#SURFACE การสำรวจลึกภายใต้พื้นผิวความคิด (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ผลงานอีกชิ้นของสันติ ลอรัชวี ในนิทรรศการ #SURFACE เป็นการนำเสนอผลงานด้วยกระบวนการคล้ายกับประติมากรรมฉีกกระดาษของลัทธพล แต่ถูกนำเสนอออกมาในมุมมองแบบนักออกแบบ กล่าวคือ สันติใช้มีดกรีดกระดาษที่มีความหนา 500 แกรม โดยไม่ให้ขาด แล้วค่อยๆ ลอกกระดาษให้เผยอออกมาคล้ายกับการปอกเปลือก เพื่อแสดงชั้นของ “พื้นผิว” ของกระดาษแผ่นนี้ให้ปรากฏออกมา

โดยในวันเปิดนิทรรศการมีการแสดงสด “การลอกกระดาษ” ให้ชม

พอชมกระบวนที่ว่านี้แล้วทำให้รู้สึกว่ามันช่างคล้ายคลึงกับการทำสมาธิอยู่ไม่หยอกทีเดียว

ส่วนผลงานชิ้นสุดท้ายของสันติ เป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมสีขาวอันเรียบง่าย ที่ครึ่งหนึ่งเคลือบผิวไฮกลอสมันเงาแวววาว อีกครึ่งทาสีอะครีลิกสีขาวผิวด้าน

นอกจากจะแสดงถึงสภาวะตรงข้ามของพื้นผิวมันวาวและหยาบด้านแล้ว ผลงานชุดนี้ยังแสดงถึงกระบวนการทำงานในกระบวนการอุตสาหกรรม (การเคลือบผิวไฮกลอส) และการทำงานในรูปแบบหัตถกรรม (การทาสีอะครีลิกด้วยมือ) นั่นเอง

ต่อด้วยผลงานของแมรี่ ภาคินี ศิลปินนักวาดภาพเหมือนจริง ผู้สนใจการวิเคราะห์และศึกษาเรื่องราวความสัมพันธ์และความใกล้ชิดในรูปแบบต่างๆ โดยใช้การวาดเส้นด้วยสีไม้และสีพาสเทล

โดยผลงานชิ้นแรกของเธอ อย่าง My Hands Remember How Your Body Felt (No.5) (2016) ที่เคยแสดงในนิทรรศการ BRANDNEW Art Project ปี 2016 และผลงาน Untitled (2018) ที่สำรวจความสัมพันธ์ของเธอกับคนรัก (เก่า) ด้วยการใช้ผิวหนังของเขาและเธอ เป็นวัตถุตัวแทนของความรักและความใกล้ชิด

แต่สีที่ใช้วาดภาพผิวหนังทั้งสองภาพ หาใช่สีไม้หรือสีพาสเทลที่เธอใช้ตามปกติไม่

หากแต่เธอใช้เครื่องสำอางในการวาดภาพ ด้วยความที่เธอชอบแต่งหน้า และเครื่องสำอางก็เป็นวัตถุที่ใกล้ชิดกับผิวคนเราที่สุดแล้ว

ผลงานอีกชิ้น อย่าง Hair (2020) ดูเผินๆ คล้ายกับกระดาษที่มีเส้นขนหยิกหยอยติดอยู่เส้นหนึ่ง (ไม่บอกก็คงนึกกันออกว่าขนอะไร)

แมรี่ภาคินี: Hair (2020)

แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วก็พบว่ามันเป็นภาพวาดลายเส้นเหมือนจริงของขนบนกระดาษต่างหาก!

ผลงานชิ้นนี้เกิดจากความหมกมุ่นของเธอเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง ผนวกกับการได้อ่านหนังสือ “เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ” ของธเนศ วงศ์ยานนาวา เธอจึงวาดภาพ “ขน” เส้นนี้ขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามว่า “ถ้ามีขนแล้วยังจะเป็นศิลปะได้หรือไม่?”

ในขณะเดียวกันเธอยังต้องการท้าทายขนบธรรมเนียม ค่านิยมอันดีงามของไทย ที่คาดหวังว่าผู้หญิงต้องสงบเสงี่ยมเรียบร้อยและไม่พูดถึงเรื่องเพศเป็นอันขาด

ในขณะที่ผลงานชิ้นสุดท้าย Brazilian (2020) ภาพวาดเหมือนจริงของแมงมุมบราซิล ที่นอกจากขนยุ่บยั่บของมันจะทำให้นึกไปถึงขนในที่ลับ หรือชื่อของมันจะชวนให้เราระลึกถึง “บราซิลเลี่ยนแวกซ์” หรือการกำจัดขนจุดซ่อนเร้นแล้ว

แมรี่ภาคินี: Brazilian (2020)

ศิลปินยังได้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้มาจากข้อมูลที่เธอพบว่า อาการหวาดกลัวและรังเกียจขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนในที่ลับของผู้หญิงนั้นมีความเชื่อมโยงกับโรคกลัวแมงมุม (Arachnophobia)

ที่น่าสนใจก็คือ การวางผลงานชิ้นนี้ในตำแหน่งต่ำเตี้ยติดพื้นนั้นกระตุ้นความรู้สึกแปลกๆ ในการชมงานได้ดีทีเดียว

ย้ายมาที่ห้องแสดงงานห้องที่สอง เมื่อย่างเท้าเข้าห้องเราก็พบกับผลงาน exi t (2020) ของหิรัญพฤกษ์ ไตรจักรภพ ผู้เชี่ยวชาญงานไม้ ผลงานประติมากรรมจัดวางชิ้นนี้สะท้อนตัวตนของหิรัญพฤกษ์ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังในการช่วยสร้างผลงานให้ศิลปินหลายต่อหลายคน

ด้วยการใช้กระจกเงาเป็นวัตถุที่ปรากฏตัวอยู่ด้านหน้า เพื่อส่องสะท้อนให้ผู้ชมมองเห็นตัวเอง มากกว่าจะเห็นการมีอยู่ของผู้สร้างงาน เพราะการอยู่หลังฉากปลอดจากแสงไฟสาดส่องนั้นเป็นสถานที่ปลอดภัยของเขา

ในขณะเดียวกันโครงสร้างที่พยุงกระจกอยู่ด้านหลังก็แสดงถึงความประณีตเชี่ยวชาญในสิ่งที่หิรัญพฤกษ์ยึดเป็นวิชาชีพ นั่นก็คือการทำงานไม้ร่วมกับวัสดุข้างเคียงอื่นๆ นั่นเอง

อันที่จริงเขาก็ไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าเราจะเรียกผลงานชิ้นนี้ของเขาว่าเป็นศิลปะหรือเปล่าน่ะนะ!

นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นเหมือนบทสนทนาระหว่างเขากับตาที่เขาเพิ่งรู้ว่าเคยเป็นช่างไม้และช่างกระจกอีกด้วย

ตามมาด้วยผลงาน รัธวลี ชาญชวลิต ที่เกิดจากการใช้หัวปากกาขนาดเล็กและเข็มหมุดค่อยๆ จุดและเจาะลงบนวัสดุต่างๆ อย่างแผ่นกระดาษเล็กๆ มวลกระดาษ แท่งชอล์ก หรือแผ่นฟิล์มโพลารอยด์ ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นจุดสีดำและร่องรอยรูพรุนบนพื้นผิววัสดุ สร้างน้ำหนักพื้นผิว หรือแม้แต่ปริมาตรใหม่ให้กับวัสดุเหล่านั้น

รัธวลีชาญชวลิต: No#6-No#7-No#8 (2019

นอกจากจะเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของวัตถุเหล่านั้นด้วยกระบวนการนี้แล้ว ผลงานของเธอยังตั้งคำถามกับเราถึงเส้นแบ่งระหว่างงานวาดเส้นและงานประติมากรรม งานสองมิติและงานสามมิติ และการหยิบเอาข้าวของธรรมดาสามัญรอบๆ ตัวแปรเปลี่ยนความหมายใหม่ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมชะลอกระบวนการรับรู้

และซึมซับถึงคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ต่อด้วยผลงานของพิพัฒน์พงศ์ ศรีเพ็ง หนุ่มนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้มักจะทำงานที่มีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ เพลง หรือหนังสือที่เขาสนใจ

ในนิทรรศการครั้งนี้เขาแสดงผลงานศิลปะในรูปของมิวสิกวิดีโอแอนิเมชั่นชื่อ Perfect Places (2020) หรือการวาดภาพทับฟุตเตจวิดีโอศิลปินเต้นและลิปซิงก์ประกอบเพลง Perfect Places ของ Lorde นักร้องนักแต่งเพลงชาวนิวซีแลนด์ (ที่เขาให้เพื่อนนักดนตรีคัฟเวอร์ขึ้นมาใหม่) กับคลิปที่ตัดมาจากหนัง Coming of Age หรือหนังวัยรุ่นก้าวข้ามผ่านพ้นวัย

พิพัฒน์พงศ์ ศรีเพ็ง Perfect Places (2020)

ผลงานชิ้นนี้ของพิพัฒน์พงศ์นอกจากจะแสดงความเชื่อมโยงวัฒนธรรมสมัยนิยมเข้ากับความคิดหรือประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งเรื่องราวครอบครัว เพศสภาพ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความสงสัยเกี่ยวกับตัวตนและการทำความรู้จักกับตนเอง รวมถึงการพยายามเข้าใจและก้าวผ่านการเติบโต และเรียนรู้ที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้ว

มันยังเป็นเหมือนการต่อสู้กับอคติ การแปะป้ายตีตรา และการมองภาพลักษณ์แค่เพียงผิวเผินจากเปลือกนอก ด้วยความเข้าใจที่แตกต่างในช่องว่างระหว่างวัย ว่าวัยรุ่นต้องเพ้อฝัน จับจด และไม่อดทน หรือคนแก่ต้องหัวโบราณ ดักดาน และใจแคบ

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว คนแก่ในวันนี้ ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน

ส่วนวัยรุ่นในวันนี้ ก็ต้องกลายเป็นคนแก่ในอนาคตสักวันหนึ่ง

ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยผลงานชิ้นนี้ ศิลปินอยากกระตุ้นให้เราหยุดฟังและมองลึกเข้าไปภายใต้เปลือกเหล่านั้น ไม่แน่ว่าเราอาจจะค้นพบความจริงบางอย่างที่ตอบคำถามในใจของเราก็เป็นได้

ท้ายสุด กับผลงานของกนกนุช ศิลปวิศวกุล ศิลปินและนักออกแบบผู้สร้างสรรค์ผลงานจากกระดาษด้วยการผสมผสานเทคนิค วิธีการพับ ตัด ฉลุกระดาษ การเย็บปัก และการทอผ้าประกอบร่วมอยู่ในผลงาน

ในนิทรรศการครั้งนี้เธอนำผลงาน The River has No Return (2020) ซึ่งต่อยอดมาจากผลงาน สายน้ำกระดาษ ประติมากรรมดีไซน์ที่เป็นต้นแบบของภาพบนปกหนังสือสิทธารถะ ฉบับพิเศษ ของสำนักพิมพ์ Openbooks ด้วยการนำกระดาษที่เป็นพื้นผิวสองมิติมาทำให้กลายเป็นประติมากรรมสามมิติด้วยการสร้างรอยยับย่นให้ดูเหมือนระลอกคลื่นบนผิวน้ำ

กนกนุชศิลปวิศวกุล: The River has No Return (2020)

เธอนำผลงานชิ้นนี้มาปรับเปลี่ยนลักษณะให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของพื้นที่แสดงงาน ด้วยการวางกระดาษทอดยาวไปบนพื้นห้องแสดงงานราวกับลำธาร ร่องรอยบนพื้นผิวลำธารกระดาษไล่ระดับ แปรเปลี่ยนจากระลอกคลื่นกระเพื่อมสั่นไหวไปสู่ความราบเรียบสงบนิ่ง

เช่นเดียวกับชื่องานที่สะท้อนสัจธรรมของชีวิตที่ว่า “กาลเวลาและสายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ สถานะของกระดาษก็เช่นกัน”

ที่สำคัญ ในวันเปิดนิทรรศการ ยังมีการแสดงสดจากแขกรับเชิญอย่างมาโนช พุฒตาล นักร้อง นักดนตรี และนักจัดรายการดนตรีชื่อดังมาร่ายลำนำและขับขานบทเพลง “ลำธาร” ของเขาประกอบผลงานกันแบบสดๆ อีกด้วย

ด้วยส่วนผสมอันกลมกล่อมลงตัวระหว่างศิลปะและดีไซน์ เสน่ห์ในความแปลกใหม่ทำให้นิทรรศการนี้เป็นอีกนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด ถึงแม้จะอยู่ไกล แต่ก็ยังคุ้มค่าที่จะไปชมอย่างยิ่ง

นิทรรศการ #SURFACE จัดแสดงที่ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG) ชั้น 2 อาคาร C6 (หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Main Campus รังสิต ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 8 พฤษภาคม 2563 จัดแสดงเวลา 09.00-17.00 น. (หยุดวันอาทิตย์และจันทร์)

ขอบคุณภาพจากหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG)