“หนุ่ม กรรชัย” กับคำประกาศไม่ต้องมองผมเป็นคนดี และอีกหลากหลายแง่มุม

การเมือง เรื่องโหนกระแส ไม่อยากยุ่ง

นาทีนี้ หนึ่งในรายการทีวีเชิงข่าวที่ฮอตมากที่สุดรายการหนึ่งคือรายการ “โหนกระแส”

เหตุผลนั้น หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตรายการและพิธีกรจะบอกว่า นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจและความไวในการนำเสนอแล้ว “เรื่องราวของการสัมภาษณ์ หรือความสบายๆ หรือการละลายพฤติกรรมของแขกรับเชิญ มันตอบโจทย์คนดู”

การทำรายการนี้ขึ้นมา เขาบอกว่า โดยส่วนตัวคิดแค่ “อยากให้เป็นรายการที่เป็นที่พึ่งของประชาชน นำเสนอข้อเท็จจริง เป็นเวทีของคนที่ต้องการชี้แจง”

สำหรับแฟนานุแฟนที่ติดตามมาตลอด คงสังเกตได้ว่าที่ผ่านมารายการได้เสนอเนื้อหาที่หลากหลาย มีเรื่องราวทั้งที่เป็นคดีความ เหตุการณ์ดี-ร้ายในสังคม เรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อ และอีกต่างๆ นานา

แต่ว่าไม่มีเรื่องการเมือง

“จริงๆ ถามว่าแตะได้ไหม แตะได้นะ”

“แต่ผมรู้สึกว่าปัจจุบันการเมืองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ความสามารถและความรู้ในเรื่องนี้อย่างละเอียดอ่อน บังเอิญว่าผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเรื่องการเมือง ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ก็เคยทำมาหลายๆ เคส แต่ถ้าจะให้ไปแตะแบบหนักๆ เลย ผมก็อาจจะเบาๆ ไว้ ไม่ค่อยอยากไปยุ่ง”

พิธีกรคือคนที่โง่ที่สุด

ถ้าเปรียบคำชมว่าคือดอกไม้ที่มีคนมอบให้ และคำติหรือเสียงวิจารณ์คือก้อนหินที่มีคนปาใส่ ตั้งแต่ทำรายการนี้ เขาก็เจอมาไม่รู้กี่ก้อนแล้ว

ตัวอย่างเช่น…

“บางทีโดนคู่แข่งถามมา ว่าทำไมไปถามแขกรับเชิญอย่างนั้น เคยคุยกับเจ๊บ้าบิ่นว่า แหม ใส่ลายเสือนะ แล้วเสือเพิ่งเข้าไปอยู่ในกรง ก็จะโดนคนทำข่าวด้วยกันบอก ก็ไม่ใช่เสือ แต่ไม่มีมารยาทในการถาม”

“ซึ่งไม่ใช่นะ”

“ไม่ใช่ไม่มีมารยาทหรอก แต่วิธีการมันต่างกัน ผมเป็นคนเล่นละคร จะเข้าฉากกับใคร ผมจะต้องมีการละลายพฤติกรรมกับดาราคนนั้นๆ ผมแค่เอาวิธีที่เคยใช้ในละครมาละลายพฤติกรรมแขกรับเชิญของผม ผมคุยเล่น ผมให้กำลังใจ จนเขารู้สึกว่าผมเป็นเพื่อน เพราะฉะนั้น วิธีการที่ผมคุย แล้วพฤติกรรมที่เขาตอบ จะตอบออกมาในสิ่งที่เขารู้สึกว่าเขาไว้ใจเรา แล้วเขารู้สึกว่าอันนี้มันควรจะต้องพูด”

“ครั้งหนึ่งผมถามแขกรับเชิญว่า ถามจริงๆ เหอะ เจ้านายคุณรวยขนาดนี้ เขาให้อะไรคุณมั่งไหม เขาตอบกลับมาว่า พี่ หนูเป็นลูกจ้างนะ ไม่ใช่ทายาท เขาจะให้ทำไม คนก็บอก นั่นสิ กรรชัยถามโง่ๆ แบบนี้ทำไม ผมก็อยากจะบอกว่า ผมต้องโง่ที่สุดอยู่แล้ว”

“พิธีกรคือคนที่โง่ที่สุดน่ะ คือเราต้องให้เขาเป็นคนพูด แล้วทุกสิ่งทุกอย่างผู้ชมเป็นคนตัดสิน ไม่ได้หมายความว่าผมต้องรู้ แล้วต้องพูดว่าคุณเป็นแบบนี้ๆ มาใช่ไหม”

“แล้วคำถามโง่ๆ แบบนี้แหละ มันสามารถทำให้เขาตอบ และคนดูจะจับออกเอง ตัดสินใจเองจากคำตอบนั้น”

“ผมเองมองว่าเสียงวิจารณ์มันมาพร้อมกับคำชม ไม่มีใครจะวิจารณ์เราไปทุกคน แล้วก็ไม่มีใครจะชมเราหมดทุกคน”

“คิดอย่างนี้แล้วก็สบายใจ”

ภาพ (เคย) ไม่ให้

พอทักถึงเรื่องเก่าๆ เขาก็หัวเราะ

จากนั้นจึงบอก “จริงๆ แล้วผมเป็นคนชอบอ่านข่าว ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่มีใครรู้ บางครั้งคนที่มองภาพภายนอก เจ้าชู้ มีคนนั้นคนนี้ อันนั้นก็อาจจะเป็นอีกภาพหนึ่ง อาจจะเป็นนิสัยหรืออะไรของเรา หรือเป็นแบบที่คนเห็น แต่มนุษย์มีหลายๆ มุมในตัวเองอยู่แล้ว เวลามองมนุษย์หรือมองคน ผมไม่ได้มองเขามุมเดียว เขาอาจจะมีมุมอื่นๆ ซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ก็ได้ ถูกไหมฮะ บางคนอาจจะคิดว่าคนนี้ดูไม่ดีเลย ดูแย่มาก ใจร้ายมาก แต่อีกมุมเขาอาจจะเป็นคนที่เก่งในอีกสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันน่าทึ่งมากก็ได้”

“ผมก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คือไม่ได้เก่ง แต่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบอะไรที่เกี่ยวกับข่าว คนก็อาจจะไม่รู้”

การตอบแทน เรื่อง “คืนให้”

“วันดีคืนดี ครอบครัวลัลลาเบลมาที่ช่อง 3 มีคนแอบถ่ายรูปตอนผมเอาเงินให้ครอบครัวเขา 6 หมื่นบาท แล้วกลายเป็นข่าว คนก็มาว่าผม ว่าทำไมต้องให้ แต่บางคนก็ชมว่าใจบุญมาก ผมไม่ได้ใจบุญอะไรขนาดนั้นหรอก แต่ที่ผมให้ คือผมรู้สึกว่าครอบครัวเขาน่าสงสาร ลูกเขาก็ควรจะมีเงินเรียนหนังสือ แล้วผมไม่ได้ให้เงินแค่ 6 หมื่น ผมให้คำมั่นสัญญากับพ่อ-แม่ลัลลาเบลด้วยว่าถ้าวันหนึ่งลูกของลัลลาเบลไม่มีทุนเรียนหนังสือให้นึกถึงผมเป็นคนแรก ถามว่าทำไมผมทำแบบนั้น คือผมรู้สึกว่า ผมได้ประโยชน์จากลัลลาเบลในการเสนอข่าว ต้องยอมรับว่ามันคือประโยชน์ของสื่อจริงๆ เพราะนอกจากคนข้างนอกได้เห็นภาพ ได้รู้เรื่องแล้ว มันก็เป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องของเรตติ้งของช่อง ของรายการ ดังนั้น ผมก็แค่คืนกลับให้ครอบครัวเขาบ้าง”

“ผมถือคตินี้ในทุกเรื่อง ผมเป็นคนแบบนี้ แล้วไม่จำเป็นต้องมานั่งบอกใคร ว่าผมช่วยเหลือใคร อะไร ยังไง นี่เป็นครั้งแรกหรือครั้งที่สองที่ผมพูดแบบนี้นะ เพราะผมรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องบอก”

“ผมไม่ต้องการให้ใครมองผมเป็นคนดีไง ไม่ต้องการให้มองเป็นพ่อพระ ใครมองกรรชัยยังไง ก็มองอย่างนั้น เพราะสิ่งที่ผมทำ ผมทำด้วยใจ ไม่ได้ทำเพราะคุณต้องรู้นะว่าผมทำแบบนี้ คนอื่นจะได้มาทำตาม คืออย่างนั้นมันก็ดี”

“แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้น”

เครียดจนต้องพบจิตแพทย์

ถามไปว่า การต้องอยู่กับข่าวทุกวันๆ แถมหลายๆ ข่าวนั้นเป็นเรื่องฆาตกรรม ความรุนแรง การโดนเอารัดเอาเปรียบ ความไม่เท่าเทียมและอีกสารพัดสิ่งที่มีคนร้องเรียนเข้ามา เพื่อให้รายการนำไปเผยแพร่ แล้ว “จิตตก” บ้างไหม

“ไม่ตกนะ” เขาบอก

แต่เคยเครียดจนต้องพบจิตแพทย์

“คุยกับหมอ หมอบอกต้องมีวิธีการปลดปล่อยออกไปบ้าง ฟังแต่เรื่องของทุกคน ปีหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเคส เราคิดว่าเราตัดได้ แต่จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ฝังอยู่ในตัวเราหมด อยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา”

“เพราะฉะนั้น จึงต้องหาวิธีผ่อนคลาย”

เพื่อที่จะสามารถทำงานต่อไปได้