ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (9)

The interior of the French National Assembly building at the time of the French Revolution. (Photo by Rischgitz/Getty Images)

ในตอนที่แล้ว เราได้บรรยายถึง “รัฐธรรมนูญแบบธรรมเนียมโบราณของกษัตริย์ในสมัยระบอบเก่า” ในส่วนของอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ในการบัญญัติกฎหมายไปแล้ว

ในตอนนี้จะกล่าวถึง “กฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร” (Les lois fondamentaux du royaume) ซึ่งเป็นประเพณีต่างๆ อันเป็นลักษณะสำคัญของ “รัฐธรรมนูญของระบอบกษัตริย์”

ประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่อยู่ในชื่อของกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักรประกอบไปด้วยกฎเกณฑ์ในสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระบบฟิวดัล

ในส่วนของกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ได้แก่ กฎเกณฑ์ว่าด้วยการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นกษัตริย์ หรือ “loi salique”

และกฎเกณฑ์ว่าด้วยทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไม่อาจถูกจำหน่ายจ่ายโอนหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นของบุคคลใดได้ หรือ “inali?nabilit? du domaine de la Couronne”

 

กฎเกณฑ์ว่าด้วยการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ ยืนยันว่าฝรั่งเศสปกครองในระบอบกษัตริย์ซึ่งมี “กษัตริย์” (Roi) เป็นประมุขของรัฐ และตำแหน่งกษัตริย์นี้อาจสืบทอดทางสายโลหิตหรือผสมกับการคัดเลือกในสายโลหิตก็ได้

โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามมิให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งกษัตริย์โดยเด็ดขาด

ในเรื่องของทรัพย์สินนั้น มีการแบ่งแยก “ทรัพย์สินของราชบัลลังก์” (domaine de la Couronne) ออกจาก “ทรัพย์สินของกษัตริย์” (domaine du Roi) โดยทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไม่อาจมีปัจเจกบุคคลใดเป็นเจ้าของได้ ไม่อาจถูกจำหน่ายจ่ายโอนได้

และทรัพย์สินนี้มีไว้เพื่อใช้ในประโยชน์ส่วนรวม ได้แก่ แม่น้ำ พื้นดิน ใต้ดิน ถนน คลอง ป่า อาคารที่ทำการราชการ พระราชวัง เป็นต้น

ในส่วนของทรัพย์สินของกษัตริย์ คือ ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์

การแบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็นสองประเภทนี้เป็นรากฐานของการพัฒนาความคิดเรื่อง “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” (domaine public) และการแบ่งแยก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ในประเทศที่ยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุข

ทั้งกฎเกณฑ์การสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินของราชบัลลังก์นี้ ไม่ถือเป็นรัฐธรรมนูญในความหมายสมัยใหม่ได้เลย เพราะการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์เป็นกฎเกณฑ์ของราชวงศ์ ใช้บังคับกันในวงศ์วานว่านเครือเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปกปักรักษารัฐ

ในขณะที่กฎเกณฑ์เรื่องการละเมิดมิได้ของทรัพย์สินของราชบัลลังก์นั้น หากมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองรัฐ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่ากษัตริย์จะไม่ละเมิดทรัพย์สินของราชบัลลังก์หรือนำเอาทรัพย์สินของราชบัลลังก์มาปะปนกับทรัพย์สินส่วนตน

 

นอกจากกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังมีอีกกฎเกณฑ์หนึ่งซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “กฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร” (Les lois fondamentaux du royaume) นั่นคือ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับระบบฟิวดัล หากกล่าวกันว่าเรื่องการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ก็ดี เรื่องการละเมิดมิได้ของทรัพย์สินของราชบัลลังก์ก็ดี ไม่ถือเป็นการจำกัดอำนาจของกษัตริย์แต่ประการใดแล้ว กรณีของกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระบบฟิวดัล คงเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะอย่างน้อยที่สุด กฎเกณฑ์เรื่องระบบฟิวดัลก็ยังเป็นการจำกัดอำนาจของกษัตริย์อยู่บ้าง

ในระบบกษัตริย์ของฝรั่งเศส ระบบฟิวดัลแสดงออกผ่านสถาบันการเมืองสององค์กร ได้แก่ สภาฐานันดร (Etat g?n?raux) และศาลปาร์เลอมองต์ (Parlement) แม้ในช่วงที่กษัตริย์เรืองอำนาจถึงขีดสุดจนสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ระบบฟิวดัลก็ยังคงตกทอดต่อมา และปรากฏกายให้เห็นผ่านการใช้อำนาจของสององค์กรดังกล่าว

สภาฐานันดร คือ ที่ประชุมสภาของ 3 ฐานันดร อันได้แก่ ฐานันดรพระ (clerg?) ฐานันดรขุนนาง (noblesse) และฐานันดรที่สาม (Tiers Etat) หรือพวกสามัญชน

สภาฐานันดรมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาเรื่องการเพิ่มอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม กษัตริย์มีอำนาจในการเรียกประชุมสภาฐานันดร ซึ่งหากกษัตริย์ไม่เรียกประชุม สภาฐานันดรก็แทบไม่มีบทบาทใดๆ ดังปรากฏให้เห็นจากกษัตริย์ฝรั่งเศสไม่เรียกประชุมสภาฐานันดรมาตั้งแต่ปี 1614 จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ที่พระองค์ทนแรงกดดันไม่ไหวจนต้องเรียกประชุมในปี 1788 และเปิดประชุมในปี 1789

และเป็นกรณีนี้นั่นเองที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกระฎุมพีเปิดฉากการปฏิวัติฝรั่งเศส

 

ในส่วนของศาลปาร์เลอมองต์นั้นกลับมีบทบาท “งัดคาน” กับกษัตริย์มากกว่าสภาฐานันดร ศาลปาร์เลอมองต์มีอำนาจในการตรวจสอบพระบรมราชโองการทั้งปวงของกษัตริย์ เมื่อกษัตริย์มีพระบรมราชโองการใดแล้ว ศาลปาร์เลอมองต์อาจใช้สิทธิคัดค้าน (Droit de remontrance) ด้วยการตรวจสอบว่าพระบรมราชโองการหรือพระบรมราชวินิจฉัยของกษัตริย์มีความสอดคล้องกันกับคำพิพากษาบรรทัดฐาน กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไปหรือไม่

หากศาลปาร์เลอมองต์เห็นว่าพระบรมราชโองการต่างๆ ไม่สอดคล้องแล้ว ศาลปาร์เลอมองต์ก็มีอำนาจไม่ประกาศขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการเหล่านั้น ซึ่งทำให้พระบรมราชโองการไม่มีผลใช้บังคับ

อำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ในกรณีนี้ทำให้ศาลปาร์เลอมองต์สามารถขัดขวางกฎหมายของกษัตริย์ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีผลกระทบหรือทำให้พวกศาลปาร์เลอมองต์เสียประโยชน์ นโยบายของกษัตริย์ที่ต้องการปฏิรูปรัฐให้เป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ สร้างระบบศาลและระบบกฎหมายให้เป็นเอกภาพขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ไม่สามารถทำได้สำเร็จ

เพราะศาลปาร์เลอมองต์จะขัดขวางเสมอ

 

บทบาทของศาลปาร์เลอมองต์นี้ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งและการวัดกำลังกันหลายครั้งระหว่างกษัตริย์กับศาลปาร์เลอมองต์

เมื่อศาลปาร์เลอมองต์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ความเข้มแข็งและความเป็นอิสระขององค์กรก็เริ่มมีมากขึ้น มีกฎหมายรับรองความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษาศาลปาร์เลอมองต์ เช่น ห้ามโยกย้ายผู้พิพากษา เป็นต้น

ในบางรัชสมัยที่กษัตริย์ไม่เข้มแข็ง ศาลปาร์เลอมองต์เริ่มแยกตัวเป็นเอกเทศออกจากราชสำนัก และขัดขวางการดำเนินนโยบายของราชสำนัก ด้วยเหตุนี้ราชสำนักจึงหาทางตอบโต้ด้วยการจัดตั้งศาลพิเศษเฉพาะเรื่องเฉพาะราวขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อดึงอำนาจจากศาลปาร์เลอมองต์

ในปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 กษัตริย์เริ่มมีพระราชอำนาจและบารมีมาก จึงกล้าสั่งห้ามมิให้ศาลปาร์เลอมองต์ใช้สิทธิคัดค้าน (Droit de remontrance) พระบรมราชโองการหรือพระบรมราชวินิจฉัยก่อนมีผลใช้บังคับ

พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 โดยคำแนะนำของ Richelieu ขุนนางผู้มากอำนาจและบารมี ได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการ Saint-germain ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1641 ความว่า

“ห้ามมิให้ศาลปาร์เลอมองต์มีเขตอำนาจในคดีที่อาจเกี่ยวกับรัฐ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐบาล ซึ่งเราสงวนไว้ให้กับคนของเราเท่านั้น เพราะศาลต่างๆ จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่พสกนิกรของเราเท่านั้น ไม่ใช่เรา”

ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ยังคงดำเนินการตามพระบรมราชโองการ Saint-germain การฟ้องโต้แย้งส่วนราชการและบรรดาข้าราชการทั้งหลายจึงต้องกระทำภายในส่วนราชการด้วยกัน โดยสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของกษัตริย์ (Conseil du Roi) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาข้อพิพาทเหล่านั้น การดำเนินการดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจพอสมควรเพราะมีการตรากฎเกณฑ์วิธีพิจารณาไว้โดยพระราชกำหนดลงวันที่ 28 มิถุนายน 1738 ซึ่งยกร่างโดยมหาเสนาบดี Aguessau

ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ศาลปาร์เลอมองต์เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 1750 ราชสำนักมีนโยบายปฏิรูปในหลายๆ เรื่องเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่ศาลปาร์เลอมองต์ก็ขัดขวางนโยบายดังกล่าวเสมอมา โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูประบบภาษีให้มีความเสมอภาคและเป็นธรรมยิ่งขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เล็งเห็นอุปสรรคเหล่านี้ พระองค์จึงพยายามจำกัดอำนาจของศาลปาร์เลอมองต์

ในปี 1771 มีความพยายามปฏิรูปศาลอีกครั้ง ภายใต้การนำของ Maupeou เขาต้องการยุบเลิกศาลที่มีจำนวนมากและซ้ำซ้อนกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการยุบเลิกศาลปาเลอมองต์ที่กีดขวางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและราชสำนัก

 

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสภาฐานันดรและศาลปาร์เลอมองต์ มีพื้นฐานมาจากระบบฟิวดัลที่ส่งเสริมให้ชนชั้นกระฎุมพีและขุนนางมีอำนาจเคียงคู่ไปกับกษัตริย์

พวกเขาเข้าไปมีบทบาททางการเมืองได้โดยอาศัยสถาบันดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลปาร์เลอมองต์มีบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจกับกษัตริย์ได้

ในนัยนี้ เราจึงพอจะกล่าวได้อยู่บ้างว่ากฎเกณฑ์เกี่ยวกับสภาฐานันดรและศาลปาร์เลอมองต์นี้ อาจจะเข้าเค้า “รัฐธรรมนูญ” ในความหมายสมัยใหม่

ในฐานะเป็นกฎเกณฑ์ที่สร้างกลไกการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง