดไม่มีใครยอมใคร ภาพการปรับผังรายการ การเติมเต็มรายการแม่เหล็กใหม่ การหั่นราคาโฆษณาอย่างหนักหน่วง การซื้อตัวบุคลากรและทีมงานด้วยเงินก้อนโต ฯลฯ ล้วนเป็นภาพที่คุ้นชิน ทั้งนี้ เพื่อสร้างชื่อปั้นช่องให้ติดตลาดให้เร็วที่สุด

เพราะนี่คือตัวแปรสำคัญในการดึงคนดูและสร้างเรตติ้งให้ช่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การช่วงชิงงบฯ โฆษณาที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท มาให้ได้มากที่สุด

และนับจากวันนั้น 2 ปีผ่านไป ทุกช่อง ทุกค่าย ยังต้องดิ้นรนและสู้กันต่อไป

ล่าสุด ตัวเลขการวัดความนิยมผู้ชมรายการทีวี หรือเรตติ้ง ของ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า เรตติ้งทีวี 10 อันดับแรกของทีวีดิจิตอล เดือนกรกฎาคม 2559 จากกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ พบว่า ช่อง 7 มีเรตติ้ง 3.278 ช่อง 3 เรตติ้ง 2.138 เวิร์คพอยท์ 1.187, โมโน 29 เรตติ้ง 0.782, ช่องวัน 0.642, ช่อง 8 เรตติ้ง 0.622, ไทยรัฐทีวี 0.368, ช่อง 28 เอสดี 0.353, MCOT 0.266 และ ทรูโฟร์ยู 0.245

ตัวเลขนี้ อาจสะท้อนให้เห็นว่า ช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด 5 อันดับแรกนั้นค่อนข้างมีความแข็งแรง ส่วนอันดับ 6-10 ซึ่งอาจจะสลับสับเปลี่ยนกันบ้างตามความเข้มข้นของคอนเทนต์ และช่องที่มีเรตติ้งต่ำกว่า 10 อันดับแรกจะต้องออกแรงอีกหลายเท่าตัว

วันนี้ ภาพการแข่งขันของสมรภูมิทีวีดิจิตอล กำลังปะทุขึ้นรอบใหม่ โดยเฉพาะช่องที่มีเรตติ้งติด “ท็อป 10” ที่ต่างขยับปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันแบบหมัดแลกหมัด เริ่มเจ้าตลาดฟรีทีวี ช่อง 7 “พลากร สมสุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด กล่าวว่า จากการแข่งขันของทีวีดิจิตอลที่รุนแรงขึ้น บริษัทได้ปรับผังรายการช่วง “นอนไพรม์ไทม์” ให้ความสำคัญกับผู้ชมในทุกช่วงเวลาตลอดวัน ด้วย 10 รายการใหม่ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เช่น สับขาหลอก ศึกร่วมชายคา เป็นต้น

เช่นเดียวกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารทีวี 3 ช่อง ประกาศว่า จะโฟกัสช่อง 28 เอสดี ทุ่มงบฯ ไม่อั้นซื้อลิขสิทธิ์กีฬาทั้งไทยและต่างประเทศ มาออกอากาศ ส่วนช่อง 33 เอชดี ช่วงครึ่งปีหลังนี้จะปล่อยละครฟอร์มใหญ่มาเรียกเรตติ้งตลอด 7 วัน ขณะที่ช่อง 13 แฟมิลี่ จะเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ๆ ต่อเนื่อง

ขณะที่ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิตอลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องปรับผังรายการถี่ขึ้น เฉลี่ยทุกๆ 2 เดือน จากเดิมที่ปรับผัง 3 เดือนครั้ง พร้อมเติมคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มเรตติ้งอยู่เสมอ

ด้านความเคลื่อนไหวของช่อง 8 จากค่ายอาร์เอส ก็ไล่ปรับตั้งแต่ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ เพิ่มซีรี่ส์เกาหลี ละครฟอร์มยักษ์ เพื่อขยายฐานคนเมือง ขณะที่ “พีพีทีวี” ของ “หมอเสริฐ” นายแพทย์ปราเสิรฐ ปราสาททองโอสถ ก็ขนกีฬาดังออกมาล้นจอ

ส่วน “ช่องวัน” ของค่ายบันเทิงยักษ์ “แกรมมี่” หลังจากจับทางถูก ก็ส่งละครสุดแซบลงจอ อย่างล่าสุดกระแสละคร “พิษสวาท” ก็โกยเรตติ้ง เรียกกระแสให้ช่องวันแบบดีวันดีคืน

นอกจากการปรับผังรายการ เพื่อเพิ่มแม็กเน็ตมาดึงเรตติ้งดังกล่าว ทีวีดิจิตอลยังมีการเขย่าและปรับเปลี่ยนบุคลากร-ทีมงานกันอีกรอบ

เริ่มตั้งแต่ช่องวัน หลังจากที่ “นารากร ติยายน” ผู้ปลุกปั้นทีมข่าวของช่องวัน และมีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายงานบริหารงานข่าวและผู้ประกาศข่าว ตัดสินใจโบกมือลา แกรมมี่ก็ได้มืออาชีพ “เดียว วรตั้งตระกูล” เข้ามารับตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็มวันทีวี จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป้าหมายช่องวัน ชัดเจนว่า ต้องการเป็นช่องวาไรตี้บันเทิง โดยจะใช้ละครรสแซบ ภายใต้การบัญชาการรบของ “บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ” มาเป็นตัวชูโรง หลังจากก่อนหน้านี้ที่ “บอย-ถกลเกียรติ” ได้ชิมลางมาระยะหนึ่งและช่วยผลักดันให้เรตติ้งช่องวัน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ของทีวีดิจิตอล จากเดิมที่ไม่ติดท็อป 10

ขณะที่ช่อง 3 ก็ต้องเสียผู้ประกาศข่าวฝีมือดีอย่าง “กรุณา บัวคำศรี” ที่ได้ลาออก และหันไปซบอก “พีพีทีวี เอชดี” พร้อมกับ 2 รายการ ได้แก่ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” และรายการ “Did You Know? คุณรู้หรือไม่”

ตามด้วย “ปานระพี รพิพันธุ์” ผู้ประกาศข่าว ที่เปลี่ยนค่ายมานั่งแท่นผู้ผลิตรายการไอที 24 ชั่วโมง ทางช่อง 9

ขณะที่ช่อง 3 ก็แก้เกมด้วยการดึง “พิภู พุ่มแก้ว” ผู้ประกาศข่าวจากช่องทรูโฟร์ยู ทำหน้าที่ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สําหรับช่องที่มีเรตติ้งต่ำกว่า 10 อันดับแรก ไม่ว่าจะเป็น อมรินทร์ทีวี ที่มีเรตติ้ง 0.245, Now 26 เรตติ้ง 0.181, จีเอ็มเอ็ม 25 เรตติ้ง 0.168, พีพีทีวี 0.150, เนชั่นทีวี 0.130, ช่อง 13 แฟมิลี่ 0.104, นิวส์ ทีวี 0.084, สปริงนิวส์ 0.078, วอยซ์ทีวี 0.053 ทีเอ็นเอ็น 0.047, ไบรท์ทีวี 0.040 และ MCOT แฟมิลี่ 0.024 ขณะนี้แม้ว่าจะยังไม่มีการปรับขยับตัวครั้งใหญ่ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวในการสร้างความแตกต่างด้วยคอนเทนต์และเจาะกลุ่มผู้ชมเฉพาะกลุ่มกันเป็นระยะๆ

พร้อมกันนี้ก็มีความเคลื่อนไหวในการขอให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยและเยียวยา ทั้งในเรื่องของการผ่อนผันการจ่ายค่าใบอนุญาต การขอให้ขยายอายุใบอนุญาตจาก 15 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น

เพราะมีภาระต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว และรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาไม่เป็นไปตามคาดการณ์

มุมมองฝั่ง มีเดีย เอเยนซี่ “อติพล อิทธิวัฒนะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สตาร์คอม มีเดียเวสต์ กรุ๊ป และหัวหน้าฝ่ายมีเดีย ปับลิซีส วัน ประเทศไทย ให้ทัศนะว่า วันนี้ทีวีดิจิตอลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น แม้จะมีช่องจำนวนมาก แต่ทุกช่องก็มีกลุ่มผู้ชมที่ชัดเจน ตอนนี้ฝุ่นเริ่มจาง และเริ่มรู้แล้วว่า แต่ละช่องเป็นอย่างไร ส่วนช่องที่ยังมีเรตติ้งไม่แข็งแรง ก็ต้องเร่งหาแคแร็กเตอร์ หาโปรไฟล์ของช่องเร็วที่สุด ให้คนดูจดจำให้ได้ว่า ถ้าเปิดไปช่องนี้แล้วจะรับชมรายการอะไร

นี่คือ “เกม” ที่ต้องวัดกันยาวๆ และการมีสายป่านยาว เงินทุนหนา อาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่ยังต้องมีอีกหลายส่วนผสมที่ต้องผสานให้ลงตัว ทั้งแผนการตลาด การวางแคแร็กเตอร์ช่องชัดเจน เพื่อสร้างชื่อ สร้างช่องให้ติดหู โดนใจผู้ชมมากที่สุด

หากยังไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในสมรภูมินี้ได้ ท้ายที่สุดอาจจะต้องมีอีกหลายช่องที่อาจจะต้องเดินตามรอย ช่องไทยทีวี และช่องโลก้า ของ “พรรทิภา สกุลชัย” ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็น “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” ที่ใครๆ รู้จัก ที่ยกธงขาวขอยอมแพ้และปล่อยให้จอดำในที่สุด