ทราย เจริญปุระ | ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นปกติทุกประการ

“ในขณะที่เขียนเจตนารมณ์นี้ ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นปกติดีทุกประการ”

แทบจะทุกคำแนะนำและแบบการเขียน แนะนำให้ขึ้นต้นด้วยประโยคนี้

-ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นปกติดีทุกประการ-

นี่ไม่ใช่จดหมายลาตาย

คือแน่นอน, ฉันต้องตาย แต่ไม่ได้คิดไว้ว่าจะตายในช่วงเวลาไม่นานนี้

ปีนี้เปิดตัวได้อย่างเข้มข้น เดือดดาล ตรงข้ามกับพลังงานในตัวฉันที่ดูจะลดลงไปเรื่อยๆ

เรื่องดีๆ ก็มีอยู่บ้าง เช่น ฉันมีคนเข้าใจมากขึ้นในเจตนารมณ์บางประการในทางการเมือง และพร้อมๆ กับที่มีคนเข้าใจ ฉันก็ได้เรียนรู้การเตรียมขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นครั้งแรก เพราะมีผู้ไม่เข้าใจ (คือไม่เข้าใจฉัน แต่เขาก็มีความเชื่อและเข้าใจเต็มเปี่ยมในแบบของเขาน่ะนะ) มาอาละวาดด่าทอฉัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และฉันคิดว่าคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

แต่หลังจากการหอบเอาคำด่าไปนั่งชี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดู ว่าแต่ละคำนั้นดูถูก เหยียดหยาม ไร้ความจริง และทำให้ฉันเจ็บปวดอย่างไรบ้างถึงสองครั้ง จากต่างคนต่างเวลา ฉันก็ท้อใจกับการมีตำรวจเป็นที่พึ่ง

เลยหันหน้าไปอีกทาง ไปหาทนาย เพื่อจะนำเรื่องขึ้นสู่ศาล หวังให้ความยุติธรรมเป็นที่พึ่ง

ฉันหายหน้าจากการเขียนคอลัมน์ไปตลอดเดือนที่ผ่านมา ด้วยเหตุจากอาการบาดเจ็บที่ข้อมือขวา ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ หรือเอ็นหุ้มปลอกข้อมือ หรืออะไรซักอย่างที่ฉันเรียงชื่อมันไม่ค่อยจะถูก แต่ไอ้อาการที่เรียกทับศัพท์ว่าเดอ เกอแวงนี้ ก็ให้เกิดความเจ็บปวดทรมานอย่างยิ่ง ยามต้องบิดหรือหมุนข้อมือขวาเพื่อทำกิจกรรมธรรมดาๆ ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

แน่นอนว่ารวมไปถึงการพิมพ์งานของฉัน ซึ่งพิมพ์จากโทรศัพท์มือถือด้วย

หมอที่ฉันไปหา เป็นคนดูแลเรื่องกายภาพฟื้นฟูฉันมาตลอดตั้งแต่เริ่มกระบวนการอันยาวนานของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นฉันที่เสียหายจากอุบัติเหตุและการผ่าตัด

คุณหมอยังหนุ่ม คุยสนุก และอธิบายอะไรให้เข้าใจได้ง่าย

แต่ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าไปพบคุณหมอ ฉันก็เห็นแล้วว่าในวันนั้น คุณหมอมีนกหวีดร้อยด้วยโบว์ลายธงชาติวางเงียบเชียบอยู่บนโต๊ะ

ฉันไม่พูดอะไร และคุณหมอก็ไม่ได้พูดอะไร นกหวีดก็วางของมันอยู่อย่างนั้น

ช่วงเวลาที่พบคุณหมอเป็นช่วงที่ความรุนแรงของผู้ชุมนุมที่ใช้นกหวีดและธงชาติเป็นสัญลักษณ์กำลังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ

ฉันนั้นตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังและด่าทอ

ฉันรู้ตัวดี ฉันเป็นเหมือนตัวเชื้อโรคอะไรซักอย่างที่ผู้คนพร้อมจะแตกฮือเมื่อเดินผ่าน

เป็นคนหน้าด้านที่เดินลอยดอกไปไหนต่อไหนโดยไม่ได้สนใจความเกลียดชังที่กระจายในบรรยากาศ

คุณหมอไม่ได้ทำให้ฉันรู้สึกอะไร และฉันก็เลยไม่ได้คิดอะไร ก็ตรวจวินิจฉัย สั่งทำกายภาพ แล้วก็แยกย้าย

ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้หลังจากการตายของแม่

ฉันอ่านแล้วก็รู้สึกว่าคนเขียนใช้เวลานานจัง ในการที่จะยอมรับว่าทุกชีวิตต้องตาย

ฉันไม่แน่ใจว่าความเป็นพุทธที่ติดตัวและครอบคลุมสิ่งแวดล้อมของฉันมาหรือความเป็นฉันกันแน่ที่ทำให้ยอมรับความจริงนี้ได้อย่างง่ายๆ

ง่ายที่ไม่ได้แปลว่าไม่หวั่นไหว

ง่ายที่ไม่ได้แปลว่าสบายมาก

“เมื่อไรก็ตามที่หนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าหรือ living will ถูกเขียนขึ้น สิ่งนี้จะถูกคุ้มครองโดยกฎหมายทันที ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ซึ่งว่าด้วย บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

ถ้าอยากเขียนก็สามารถเขียนใส่กระดาษอะไรก็ได้ตอนนี้เลย”

เมื่อเดือนที่แล้ว ฉันได้ร่วมพูดคุยถึงหนังสือวาระสุดท้าย : คู่มือสบตาความตาย ก็คุยไปแบบปกติมากๆ ฉันรับหน้าที่เป็นพิธีกรคุยกับคุณหมอสองท่าน

ในประเทศไทยเองแนวคิดเรื่องสิทธิที่แพร่หลาย ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยตื่นตัว และมีการถามหาสิทธิกันมากขึ้น แม้กระทั่งสิทธิการตาย ซึ่งไทยเราได้สิทธินั้น “ในระดับหนึ่ง” แล้วจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับ 2550 มาตรา 12 ที่ว่าด้วยการปฏิเสธการรักษา ซึ่งคุณหมอทั้งสองท่านย้ำหลายครั้งว่านี่ไม่ใช่การการุณยฆาต แต่เป็นการแสดงออกถึงความต้องการของผู้ป่วยที่กำลังจะจากไป

แล้วก็มีน้องคนหนึ่งยกมือถามคุณหมอถึงเรื่อง 5 ขั้นตอนของอารมณ์เมื่อรับรู้ข่าวร้าย คุณหมอพัชรินทร์ก็อธิบายไป ว่ามันไม่ได้หมดจดเป็นขั้นเป็นข้อเช่นเดียวกับหลักการหรอก เราจะโกรธ เราจะต่อรอง เราจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ วนกลับไปกลับมา

คุณหมอฉันชายก็บอกว่า จริงๆ เราอาจทำตามความต้องการของเราเองเพื่อจะได้ไม่ต้องอึดอัดใจกับความตาย มากกว่าจะตามใจผู้ที่จะล่วงลับด้วยซ้ำ

แล้วอยู่ๆ ฉันก็จึ้ก จึ้กแบบแรงมากๆ ว่าเฮ้ย แม่ฉันตายแล้ว พ่อฉันตายแล้ว ฉันทำศพพ่อกับแม่มาแล้วในช่วงห่างเพียงสิบปี ไม่มีใครถามว่าทำได้ไหม ถึงเวลาก็มาเลย ป่วย เจ็บ ตาย

ทันทีที่รู้สึกแบบนั้น ก็เศร้าขึ้นมาทันที

เศร้าอย่างสุดหัวใจ

ฉันตามใจตัวเองมากไปหรือเปล่า คำถามนี้กลับมาอีกครั้งหลังจากหายไปหลายปีหลังความตายของพ่อ จริงๆ แล้วเป็นเราที่อึดอัดกับความตายจนรู้สึกโล่งใจเมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ จนลืมจะเศร้า

แต่พอเริ่มเศร้า ก็ไม่มีข้อแก้ตัวอื่นมาช่วยแล้ว

จบการพูดคุยก็ไปสวัสดีคุณป้าศรี (คุณหญิงจำนวนศรี หาญเจนลักษณ์) ที่เป็นผู้ฟังการเสวนา คุณป้าก็บอกว่าติดตามทรายในเฟซบุ๊กอยู่นะลูก

“หนูเป็นคนกล้าหาญ” ป้าศรีบอกและกุมมือเรา

น้ำตาฉันเอ่อกลบลูกตา แต่ต้องพยายามกล้ำกลืน

คนชื่ออินทิราไม่เคยรู้ว่าการแสดงอารมณ์ไหนในตอนไหนจึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง พอเหมาะพอควร ไม่สร้างความอึดอัดแก่ผู้พบเห็น และทันทีที่ความเศร้าบุกเข้าจู่โจม อินทิราก็รู้สึกพังทลาย แต่ก็บอกตัวเองว่านี่มันไม่ถูกต้อง

ทำไมไม่ถูกต้องก็ไม่รู้ แต่มันไม่ถูกต้อง นี่ไม่สมควร

ฉันแก่เกินกว่าจะไม่เข้าใจถึงชีวิต แต่ก็ไม่ได้ไปอยู่ในจุดที่กระจ่างแจ้ง คาราคาซังอยู่ระหว่างความครึ่งๆ กลางๆ ของสิ่งที่รู้และไม่รู้ สังขารพัง จิตก็สั่นคลอน เรากินยา ฉันหาหมอแล้วก็บอกตัวเองว่านี่ถูกต้องแล้ว น้ำหนักฉันขึ้นจนไม่รู้จะขึ้นยังไงแล้ว แผนการรักษาตัวทุกอย่างผิดไปหมด ฉันควรจะหยุดกินยาและกลับมาออกกำลังได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่พอแม่เสีย หมอก็ไม่อยากให้ฉันหยุดยา

แล้วแผนการก็พังทลาย

มันพังได้ง่ายเกินไปมั้ย? พังจากสิ่งที่ฉันก็รู้อยู่แล้วว่ามันต้องเกิดขึ้น คือความตายของแม่ มันไม่ควรจะส่งผลขนาดนั้น ไม่ควรตามฉันไปในฝัน ไม่ควรบดบังจิตใจและการรับรู้ของฉันขนาดนี้

จนวันหนึ่งฉันก็หยุดไปหาคุณหมอกายภาพของฉันเสียเฉยๆ สาเหตุก็งี่เง่ามาก คือได้เห็นคุณหมอโพสต์สเตตัสกึ่งประชดกึ่งเยาะเย้ยการยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง

น้ำเสียงนั้นออกไปในแนว “ดักคอ” น้องๆ วัยรุ่นที่หลายคนบอกว่าเป็นกำลังสำคัญของพรรคว่า ถ้าผลตัดสินออกมาแล้วน้องจะดิ้นเดือดกันขนาดไหน

แค่นั้นเอง ฉันก็โทร.ไปยกเลิกนัดคุณหมอเอาดื้อๆ และก็ไม่ได้ไปหาอีกเลยจนเข้าสู่เดือนใหม่

มันไม่เข้าท่า, ฉันรู้

และตอนที่พิมพ์งานอยู่นี้ฉันก็เจ็บ

แต่ฉันจะไม่ไปหาคุณหมออีก

ฉันว่ามนุษย์น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น อะไรที่มากกว่าชีวิต ความเชื่อบางอย่างที่ทำให้เราเป็นเรา และทำให้เราไม่เหมือนกัน

เมื่อวันก่อนที่ท่านผู้พิพากษาลั่นไกส่งกระสุนเข้าหัวใจตัวเองเป็นครั้งที่สอง ฉันก็เข้าใจเรื่องความต้องการที่จะตาย ความต้องการจากไปในหนทางที่เราได้เลือกเอง

มันคือศักดิ์ศรีของผู้ตาย

ในเมื่อทุกคนต้องตาย ความสง่างามเป็นสิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้

หนทางที่จะเดินสู่ความตาย เชิดหน้า สูดลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ก่อนปลิดปลิวไปเพื่อยืนยันคำมั่นของตัวเอง

วันหนึ่งที่แดดงาม ฉันนั่งเทสต์กลิ่นอโรม่า เพื่อค้นหากลิ่นที่จะสัมผัสหัวใจที่สุด

น้ำมันหอมถูกหยดลงกระดาษส่งถึงมือฉัน แผ่นแล้วแผ่นเล่าผ่านไป อีกแผ่นและอีกแผ่น

ฉันโบกมันไป-มาหน้าจมูกแล้วค่อยสูดกลิ่น

แล้วน้ำตาก็ร่วงพรู

กลิ่นนี้พาฉันกลับไปเป็นเด็กหญิงที่ซ่อนอยู่หลังโต๊ะเขียนบทของพ่อ แดดแบบนั้น กลิ่นแบบนั้น สัมผัสของพรมขนสั้นๆ กลิ่นกระดาษ หมึกพิมพ์ บุหรี่ และเสียงฝีเท้าของแม่ที่เดินเข้ามาตามฉันออกไปกินข้าว ก้ำกึ่งระหว่างเจอราเนียมและแพธชูลี่ กลิ่นอารมณ์และยามเย็น

วันที่ดมกลิ่นนั้นยังไม่มีเสียงฝีเท้าของแม่

มันเพิ่งกลับมาตอนนี้

แม่เดินตามฉันจนทันในที่สุด

หากฉันเป็นโรคร้าย ฉันจะเป็น จะยินดีต้อนรับมัน ไม่รื้อหาเหตุผล ไม่เปลี่ยนคำตอบ ขอเพียงประคับประคองตัวเองไปจนวาระสุดท้าย เป็นหนทางสู่ความตายที่ฉันเลือกแล้ว และขอให้ปฏิบัติตามความต้องการนี้ อาการเจ็บปวดขอให้ระงับไปด้วยยารักษาอาการนั้นๆ โดยไม่ต้องพยุงชีพฉันขึ้นมาใหม่เพื่อต่อความทรมาน

ในขณะที่เขียนเจตนารมณ์นี้ ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นปกติดีทุกประการ

มีนาคม, 2563

“วาระสุดท้าย : คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง” (Advice for Future Corpses* : A Practical Perspective on Death and Dying *and those who love them) เขียนโดย Salle Tisdale แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ Bookscape ตุลาคม, 2562