ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ฝ่าวิกฤตโควิด : ออกแบบประเทศใหม่เพื่อยุติรัฐล้มเหลว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

วิกฤตไวรัสโควิดเป็นอภิมหาวิกฤตที่รุนแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบหลายสิบปี

เพราะถึงแม้เราจะเคยเผชิญวิกฤตที่รุนแรงอื่นๆ เช่นไข้หวัดนกและสึนามิที่ทำคนตายกว่า 5,400 คนในปี 2547

แต่วิกฤตทั้งสองกรณีก็เกิดขึ้นและจบลงในขอบเขตที่จำกัด

ส่วนวิกฤตไวรัสโควิดมีแนวโน้มว่าจะยังหาจุดสิ้นสุดไม่ได้เลย

ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลว่าวิกฤตโควิดจะดำรงอยู่นานแค่ไหน มีคนตายเท่าไร และอัตราการแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไร

แต่ถ้าดูจากเอกสารของกรมควบคุมโรค เรื่อง “คาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” วิกฤตโควิดก็น่าจะอยู่กับเราไปอีกถึงหนึ่งปี

ในการประเมินของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดโดยตรง ประเทศไทยระหว่าง 2563-2564 จะมีผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการถึง 10 ล้านคน แต่อาจผันแปรในกรณีเลวร้ายที่สุดได้ถึง 17.4 ล้าน และดีที่สุดคือ 48,902 คน

ซึ่งแปลว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอย่างน้อย 2 ปี ต่อให้เรามีมาตรการเข้มข้นกว่าปัจจุบัน

ไวรัสไม่ใช่โรค โควิดไม่ใช่ไวรัสที่ติดแล้วตาย คนติดร้อยละ 80 ไม่เป็นอะไร บางคนไม่มีอาการ บางคนเป็นไข้หรืออื่นๆ ที่รักษาตามอาการก็จบ, ร้อยละ 14 อาจต้องนอนโรงพยาบาล, อาการหนักจริงๆ ราวร้อยละ 5 และที่ถึงขั้นเสียชีวิตก็ลดลงไปอีก

แต่ก็ไม่มีใครอยากเอาตัวเองไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

คนจำนวนมากคาดหวังว่าจะมีวัคซีนกำจัดโควิดโดยเร็ว แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงการวัคซีนที่สถาบันวิจัยไกเซอร์แห่งอเมริกา, สถาบันวิจัยชีววิทยาของอิสราเอล หรือการพัฒนายาปฏิชีวนะที่มหาวิทยาลัย Erasmus ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่แค่การทดลองในคลินิก

และอาจต้องรอถึงปีหรือหนึ่งปีครึ่งกว่าที่จะนำไปใช้ได้จริงๆ

โควิดไม่ใช่ปัญหา และประสบการณ์ของประเทศไทยในกรณีนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลีใต้ก็เห็นแล้วว่าโควิดเป็นเรื่องจัดการได้ หากไม่มีการระบาดขนาดใหญ่จนกำลังและทรัพยากรของระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ การป้องกันไม่ให้โควิดแพร่ระบาดจึงเป็นหัวใจของการหยุดปัญหาโควิดอย่างสมบูรณ์

โดยอุดมคติแล้ว สังคมในสภาวะนี้ต้องการผู้นำทางสาธารณสุข, วิทยาศาสตร์ และทางการเมือง

แต่ในเมื่อโควิดเป็นเรื่องใหม่ สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์จึงยังไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำสังคมได้ จะมีก็แต่ผู้นำทางการเมืองที่จะทำให้สังคมเชื่อมั่นจนยอมให้ความร่วมมือทุกอย่างเพื่อป้องกันปัญหาได้จริงๆ

รัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และภายใต้ความกังวลว่ารัฐบาลจะทำให้คนไทยติดเชื้อโควิดจนตาย ประชาชนต้องการเครื่องมือปกป้องตัวเองง่ายๆ อย่างหน้ากากอนามัย, เจล และการตรวจโควิด ซึ่งรัฐบาลทำให้ไม่ได้ และประชาชนก็เชื่อว่าต้นเหตุที่ทำไม่ได้คือรัฐบาลเฮงซวย

ก่อนที่ไวรัสโควิดจะแพร่ระบาด พล.อ.ประยุทธ์ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำล้มเหลวในการแก้ปัญหาทุกเรื่องอยู่แล้ว วิกฤตไวรัสเพียงแต่ทำให้ปัญหา “ผู้นำล้มเหลว” ลุกลามเป็นปัญหา “รัฐบาลล้มเหลว” และถ้าวิกฤตยืดเยื้ออีกสองปีเท่าการแพร่ระบาดของไวรัส

ประเทศไทยก็เสี่ยงจะเจอสถานการณ์ “รัฐล้มเหลว” โดยสมบูรณ์

ด้วยปัญหาการขาดแคลนห้องแล็บและทรัพยากรการตรวจในไทย รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองประชาชนเรื่องตรวจโควิดอย่างกว้างขวางแบบเกาหลีใต้ได้อยู่แล้ว ภาครัฐและเอกชนไทยไม่ได้ร่วมงานด้านนี้มาก่อนจนมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมอย่างเกาหลีใต้ ส่วนเรื่องชุดตรวจสำหรับทุกคนก็ยังห่างไกลความจริง

ทางเดียวที่รัฐบาลจะยุติปัญหา “รัฐบาลล้มเหลว” เพื่อสกัดไม่ให้เกิด “รัฐล้มเหลว” คือการทำให้สังคมเชื่อว่ารัฐบาลจะพาคนทั้งประเทศฝ่าวิกฤตได้ และทางเดียวที่รัฐบาลจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นแบบนั้นได้ก็คือการบอกให้สังคมรู้ว่าเราจะอยู่อย่างไรกับโควิดที่อาจต่อเนื่องไปอีกหนึ่งหรือสองปี

ประธานาธิบดีสหรัฐพูดถูกเรื่องทางสู้กับโควิดคือ Social Distancing หรือ “ระยะห่างทางสังคม” และการปิดประเทศซึ่งส่งผลให้เกิดการปิดทวีปในอเมริกาและยุโรปคือสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าแนวคิด “ระยะห่างทางสังคม” ได้ยกระดับจากบุคคลสู่นโยบายระดับประเทศและระดับทวีปไปแล้วอย่างสมบูรณ์

ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่ไม่มีนโยบายปิดอะไรเลย เพราะกระทั่งเพื่อนร่วมภูมิภาคอย่างมาเลเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ก็ดำเนินนโยบายนี้ไปแล้ว

“ระยะห่างทางสังคม” จึงเป็นโครงสร้างระดับโลกที่ครอบโลกอีกสักพักแน่ๆ

และนั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องเป็นผู้นำสังคม

“ระยะห่างทางสังคม” หมายถึงธุรกิจผับ, บาร์, ร้านอาหาร, โรงหนัง ฯลฯ ต้องชะลอกิจการ คนจำนวนมากในธุรกิจนี้จะขาดรายได้หรืออาจไม่มีงานทำ และถ้ายอมรับว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบมาก นโยบายนี้จะทำให้คนที่ไม่มีเงินออมและไม่มีสวัสดิการเผชิญปัญหาขาดรายได้และไม่มีค่าบ้าน ค่าข้าวเลย

“ระยะห่างทางสังคม” นำไปสู่การลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วยวิธีเหลื่อมเวลาทำงาน, ลดการเดินทาง และลดการประชุม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมขนส่ง, ท่องเที่ยว และการเดินทางจึงทำมาหากินยากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่สาธารณูปโภคในชีวิตประจำวัน

“ระยะห่างทางสังคม” เปรียบได้กับ “ยาแรง” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมหาศาล หลายประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้จึงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อพยุงให้คนในสังคม “เปลี่ยนผ่าน” สู่การใช้ชีวิตที่ลดการประชิดตัวมนุษย์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งหมายความว่ารัฐต้องจัดทำนโยบายที่เป็นระบบขึ้นมา

ในอิตาลีซึ่งมีผู้ติดเชื้อและตายด้วยไวรัสโควิดมากจนดำเนินนโยบายปิดประเทศอย่างจริงจัง รัฐบาลอิตาลีออกมาตรการสินเชื่อช่วยประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก เรียกว่า “mortgage holiday” ชะลอการจ่ายค่าผ่อนบ้าน เงินกู้ยืมครัวเรือน และเงินกู้เพื่อธุรกิจขนาดเล็ก ไม่อย่างนั้นคนจะตายเพราะเศรษฐกิจก่อนไวรัสกิน

ในฝรั่งเศสซึ่งดำเนินนโยบายคล้ายคลึงกัน รัฐบาลระบุว่า จะต้องไม่มีบริษัทใดล้มละลาย, ไม่มีคนฝรั่งเศสไม่มีรายได้, เลื่อนชำระเงินประกันสังคมและภาษี, รัฐรับประกันการเลื่อนชำระหนี้ธนาคารในวงเงิน 3 แสนล้านยูโร รวมทั้งระงับค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าแก๊ส-ค่าเช่า-ภาษี เพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กอย่างจริงจัง

ในกรณีสหรัฐอเมริกา นโยบาย “ระยะห่างทางสังคม” ส่งผลกระทบต่อแรงงาน 80 ล้านคนในรูปแบบการเลิกจ้าง-ลดชั่วโมงทำงาน-ลดค่าแรง หรือแม้แต่ความฝืดเคืองอื่นๆ เมื่อประชาชนบริโภคและจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

โดยนักเศรษฐศาสตร์ถึงขั้นประเมินว่าสหรัฐจะเกิดการว่างงานสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ด้วยเงื่อนไขที่ทั้งโลกดำเนินมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” รวมทั้งการปิดประเทศหรือปิดเมืองในทางหนึ่งทางใด ไทยย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้มาตรการนี้ หรือต่อให้ไม่ใช้ ผลกระทบกับประเทศก็มีแน่ๆ หน้าที่ของรัฐในเวลานี้จึงได้แก่การออกแบบระบบเศรษฐกิจ สังคม ให้คนไทยอยู่กับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ทันที

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็อึดอัดกับความยากจน และเกลียดชังที่รัฐบาลทำให้การทำมาหากินฝืดเคืองมามากแล้ว มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” จะทำให้คนจนและคนระดับกลางล่างเดือดร้อนจนเคียดแค้นรัฐบาลอีกมาก จนอาจกลายเป็นการจลาจล หรือความโกลาหลทางการเมือง หากคนไม่มีจะกิน

หากไม่นับการต่อสู้กับไวรัสด้วยวิทยาศาสตร์และการแพทย์ซึ่งต้องรออีกอย่างน้อยปีครึ่ง เครื่องมือเดียวที่รัฐไทยมีได้แก่การลดการติดเชื้อของประชากรให้มากที่สุด เส้นทางสู่เรื่องนี้มีแต่การลดความหนาแน่นของการติดเชื้อด้วยการทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้ยาก จากนั้นรัฐค่อยๆ ทยอยรักษากันไปจนจบอย่างที่จีนทำ

ผู้นำหลายประเทศพูดถูกว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญสงคราม และสิ่งที่ทั้งโลกต้องทำคือทำให้สงครามจำกัดอยู่แค่สงครามไวรัสโดยไม่ลุกลามเป็นสงครามเศรษฐกิจและสงครามการเมือง รัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกนอกจากออกแบบประเทศเพื่อให้สังคมอยู่กับการติดเชื้อถึงจุดที่สังคมฟื้นตัวในปีหรือสองปี

ภารกิจของรัฐบาลตอนนี้มีอยู่เรื่องเดียวคือทำทุกทางให้ปัญหาไวรัสโควิดเกิด End Game เพื่อฟื้นฟูประเทศใหม่จากซากปรักหักพัง