ฉัตรสุมาลย์ : ประชุมนานาชาติเรื่องภิกษุณี ที่ศีลปุร์

ท่านธัมมนันทาได้รับหนังสือเชิญเมื่อปลายเดือนธันวาคม ว่าเป็นการประชุมนานาชาติเรื่องภิกษุณีครั้งแรกที่ศีลปุร์

ผู้เขียนอยู่อินเดีย รู้จักอินเดียมากว่า 50 ปี ไม่เคยได้ยินเลยค่ะว่าศีลปุร์อยู่ที่ไหน

รีบเปิดแผนที่ รู้ว่าอยู่ในรัฐฉัตติสการห์ รัฐนี้ก็ใหม่ เพิ่งมีการแบ่งดินแดนออกมาจากรัฐมัธยมประเทศเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง

ในรายละเอียดของการเดินทาง เขาว่า สนามบินที่ใกล้ที่สุด คือเมืองรายปุร์

เปิดแผนที่ดู อ้อ รายปุร์อยู่ทางตกของโกลกัตตา รายปุร์เป็นเมืองหลวงของรัฐฉัตติสการห์ ที่ตั้งศีลปุร์นั้น อยู่ทางตะวันออกของเมืองรายปุร์ เมื่อลงเครื่องที่รายปุร์แล้ว นั่งรถไปอีก 78 ก.ม.

ตกลงใจว่าจะไป เพราะเขาว่าที่ศีลปุร์นั้น เพิ่งพบเป็นโบราณสถานของพุทธที่ใหญ่มากที่สุด สงสัยราคาคุย เห็นว่าครอบคลุมถึง 10 ก.ม. ไม่น่าจะใหญ่กว่านาลันทา

แน่นอนเรื่องหนึ่งที่เป็นปัจจัยตัดสินใจให้ไป คือเรื่องของการประชุม เรื่องภิกษุณี ท่านธัมมนันทาว่า ไปช่วยเขา

หัวข้อย่อยที่ขอบทความ ก็ไม่ใช่หัวข้อย่อย เหมือนคำถามที่อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับภิกษุณีมากกว่า

ท่านธัมมนันทาเสนอบทความไป เรื่องการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในสมัยพุทธกาล อธิบายประเด็นโต้แย้งที่คุยกันมากว่า 30 ปีแล้วในวงวิชาการ

อีกบทความหนึ่งที่เสนอไปคือ การประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย แต่ดูว่า ผู้จัดไม่น่าจะต้องการบทความทางวิชาการนัก เพราะขอความยาวเพียง 3-4 หน้า

ผู้จัดงานที่ปรากฏในเอกสารเป็นหน่วยงานศาสนาที่มาจากกลุ่มของท่านอัมเบดการ์ ที่เมืองนาคปุร์ ซึ่งผู้เขียนไม่รู้จัก

ในระหว่างการติดต่อ ทราบว่า จัดให้ท่านธัมมนันทาพักที่รีสอร์ตที่ศีลปุร์ ถามไปว่ารีสอร์ตนี้ชื่ออะไร เขาตอบมาว่ามีอยู่แห่งเดียวแหละ

อืมมม เป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยข้อสงสัย และความไม่แน่ใจ

 

เครื่องบินที่จะต่อไปรายปุร์นี้ หาจังหวะให้เราเองพอใจยาก ในที่สุด ต้องยอมเดินทางตอนเที่ยงคืน แล้วต่อเครื่องที่โกลกัตตา เพื่อถึงรายปุร์ตอนเช้า และจะได้เดินทางต่อไปศีลปุร์ได้

การเดินทางทุลักทุเล ในที่สุดก็ถึงรายปุร์ ไม่ได้ไปค้างที่ศีลปุร์ มาทราบทีหลังว่า เจ้าภาพคิดว่าที่รีสอร์ตที่มีแห่งเดียวที่ศีลปุร์นั้น จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นคนท้องถิ่น พักกันห้องละ 12 คน จะไม่สะดวก ตกลงจัดให้ท่านธัมมนันทาพักที่แคมป์ตำรวจชายแดนที่เมืองรายปุร์นั้นเอง แล้วอาศัยเดินทางไปกลับในแต่ละวัน ข้อมูลทั้งหมดนี้ เราไม่ทราบเลยค่ะ

ใช่ค่ะ 78 ก.ม.

เจ้าภาพตัวจริงท่านมีมารยาทดีมาก มาแนะนำตัวถึงที่พักก่อนงาน เนื่องจากท่านยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ จึงไม่ขอออกนามท่าน แต่ต้องบอกว่า ได้รับการดูแลดีมาก

เช้าวันประชุม เราไปถึงรีสอร์ตซึ่งเป็นสถานที่จัดงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพราะเขาบอกว่า พระจะไปฉันที่นั่น ในคณะของเรานอกจากท่านธัมมนันทาและผู้ติดตามแล้วก็ยังมีคณะคนไทยทั้งภิกษุณีและอุบาสิกา รวม 6 รูป/คน

ปรากฏว่าไม่มีแววของอาหารเช้าค่ะ ต้องรออยู่พักใหญ่

ในช่วงโกลาหลกันแบบแขกนั้น จึงพบพระภิกษุณีชาวอินเดียที่เคยมาฝึกอบรมที่วัตรทรงธรรมฯ ตลอดพรรษาอยู่หลายรูป รวมทั้งที่ท่านธัมมนันทาเคยไปเยี่ยมที่นาคปุร์

ทราบว่า ที่นาคปุร์มีภิกษุณีประมาณ 70 รูป แต่ที่มาในงานครั้งนี้เพียง 20 รูป

พิธีเปิดงานจริงๆ เป็นบ่ายสี่โมงเย็น อากาศหนาวเย็น ฝนพรำมาตลอด แต่ตอนเปิดงานกลางแจ้ง กลับแดดออก เรียกว่า เทวดาช่วย

ทุกอย่างทำแบบนาทีสุดท้าย เราลองนับดูคร่าวๆ น่าจะมีผู้เข้าร่วมงานสัก 100 รูป/คน ที่เรียกว่า นานาชาติ ก็มีพวกเรานั่นแหละ จากไทย 4 รูป 2 คน ในจำนวนที่ไปจากไทย เป็นมาเลเซีย 1 รูป แม่ชีพม่าชุดสีชมพู 5 รูป เป็นแม่ชีที่มาเรียนหนังสือในอินเดีย นอกนั้นเป็นชาวอินเดียเอง พระภิกษุที่มาร่วมงานประมาณ 10 กว่ารูป

การจัดงานแบบแขกเต็มรูปแบบ เน้นพิธีการเปิดและปิดงาน เฉพาะเปิดงานก็ตลอดบ่ายจนเย็น ภาษาที่พูดใช้ฮินดีตลอดไม่มีการแปลเลย ยกเว้นตอนที่นิมนต์ท่านธัมมนันทาขึ้นไปกล่าวทักทายตอนต้นเท่านั้น

 

ผู้ที่เขานิมนต์มานั่งบนเวที เป็นแขกผู้มีเกียรติ ทางฝั่งภิกษุณีอินเดียก็จะเป็นภิกษุณีวิสาขา อายุ 90 กว่าแล้ว ยังเก่งมาก ถ้าส่งไมโครโฟนมาก็สามารถพูดได้ทันที แต่ละประเทศก็จะเป็นภิกษุณีที่อาวุโสที่สุด

ทางฝั่งภิกษุชาวอินเดียก็มีหลวงปู่สะไส อายุ 90 เหมือนกัน เป็นพระภิกษุที่มีวิหารอยู่ที่ศีลปุร์นั่นเอง และรับรู้เกี่ยวการขุดพบโบราณสถานตั้งแต่ต้น

ฆราวาสที่อยู่บนเวที เป็นคนท้องถิ่น ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดงาน มีศิลปินมาร่วมงานก่อทรายเป็นรูปพระพุทธเจ้าด้วย ในขณะที่กิจกรรมบนเวทีกำลังดำเนินไป วัว 3 ตัวก็ค่อยๆ เดินเข้ามาและเล็มกินหญ้า ในพื้นที่ระหว่างเวที กับคนฟังที่นั่งอยู่ห่างออกไป

มีงานประชุมนานาชาติที่ไหนแบบนี้บ้าง ทำได้ที่อินเดียที่เดียวจริงๆ

วันที่เสนอบทความที่เตรียมไปนั้น วันรุ่งขึ้นค่ะ คราวนี้เข้าไปจัดงานโดยใช้ห้องโถงในรีสอร์ตเอง ในระหว่างวัน เจ้าภาพเปิดห้องพักให้คณะของเราจากประเทศไทยใช้ 1 ห้อง เราก็ได้อาศัยใช้ห้องน้ำในระหว่างวัน

 

ในบทความที่นำเสนอบนเวที มีเพียงสามเรื่องที่นำเสนอโดยมีภาพประกอบผ่าน power point คือของท่านธัมมนันทา ที่พูดถึงเรื่องการประดิษฐานภิกษุณีในประเทศไทย ผู้ฟังตื่นตาตื่นใจ เพราะได้เห็นภาพโดยไม่ต้องจินตนาการ ของ ดร.กาญจนา ที่พูดถึงเรื่องการบรรพชาสามเณรีในประเทศไทย อันนี้ก็ช่วยมาก ทำให้ชาวอินเดียส่วนใหญ่ได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า งานบรรพชาที่อื่นเขาทำกันอย่างไร บทความที่ 3 เป็นของท่านภิกษุณีโพธิ ชาวมาเลเซีย

การนำเสนอของแม่ชีพม่า ทุกคนจะพูดอังกฤษเสียงน้องแน้ง เหมือนกับร้องเพลง คนฟังไม่มีใครเข้าใจ สังเกตว่าหันมานองหน้ากัน ทีนี้ การนำเสนอภาษาอังกฤษต้องผ่านการแปล ล่ามก็แปลไม่ได้เพราะฟังไม่รู้เรื่อง จนต้องขอดูต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ท่านเขียนมา จึงสามารถแปลเป็นภาษาฮินดีให้ผู้ฟังท้องถิ่นเข้าใจ หนักหนาอยู่ที่พวกเรา ต่างชาติ ฟังไม่ออก

ในสถานการณ์แบบเดียวกันมีครั้งหนึ่ง ในงานประชุมที่สารนาถ มีพระภิกษุพม่าระดับคณบดี ขึ้นไปถวายพระคัมภีร์ภาษาพม่ากับองค์ทะไลลามะ ท่านกล่าวนำยาว พอเสร็จแล้ว องค์ทะไลลามะรับสั่งว่า “your English is difficult” (ภาษาอังกฤษของคุณยากนะ) พูดแล้วองค์ทะไลลามะก็หัวเราะ คือท่านก็ไม่เข้าใจเช่นกัน ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ ยังจำบริบทได้ น่าจะเป็นวิธีที่ชาวพม่าส่วนใหญ่เรียนภาษาอังกฤษมาหรือเปล่า แต่แน่นอน ชาวพม่าที่พูดชัดเจนแบบออง ซาน ซูจี ก็มีมากนะคะ อย่าเหมารวม

ตรงนี้ก็ต้องขีดเน้นให้ถึงความสำคัญของการที่ต้องรู้ภาษาอังกฤษทันทีที่เราออกจากประเทศไทย และโดยเฉพาะในการเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติแบบนี้

งานประชุมยืดเยื้อมาก กว่าจะเลิก 3 ทุ่ม และคณะของเราต้องตะกายขึ้นรถกลับรายปุร์ เพราะเราไม่ได้พักที่รีสอร์ต เข้านอนเที่ยงคืนทุกวัน

ที่น่าประทับใจ และไม่คาดคิด คือ เจ้าภาพพิมพ์หนังสือเพื่อฉลองทั้งการเปิดตัวศีลปุร์และงานประชุม ผู้เขียนเองเพิ่งส่งต้นฉบับมาตอนก่อนขึ้นปีใหม่ หนังสือที่ว่านี้ ลงทุนสูง แขกเขาเรียกว่า Coffee Table edition เป็นหนังสือที่ตั้งใจโชว์ และนิยมวางไว้บนโต๊ะในห้องรับแขก ปกแข็งเล่มใหญ่ค่ะ ขนาดใส่กระเป๋าเดินทางเต็มพอดี ลองวัดดูกว้าง ยาว 12 x 12 นิ้ว ท่านธัมมนันทาได้มา 3 เล่มต่างกรรมต่างวาระกัน แบกแทบแย่ มิหนำซ้ำเมื่อพบท่านเจ้าภาพ ท่านยังพยายามจะให้เพิ่ม

ศีลปุร์ในฐานะที่เป็นโบราณสถานในพุทธศาสนาที่เพิ่งค้นพบ เพิ่งเปิดตัวเมื่อ พ.ศ.2543 นี้เอง ทัวร์ไทยยังไม่น่าจะมีไปถึง โดยเฉพาะเมื่อยังไม่ตอบโจทย์ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการท่องเที่ยว คือที่พัก เมื่อยังไม่มีที่พักที่เหมาะสม ก็ยากที่จะเรียกความสนใจจากทัวร์

ทางเจ้าภาพนอกจากจะพิมพ์บทความที่เสนอในที่ประชุมแล้ว ก็เลยถือโอกาสเน้นการประชาสัมพันธ์ศีลปุร์ให้เป็นที่รู้จักในโลกกว้างด้วย

องค์ทะไลลามะเคยเสด็จมาเมื่อ ค.ศ.2014 บังเอิญผู้เขียนได้ดูคลิปวิดีโอ ของท่าน ท่านพูดชัดเจนในคลิปว่า ถ้าอยากให้ชาวพุทธนานาชาติมา ก่อนอื่นต้องเตรียมสถานที่พัก อำนวยความสะดวกพื้นฐานก่อน

เมื่อไปถึงด้วยตัวเองก็ยิ่งรู้สึกว่า องค์ทะไลลามะท่านรับสั่งตรงจุดมาก

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมของชาวพุทธเป็นครั้งที่ 3 แต่เป็นครั้งแรกที่เน้นเรื่องภิกษุณี

เนื่องจากผู้จัดและอาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธใหม่ยกขบวนมาจากนาคปุร์ ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง การเตรียมการจึงขลุกขลักไปหมด

เอาล่ะ เนื่องจากเป็นการจัดงานนานาชาติครั้งแรกของภิกษุณีอินเดียเอง ได้แค่นี้ก็นับว่าเก่งแล้ว ต้องให้กำลังใจกัน

งานผ่านไปแล้ว แต่ผลงานยังอยู่ หนังสือเล่มที่ว่านั้น เป็นผลงานที่ยั่งยืน บังเอิญที่หน้าปกผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ คำว่า unexplored สะกดผิด ดีว่าพิมพ์ไปเพียง 50 เล่มสำหรับงานนี้ ส่วนอีก 90 เล่ม ยังสั่งแก้ไขทัน

คนที่เคยจัดงานใหญ่มาจะรู้ดีว่า ความละเอียดรอบคอบเป็นเรื่องจำเป็น

อาทิตย์หน้า จะเล่าเรื่องโบราณสถานที่ศีลปุร์ให้ฟังนะคะ ประทับใจมากกก