วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ต้าถังหลังสิ้นอู่เจ๋อเทียน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (ต่อ)

แต่ที่เป็นปัญหาของอู่เจ๋อเทียนกลับมิได้อยู่ที่ประเด็นจารีตประเพณี หากอยู่ที่พระนางทรงหลงใหลมานพหนุ่มที่เป็นนายในจนเกิดปัญหาขึ้น ด้วยนายในของพระนางได้วางตนเขื่องข่มเหงผู้อื่น ที่ต่างถือตนว่าเป็นที่โปรดปรานของอู่เจ๋อเทียน

ครั้นปัญหาลุกลามใหญ่โตจนต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา อู่เจ๋อเทียนกลับมิได้ลงโทษนายใน ได้แต่ปล่อยให้นายในของพระนางก่อเหตุต่อไป ราชการงานเมืองไม่น้อยจึงเสียไปเพราะเหตุนี้ การมีผู้ปรีชาสามารถมาเป็นเสนามาตย์จึงมิอาจพยุงให้เกียรติภูมิของอู่เจ๋อเทียนสูงเด่น

โดยหลังจากตี๋เหญินเจี๋ยสิ้นชีพไปใน ค.ศ.700 แล้ว อู่เจ๋อเทียนทรงตกอยู่ในความลุ่มหลงที่มีต่อนายในสกุลจังสองพี่น้อง และปล่อยให้นายในสองพี่น้องครอบงำราชการงานเมืองในวังหลวง จากเหตุนี้ ความไม่พอใจจึงเกิดขึ้นในเหล่าเสนามาตย์ การวางแผนเพื่อแก้ปัญหานี้จึงเกิดขึ้น

เวลานั้นคือ ค.ศ.705 เหล่าเสนามาตย์ได้นำกำลังทหาร 500 นายบุกเข้าไปยังที่พักของนายในสองพี่น้องที่ตั้งใกล้ตำหนักที่ประทับของอู่เจ๋อเทียน เมื่อสังหารทั้งสองแล้วจึงเข้าไปเฝ้าอู่เจ๋อเทียนพร้อมถวายรายงานเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าสองพี่น้องคิดก่อกบฏ

พร้อมกับทูลว่าถึงเวลาที่รัชทายาทจักต้องขึ้นครองราชย์แล้ว

ฝ่ายอู่เจ๋อเทียนเมื่อทรงทราบความแล้วหาได้โต้แย้งอันใดไม่ เหตุผลหนึ่งอาจเพราะพระนางทรงอยู่ในวัย 83 ชันษา และเข้าใจโดยถ่องแท้ว่าได้เกิดการรัฐประหารขึ้นแล้ว พระนางจึงได้แต่ยอมจำนนด้วยการมอบราชสมบัติให้แก่องค์รัชทายาทโดยดุษณี

ครั้นถึงเดือน 11 ปีเดียวกัน อู่เจ๋อเทียนก็สิ้นพระชนม์อย่างสงบ อันเป็นการปิดฉากราชวงศ์โจวไปในเวลาเดียวกัน

 

ข้อคิดคำนึงกรณีอู่เจ๋อเทียน

เรื่องของอู่เจ๋อเทียนถือเป็นกรณีหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันอย่างมากในหมู่นักวิชาการ การกล่าวถึงนี้มีทั้งในด้านบวกและด้านลบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน

ประเด็นที่เข้าใจได้ในเบื้องต้นก็คือ การกล่าวถึงในเชิงลบโดยสิ้นเชิงของบัณฑิตที่สมาทานลัทธิขงจื่อ ที่ชั้นแต่การเป็นอิสตรีแล้วเข้ามามีบทบาททางการเมืองก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดแล้ว

ดังนั้น หากเป็นการกล่าวถึงของฝ่ายนี้แล้ว ภาพลักษณ์ของอู่เจ๋อเทียนย่อมเลวร้ายอย่างเป็นด้านหลัก ซ้ำในบางด้านก็ยังชวนให้สงสัยด้วยว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ แต่ก็เห็นได้ชัดถึงการเน้นย้ำในด้านที่ว่าจนสังเกตได้

เช่น ในกลาง ค.ศ.648 ได้ปรากฏว่าดาวศุกร์ส่องประกายสว่างยาวนานและเห็นได้แม้ในยามกลางวัน และเมื่อถังไท่จงทรงให้โหราจารย์ในวังหลวงพยากรณ์ก็ได้ความว่า ต่อไปภายหน้าจักมีอิสตรีขึ้นสู่บัลลังก์จักรพรรดิเป็นเวลานาน 30 ปี และจักเข่นฆ่าวงศานุวงศ์ในสกุลหลี่จนแทบสิ้น

หรือเสียงลือเสียงเล่าอ้างในหมู่ราษฎรที่แพร่หลายในเวลานั้น ที่ว่าเมื่อพ้นจากจักรพรรดิรุ่นที่สามของถังแล้วจักมีอิสตรีขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง เป็นต้น

แรกเมื่อถังไท่จงทรงทราบคำพยากรณ์นั้น ก็ทรงมีดำริให้ประหารทุกคนที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นอิสตรีที่คำพยากรณ์กล่าวถึง แต่ครั้นคิดอีกด้านว่าเหตุอันจะเกิดขึ้นนี้คืออาณัติแห่งสวรรค์ที่มิอาจฝืน ราชดำรินี้จึงมีอันระงับไป

และไม่มีผู้ใดกล่าวถึงคำพยากรณ์นี้อีกเลย

 

เรื่องราวในราชสำนักดำเนินไปตามวิถีที่เป็นและเห็นอยู่ ตราบจนเมื่ออู่เจ้าได้เป็นมเหสีและราชชนนี เรื่อยไปถึงเป็นจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนจนสิ้นพระชนม์ การรื้อฟื้นคำพยากรณ์ขึ้นมากล่าวถึงจึงเกิดขึ้น หลังจากนั้นบทบาทของอู่เจ๋อเทียนก็จะถูกกล่าวถึงในเชิงวิพากษ์มากกว่าที่จะชื่นชม

ข้อวิพากษ์ที่ว่ามักกล่าวถึงความโหดเหี้ยมอำมหิต ความเจ้าเล่ห์ และความมักมากในกามเสวนกิจ เป็นต้น ทั้งๆ ที่พฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่ต่างกับจักรพรรดิที่เป็นบุรุษหลายองค์ได้กระทำมาก่อน

แต่ข้อวิพากษ์ดังกล่าวก็มีประเด็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แม้จะเป็นพฤติกรรมที่จักรพรรดิที่เป็นบุรุษก็กระทำ แต่หากจักรพรรดิองค์นั้นมีคุณูปการแล้วก็ดูเหมือนว่าพฤติกรรมที่เลวร้ายก็จะถูกกล่าวถึงตามปกติ ไม่มีถ้อยคำที่กล่าวประณามหรือแม้กระทั่งด่าทอ

แต่หากไม่มีคุณูปการอันใดแล้ว ข้อวิพากษ์ก็จะไม่ต่างกับที่อู่เจ๋อเทียนได้รับ

ทั้งๆ ที่อู่เจ๋อเทียนเองก็มีด้านที่เป็นคุณูปการอยู่ด้วย ความแตกต่างที่ผิดสังเกตเช่นนี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากที่อู่เจ๋อเทียนเป็นอิสตรี และมาจากที่พระนางมิได้สมาทานลัทธิขงจื่ออย่างเป็นด้านหลัก ซ้ำยังแสดงออกซึ่งการสมาทานลัทธิเต้าอีกด้วย

ทั้งนี้ ยังมินับที่อู่เจ๋อเทียนทรงเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มบุคคลที่เข้ามาเป็นเสนามาตย์ด้วยการสืบทอด ด้วยการใช้นโยบายรับเสนามาตย์ด้วยการสอบบัณฑิต

เหตุดังนั้น ข้อวิพากษ์ที่มีต่ออู่เจ๋อเทียนในด้านหนึ่งจึงมาจากเหล่าสาวกของลัทธิขงจื่อ

 

การวิพากษ์อู่เจ๋อเทียนในลักษณ์ดังกล่าวยังคงดำรงอยู่แม้เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และเริ่มมีการเปลี่ยนน้ำเสียงไปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษเดียวกันนี้ น้ำเสียงที่เปลี่ยนไปนี้โดยรวมแล้วจะกล่าวถึงอู่เจ๋อเทียนตามข้อเท็จจริง แยกบทบาทด้านดีกับด้านร้ายออกจากกัน

ในด้านดีจะเน้นไปที่นโยบายที่ก้าวหน้าของพระนาง ในด้านร้ายก็คือพฤติกรรมเชิงลบต่างๆ และเมื่อกล่าวถึงบนพื้นฐานข้อเท็จจริงเช่นนี้ ภาพรวมของอู่เจ๋อเทียนจึงมีด้านดีอยู่ไม่น้อย

แต่จะด้วยเหตุที่ด้านดีกับด้านร้ายที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันหรือไม่ก็ตามที ป้ายศิลาจารึกที่ตั้งอยู่หน้าสุสานของพระนางที่ฝังเคียงคู่กับถังเกาจงกลับว่างเปล่าไร้ตัวอักษร ชนในชั้นหลังได้แต่สันนิษฐานไปต่างๆ นานา

บ้างก็ว่าเป็นเพราะอู่เจ๋อเทียนทรงเชื่อว่าพระนางมีคุณูปการอันมากล้น จนมิอาจหาคำสรรเสริญมาจารึกได้เพียงพอจึงปล่อยให้ว่างไว้ บ้างก็ว่าเป็นเพราะพระนางทรงสำนึกในความผิดจึงปล่อยให้ว่างไว้ด้วยอับอาย บ้างก็ว่าเป็นเพราะพระนางทรงใจกว้างจึงปล่อยให้ว่างไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังมาจารึกเอาเอง ไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านร้าย

โดยหลังจากยุคสมัยอู่เจ๋อเทียนผ่านพ้นไปแล้ว ราชวงศ์ถังก็เข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง อันจัดเป็นช่วงครึ่งหลังของราชวงศ์นี้ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ ก่อนการล่มสลายจะมาถึง

 

เส้นทางการล่มสลายของถัง

มีทั้งความเหมือนและความต่างในเส้นทางการล่มสลายของฮั่นและถัง โดยความเหมือนจะอยู่ตรงทั้งสองราชวงศ์นี้ต่างเดินเข้าสู่การล่มในช่วงครึ่งหลังของราชวงศ์ ส่วนความต่างจะอยู่ที่ช่วงครึ่งหลังของฮั่นจะถูกแบ่งให้เป็นอีกยุคสมัยหนึ่ง แต่ถังมิได้ถูกแบ่งเช่นนั้น แม้จะมีช่วงหนึ่งที่ถูกคั่นด้วยบทบาทของอู่เจ๋อเทียนก็ตาม

แต่ช่วงนั้นน่าจะเปรียบได้กับการคั่นในลักษณ์เดียวกันของฮั่นในยุคหวังหมั่งมากกว่า

ความเหมือนและความต่างนี้ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันในหลายประการ ไม่ว่าจะความอ่อนแอของจักรพรรดิ การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิโดยกลุ่มบุคคลต่างๆ การก่อกบฏโดยชั้นชนต่างๆ หรือการฉ้อฉล เป็นต้น

กล่าวสำหรับถังแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เส้นทางการล่มสลายในช่วงครึ่งของราชวงศ์ที่กินเวลายาวนานราว 150 ปีนั้น ในด้านหนึ่งไม่เพียงจะสะท้อนให้เห็นถึงรากฐานที่ถูกวางไว้อย่างมั่นคงก่อนหน้านี้เท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นถึงการดิ้นรนเพื่อให้ราชวงศ์อยู่รอดในบางช่วงอีกด้วย

ถึงแม้เมื่อถึงที่สุดแล้วการดิ้นรนนั้นจะมิได้ช่วยให้ราชวงศ์อยู่รอดก็ตาม และต่อไปนี้ก็คือเส้นทางที่ยาวนานราว 150 ปีนั้น

 

ความรุ่งเรืองครั้งสุดท้าย

หลังจากที่เหล่าเสนามาตย์ยึดอำนาจจากอู่เจ๋อเทียนแล้ว ก็ได้มีการสถาปนาให้หลี่เสี้ยนซึ่งเป็นรัชทายาทขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยใช้พระนามเดิมว่าถังจงจง

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่พึงทบทวนด้วยว่า หลังถังเกาจงสิ้นพระชนม์นั้นถังจงจงได้ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน แต่แล้วก็ทรงถูกอู่เจ๋อเทียนถอดถอนแล้วตั้งให้โอรสหลี่ตั้นเป็นจักรพรรดิถังญุ่ยจง ครั้นอู่เจ๋อเทียนคิดที่จะตั้งตนเป็นจักรพรรดินี ถังญุ่ยจงก็ทรงสละตำแหน่งจักรพรรดิให้อู่เจ๋อเทียนแล้วลดตนลงมาเป็นรัชทายาทดังเดิม

จากความเดิมที่ทบทวนมานี้มีประเด็นที่พึงขยายความต่อว่า เมื่ออู่เจ๋อเทียนทรงปกครองไปจนถึง ค.ศ.698 อันเป็นช่วงหลังจากที่ขุนนางผู้ฉ้อฉลที่ใส่ร้ายตี๋เหญินเจี๋ยถูกประหารชีวิต และมีการฉลองการตายของเขาทั่วเมืองหลวงนั้น อู่เจ๋อเทียนก็ทรงมีดำริที่จะตั้งให้บุคคลในสกุลอู่เป็นรัชทายาท

แต่ได้รับการคัดค้านจากตี๋เหญินเจี๋ย ว่าบุคคลที่ควรเป็นรัชทายาทคือหลี่เสี้ยน ที่หลังจากถูกถอดจากจักรพรรดิก็ถูกส่งตัวไปประจำอยู่เมืองชายแดน และด้วยความไว้วางใจในตี๋เหญินเจี๋ย อู่เจ๋อเทียนจึงทรงให้เรียกตัวหลี่เสี้ยนกลับมายังเมืองหลวง จากนั้นก็ตั้งหลี่เสี้ยนให้เป็นรัชทายาทแทนหลี่ตั้น และเมื่ออู่เจ๋อเทียนถูกยึดอำนาจจนต้องลงจากราชบัลลังก์ รัชทายาทหลี่เสี้ยนจึงได้ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ

และใช้พระนามเดิมเมื่อเป็นจักรพรรดิครั้งแรกใน ค.ศ.684 ว่า ถังจงจง