วิกฤติศตวรรษที่21 | แอฟริกา-ทวีปที่ถูก “รุมทึ้ง”

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (41)

แอฟริกาได้ชื่อว่าเป็นทวีปที่ถูก “รุมทึ้ง” ปรากฏครั้งแรกในช่วงปี 1881-1914 หรือปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนหน้านี้ประเทศยุโรปได้ยึดพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรเพื่อเป็นเมืองท่าค้าขาย กินพื้นที่ราวร้อยละ 10 ของทวีปแอฟริกาทั้งหมด

แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเพียงไม่กี่สิบปี เกือบทั้งทวีปแอฟริกาได้ตกเป็นอาณานิคมของยุโรป

(ยกเว้นเอธิโอเปียและไลบีเรีย)

เหตุปัจจัยที่ยุโรปรุมทึ้งแอฟริกา สรุปได้ดังนี้คือ

ก)ความก้าวหน้าในการสำรวจและการทำแผนที่

ความรู้จากการสำรวจและทำแผนที่ลึกเข้าไปในแอฟริกา ทำให้แอฟริกาที่เคยเป็นประเทศที่ดำมืดหรือกาฬทวีปที่ยุโรปไม่รู้จัก กลายเป็นทวีปขาวกระจ่างที่จะเข้าไปยึดครอง ทำประโยชน์ได้

การสำรวจลึกเข้าไปในแอฟริกาเริ่มจากเดวิด ลิฟวิงสโตน (1813-1873) แพทย์ชาวอังกฤษ เป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้พบน้ำตกวิกตอเรีย และเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เดินทางข้ามทวีปแอฟริกา

นักสำรวจมีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง ได้แก่ เฮนรี่ เอ็ม. สแตนลีย์ (1841-1904) นักหนังสือพิมพ์และนักสำรวจชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษ ผู้ได้รับมอบหมายให้ออกตามหา ดร.ลิฟวิงสโตนจนพบ เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่โด่งดังทุกวันนี้

สแตนลีย์ยังได้กลับไปเดินทางสำรวจแอฟริกาอีกและเขียนเผยแพร่ความมั่งคั่งภายในทวีปแอฟริกา มีบทบาทสำคัญในการช่วยกษัตริย์เลออปอลที่สองแห่งเบลเยียม ยึดครองคองโกเป็นอาณานิคม เรียกชื่อ “รัฐเสรีคองโก” (หมายถึงการค้าเสรี)

ในปี 1885 มีการประกาศให้ที่ดินและทรัพยากรที่นั่นเป็นของเจ้าอาณานิคม คือกษัตริย์เลออปอลและผู้รับสัมปทาน และมีการใช้ความรุนแรงกดขี่ สังหารแรงงานชนพื้นเมืองในการผลิตยางพารา เช่น ผู้ทำงานไม่เข้าเป้าถูกตัดมือทิ้ง จนเป็นเหตุปัจจัยหลักให้ประชากรชาวคองโกลดลงเป็นอันมาก

ประมาณว่าระหว่างปี 1896 ถึง 1905 กษัตริย์เลออปอลมีกำไรจากระบบนี้ถึง 70 ล้านฟรังก์เบลเยียม ระบบยึดที่ดินและทรัพยากรนี้ยังมีการนำไปใช้ในอาณานิคมที่อื่นอีก

สำหรับนักสำรวจที่มีชื่อฝ่ายฝรั่งเศส-อิตาลีได้แก่ เดอบราซซา (Pierre Savorgnan de Brazza (1852-1905) เขาสำรวจแอฟริกาภายใต้การอุปถัมภ์ของสมาคมภูมิศาสตร์ปารีส แข่งขันกับสแตนลีย์ในการหาอาณานิคมให้แก่ฝรั่งเศส พื้นเพมีความคิดก้าวหน้า ต้องการล้มเลิกการค้าทาส

เขาสามารถเจรจาจนได้ตอนเหนือของแม่น้ำคองโกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ต่อมาตั้งเป็นคองโกของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในปี 1882

(ปัจจุบันได้เอกราชเรียกว่าสาธารณรัฐคองโก มีเมืองหลวงชื่อบราซซาวิลลาที่ตั้งชื่อตามเขา)

ข)ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน

เริ่มขึ้นในยุโรปในภาคการเงิน โดยเกิดการแตกตื่นในตลาดหุ้นกรุงเวียนนาในปี 1873 แล้วลามไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว กว่าจะพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ได้ก็ตกปี 1896 รวมยาวนานถึง 23 ปี วิกฤตินี้ยังข้ามทวีปไปถึงอเมริกา แต่สหรัฐมีพื้นที่และทรัพยากรสมบูรณ์มากกว่า สามารถพ้นวิกฤติได้ในปี 1879

วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ถือกันว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกเป็นครั้งแรกในระบบทุนนิยม

สังเกตได้ว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนานในปลายศตวรรษที่ 19 นี้ เป็นเหมือนต้นแบบของวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 1929 หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008

นั่นคือมีความคล้ายคลึงกันทั้งสาเหตุ การแก้ไข และผลกระทบ ต่างกันเพียงฉากหลังและผู้แสดงและการแสดงที่มีรายละเอียดต่างกันไปบ้าง

รูปแบบของมันเป็นทำนองนี้คือ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เกิดการขยายตัวของการลงทุน ถึงขั้นลงทุนที่มากเกินไปและผิดพลาด (ในกรณีสหรัฐมีการลงทุนมากเกินไปในกิจการทางรถไฟ เป็นต้น) การลงทุนมหาศาลรวมกับการเก็งกำไรสามารถผลิตสินค้าและขนส่งไปขายได้อย่างรวดเร็ว กดดันให้ต้องขยายตลาดจนแผ่ไปทั้งโลก กระนั้นสินค้าก็ยังล้นตลาด ไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร ในอีกด้านหนึ่งเกิดความต้องการวัตถุดิบเป็นทวีคูณ เกิดการแย่งชิงสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทางด้านตลาด การทูตและการใช้กำลัง

ทรัพยากรที่หาได้ยากขึ้น มีส่วนทำให้ความสามารถในการผลิตหรือผลิตภาพเพิ่มขึ้นน้อยกระทั่งลดลง ในกรณีเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน ผลิตภาพของอังกฤษไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ของเยอรมนีที่พัฒนาอุตสาหกรรมภายหลัง ขึ้นมาแซงหน้า

ในด้านการแก้ปัญหาก็กระทำหลายอย่างที่บางทีขัดแย้งกัน เช่น มีการเพิ่มปริมาณเงินเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป การประหยัดค่าใช้จ่ายหรือรัดเข็มขัด การใช้ลัทธิปกป้องทางการค้า จนถึงขั้นทำสงครามการค้า เกิดการฟื้นฟูลัทธิจักรวรดิ คิดแย่งยึดดินแดนและทรัพยากรของชาติอื่นอย่างโจ่งแจ้ง

ในกรณีเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน 1873 ชาติในยุโรปมุ่งแย่งยึดทวีปแอฟริกาเป็นอาณานิคมของตน

ในกรณีเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ 2008 สหรัฐประกาศว่าจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งและสหรัฐอยู่เหนือชาติอื่นใดและทำสงครามการค้ากับจีน

นอกจากนี้ยังพบความคล้ายคลึงกันในด้านการต่อสู้ของคนงานและชาวรากหญ้า เกิดการเฟื่องฟูขึ้นของความคิดสังคมนิยมและลัทธิมาร์กซ์ และการเคลื่อนไหวประชานิยมจากเบื้องล่างหรือประชานิยมเอียงซ้ายในหลายประเทศ (ปัจจุบันถูกทำให้เป็นประชานิยมเอียงขวาจากเบื้องบนโดยทั่วไป)

ในอีกด้านหนึ่งเกิดแนวคิดการปกครองแบบรวบอำนาจและชาตินิยมขึ้นด้วย

การแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมาไม่สำเร็จผล ต้องลงเอยด้วยสงครามใหญ่

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน 1873 นำมาสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 1929 นำมาสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

หวังด้านดีว่าหลังเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ 2008 โลกจะทำได้ดีกว่าเดิม

ค)ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายด้านช่วยให้การสร้างอาณานิคมในทวีปแอฟริกาเป็นไปได้

มีราคาถูก และรักษาไว้ได้ง่าย ที่ควรกล่าวถึงคือ

1) ปืนกลแม็กซิม (ประดิษฐ์ 1884) ชาติยุโรปใช้อย่างกว้างขวางในการยึดดินแดนในแอฟริกา ขณะที่ชาวพื้นเมืองสู้ด้วยหอกและโล่

2) การมีเรือกลไฟ โทรเลข เปิดการขนส่งสื่อสารปริมาณที่สะดวก รวดเร็ว

3) ยาควินิน ก่อนนี้ทวีปแอฟริกาได้ชื่อว่าเป็น “หลุมฝังศพของคนผิวขาว” นักวิจัยชาวฝรั่งเศสสองคนสามารถแยกตัวยาควินินจากเปลือกไม้ซิงโคนาได้สำเร็จในปี 1820

และมีการใช้ยาควินินรักษาโรคมาลาเรียอย่างกว้างขวางในทศวรรษ 1850

ง)ลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิคนขาวเป็นใหญ่

เป็นอุดมการณ์สำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้การแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรจากประเทศที่อ่อนแอกว่า ตัวอย่างนักเคลื่อนไหวสร้างอาณานิคมของอังกฤษคือ เซซิล โรดส์ (1853-1906) นักธุรกิจนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษในแอฟริกาใต้ผู้ก่อตั้งบริษัทเหมืองแร่เดอ เบียร์ส (1888) หลังจากที่มีการค้นพบเพชรในแอฟริกาใต้ในปี 1867 ก่อตั้งบริษัทบริติชแอฟริกาใต้ ที่ยึดซิมบับเวเป็นอาณานิคม (ตอนที่ซิมบับเวเป็นอาณานิคมเรียกชื่อว่าโรดีเซีย ตามชื่อของเขา)

เขามีแผนการสร้างทางรถไฟจากกรุงไคโรมาที่เมืองเคปทาวน์ในแอฟริกา แต่ไม่สำเร็จ โรดส์กล่าวว่า

“ผมเห็นว่า เรา (ชาวอังกฤษ) เป็นเชื้อชาติอันดับหนึ่งของโลก และยิ่งเราไปอาศัยอยู่ในโลกมากเพียงใดก็ยิ่งเป็นการดีสำหรับเชื้อชาติมนุษย์ ลองนึกถึงดินแดนเหล่านั้นที่เข้าอยู่อาศัยโดยกลุ่มที่ต่ำทรามที่สุด ในหมู่มนุษย์จะมีอะไรดีกว่าการทำให้พวกเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวแองโกล-แซกซอน… ถ้าหากว่ามีพระเจ้าจริง ผมคิดว่าสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้ผมทำก็คือ การวาดแผนที่สีแดงแสดงอาณานิคมของอังกฤษให้ใหญ่ที่สุดบนทวีปนี้” (เซซิล โรดส์ บทความปี 1877 ใน sahistory.org)

นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวคิด “ภารกิจการสร้างความศิวิไลซ์” ของคนผิวขาวที่จะต้องทำแก่ชนพื้นเมืองทั่วโลก เมื่อดินแดนและประชากรแห่งใดยอมรับค่านิยมตะวันตกก็จะได้รับสิทธิเสรีภาพแบบชาวยุโรป ใช้กันทั่วไปในฝรั่งเศส โปรตุเกสและอังกฤษ

การรุมทึ้งแอฟริกาครั้งที่สอง

ต้นศตวรรษที่ 21 มีนักวิเคราะห์ตะวันตกจำนวนหนึ่ง เห็นว่าเหมือนกับจะมีการรุมทึ้งทวีปแอฟริกาครั้งที่ 2 นอกจากสหรัฐและยุโรปเจ้าเก่าแล้ว ยังมีกลุ่มบริกได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน เข้ามาค้าขายลงทุนเพื่อหวังได้ทรัพยากรธรรมชาติจากแอฟริกาไป

กลุ่มบริกนี้มีนักวิเคราะห์สินทรัพย์ตะวันตกเรียกขานตั้งแต่ปี 2001 กลุ่มนี้ต่อมามีการคบค้ากันมากขึ้น จนจัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกปี 2009 แอฟริกาใต้เข้าร่วมกลุ่มในปี 2010 เรียกว่ากลุ่มบริกส์

นอกจากกลุ่มบริกส์แล้ว ยังมีประเทศตลาดเกิดใหม่อีกจำนวนหนึ่งเข้ามามีบทบาท ได้แก่ กลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ ที่มั่งคั่งจากการค้าน้ำมัน เข้ามาสนับสนุนความเข้มแข็งทางการเงิน มีเกาหลีใต้และตุรกี เป็นต้น

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการรุมทึ้งแอฟริกาครั้งที่สอง เนื่องจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ พลังงาน แร่ธาตุ และอาหารสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน การแสวงหาดินแดนที่สนองสินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้นทั่วโลก

แต่ดินแดนที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดได้แก่ทวีปแอฟริกา ที่มีขนาดใหญ่ มีแร่ธาตุพลังงานมากและที่ดินเหมาะแก่การเกษตรมหาศาล จนเกิดการแข่งขันระหว่างสหรัฐ-ฝรั่งเศส-อังกฤษขั้วหนึ่ง กับจีน-รัสเซียอีกขั้วหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเกี่ยวกับการรุมทึ้งแอฟริกาครั้งที่สองมีส่วนต่างกับครั้งแรกหลายประการ ได้แก่

ก) แอฟริกามีความเข้มแข็งขึ้นมาก การรุมทึ้งแอฟริกาเป็นอาณานิคมของยุโรป ไม่เพียงก่อบาดแผลใหญ่แก่แอฟริกา หากยังสร้างบาดแผลความทุกข์ทนแก่ประวัติศาสตร์มนุษย์ด้วย

แต่ในศตวรรษที่ 21 แอฟริกาได้รวมตัวตั้งสหภาพแอฟริกา (ก่อตั้งปี 2001) รับรองวิสัยทัศน์ระยะยาว “ระเบียบวาระ 2063 : แอฟริกาที่เราต้องการ” (ปี 2015) เพื่อแก้ปัญหาท้าทายแอฟริกาจำนวนมาก ได้แก่ การยุติสงครามในแอฟริกา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเปิดการเคลื่อนไหวเสรีในทวีป

สรุปคือ ทำให้ทรัพยากรของแอฟริกาเป็นเพื่อประโยชน์ของคนแอฟริกาทั้งมวล

นอกจากนี้ยังมีการทำ “ความตกลงการค้าเสรีทวีปแอฟริกา” เป็นเขตเศรษฐกิจเสรีที่ใหญ่มากของโลก จะปฏิบัติได้ในปี 2020 คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการค้าภายในทวีปแอฟริกาขึ้นเป็นร้อยละ 25 ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากร้อยละ 16 ในปัจจุบัน (การค้าในทวีปยุโรปมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของการค้าของยุโรปทั้งหมด)

อนึ่ง ประชากรของแอฟริกามีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีราว 1.3 พันล้านคน มีการศึกษาสูง ผ่านบทเรียนการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ-การเมืองจากภายนอกเป็นเวลานาน มีความตื่นตัวทางการเมือง-สังคม ต้องการรักษาทรัพยากรของตนไว้เพื่อชาวแอฟริกัน จึงไม่ยอมให้ชาติใดมาแบ่งซอยยึดทรัพยากรไปง่ายๆ

ข) แอฟริกายังต้องเปิดกว้างประเทศของตนต่อไป เพราะต้องพึ่งทุน ตลาดและเทคโนโลยีจากตะวันตก และประเทศตลาดเกิดใหม่ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะยืนได้อย่างมั่นคง

ค) แอฟริกาเปิดรับการลงทุนจากประเทศเกิดใหม่มีจีนเป็นแกน เพื่อเป็นอีกทางเลือกที่ไม่ต้องพึ่งสหรัฐและยุโรปเหมือนเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกากับประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นไปในด้านการค้าการลงทุน การทูต และด้านสังคมวัฒนธรรม แต่กับประเทศเจ้าอาณานิคมเก่ายังมีด้านการแทรกแซง การใช้กำลังทหารเพื่อเปลี่ยนหรือรักษาระบอบปกครองที่ตะวันตกต้องการ เช่น การทิ้งระเบิดล้มล้างระบอบกัดดาฟี (2011) ฝรั่งเศสส่งออกกำลังไปแทรกแซงสงครามกลางเมืองและตั้งประธานาธิบดีแห่งไอวอรี่โคสต์หรือโกตดิวัวร์ (ปี 2002 และ 2011) สหรัฐตั้งฐานทัพทั่วแอฟริกา เพื่อปฏิการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย และสนับสนุนรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นต้น

ง) โลกต้องการแอฟริกาที่มีสันติภาพและไพบูลย์ เพื่อการมีตลาดที่เปิดกว้างและเติบโต การจัดการที่ผิดพลาด สามารถก่อปัญหารุนแรงแก่โลกพัฒนาแล้วได้มาก เช่น การหดตัวของตลาด และวิกฤติผู้อพยพ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโอกาสและความเสี่ยงของนโยบายออกไปทั้งโลกของจีน การแย่งชิงน้ำมันทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีผู้แสดงน่าจับตาอย่างเช่นตุรกี