ย้อนรอย 1 ปี ยุบ “ไทยรักษาชาติ” จับตาอนาคต “คณะอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล”

ครบ 1 ปี เหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติพร้อมกับตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

นี่เป็นโดมิโนหลังจากอดีตพรรคการเมืองดังกล่าวเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” จนนำมาซึ่ง “อาฟเตอร์ช็อก” ทางการเมืองต่อ “ทักษิณ ชินวัตร” และเครือข่ายหลายเหตุการณ์

ผ่านมา 1 ปี หลายคนคงสงสัยว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคและแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งต้องยุติบทบาททางการเมืองเป็นเวลายาวนานหนึ่งทศวรรษนั้นทำอะไรกันอยู่บ้าง?

เริ่มจาก “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” อดีตหัวหน้าพรรค ที่เงียบหายจากแวดวงการเมือง โดยใช้เวลานี้อยู่กับครอบครัว ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก พบปะกับอดีตกรรมการบริหาร ทษช.ในบางโอกาส รวมทั้งมีการโพสต์ข้อความรำลึกถึงพรรค

“หนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นเวลาที่ไม่ง่ายและต้องปรับตัวพอสมควร ถือเป็นบททดสอบในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต แม้จะยากแต่ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะชีวิตคือการเดินทาง อาจมีล้มลุกคลุกคลาน สมหวังหรือผิดหวังบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งทุกคนต่างมีความหวังและความฝัน หากมีจิตใจมุ่งมั่นและแน่วแน่ บนพื้นฐานความคิดที่ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ซื่อตรงต่อความเชื่อและอุดมการณ์ ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ผมเชื่อว่าสักวันความปรารถนานั้นจะเป็นจริง” ร.ท.ปรีชาพลกล่าว

ส่วน “มิตติ ติยะไพรัช” อดีตเลขาธิการพรรค ก็หวนคืนบ้านเกิดที่เชียงรายและลดบทบาททางการเมืองลงไป โดยกลับมาทำทีมฟุตบอล ในฐานะประธานที่ปรึกษาสโมสรสิงห์เชียงราย ยูไนเต็ด แชมป์ไทยลีกฤดูกาลล่าสุด รวมทั้งได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด

“ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” อดีตนายทะเบียนพรรค ถือเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมากที่สุดในบรรดากรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์

เธอยังคงพบปะกับกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ตามโอกาสต่างๆ ใช้เวลาว่างนี้อยู่กับครอบครัว โดยยังบินไปพบ 2 อดีตนายกฯ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” บ่อยๆ ในฐานะหลานสาว รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหาร และเข้าร่วมงานวิ่งไล่ลุง

“แซน ชยิกา” กล่าวถึงวาระครบรอบ 1 ปี ในการยุบพรรคไทยรักษาชาติว่า “แม้สถาบันพรรคไทยรักษาชาติจะเปลี่ยนไป แต่จิตวิญญาณและความตั้งใจที่อยากจะเห็นคนไทยอยู่ดีกินดียังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง และแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะนักการเมือง แต่ยังคงมีความฝันและความหวังที่จะทำงาน หรือเป็นหนึ่งในการสร้างโอกาสและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเสมอ”

ขณะที่อดีตโฆษกพรรค “พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ” ได้กลับไปเป็นพิธีกรรายการข่าวประมาณ 4-5 เดือน ก่อนจะบินไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส

นอกจากนี้ พรรคไทยรักษาชาติยังมีเหล่าผู้อาวุโสที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคอีกหลายราย

เช่น “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตประธานยุทธศาสตร์ ที่ได้รับฉายาว่า “เจ้าพ่อทวิตเตอร์” เพราะใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารสม่ำเสมอและไม่ตกเทรนด์

“จาตุรนต์” ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตระเวนไปร่วมงานเสวนาต่างๆ และแม้จะไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่เขาก็ไม่ได้หวนกลับไปยังพรรคเพื่อไทย

ด้าน “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงก็ยังคงจัดรายการเกี่ยวกับการเมืองผ่านเพจและยูทูบของตัวเอง พร้อมทั้งจัดรายการพาไปชิมอาหารตามร้านต่างๆ และทำโครงการบริจาคทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนผ่านทีมงาน “ด้วยรักและแบ่งปัน”

อีกรายที่น่าสนใจคือ “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรค ที่เป็นอีกหนึ่ง “เจ้าพ่อโซเชียล” โดยได้วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ย้อนกลับไปช่วงหลังการยุบพรรคไทยรักษาชาติ แกนนำพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้ตั้ง “กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย” นำโดย “จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ-พิชัย” แล้วเดินสายปราศรัยในจังหวัดต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพื่อโกยคะแนนให้กับฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

นั่นคือ “พรรคพี่” อย่างพรรคเพื่อไทย และ “พรรคเพื่อน” อย่างพรรคอนาคตใหม่

เวลานั้นการ “เลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์” ต้องปรับเปลี่ยนจากการจับคู่ “เพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ” มาเป็น “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” เป็นผลผูกโยงมาจากการสลับกันลงสมัคร ส.ส.เขต ของพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ

ดังนั้น เขตที่ผู้สมัครไทยรักษาชาติถูกตัดสิทธิ์และไม่มีตัวเลือกจากเพื่อไทยลงแข่ง จึงต้องเกิดปรากฏการณ์เทคะแนนให้อนาคตใหม่

ทั้งนี้ “กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย” ได้ยุติบทบาทลงหลังการเลือกตั้ง

เวลาผ่านไปเพียงปีเดียว พรรคอนาคตใหม่ต้องประสบชะตากรรมถูกยุบพรรคไม่ต่างพรรคไทยรักษาชาติ แต่เส้นทางของสองพรรคกลับแตกต่าง เนื่องจากจุดเริ่มต้นคือ “ข้อหายุบพรรค” ที่ไม่เหมือนกัน

อดีตไทยรักษาชาติจึงจำเป็นต้องลดบทบาทตัวเอง ผิดกับอดีตอนาคตใหม่ที่ยังคงเดินหน้าต่อ

หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรค ได้ประกาศ 3 แนวทางในอนาคต ได้แก่ การตั้งพรรคการเมืองใหม่รองรับ ส.ส.หลายสิบชีวิต การตั้งคณะอนาคตใหม่ทำงานการเมืองนอกสภา และการตั้งมูลนิธิเกี่ยวกับการศึกษาและสิ่งแวดล้อม

โดยมีการส่งมอบภารกิจนำพรรคการเมืองพรรคใหม่ให้แก่ “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อนที่ “พิธา” จะแถลงเปิดตัวพรรคก้าวไกล ซึ่งร่วมทัพโดย 55 ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่

“ขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่า แม้จะอยู่บ้านหลังใหม่ แต่จิตใจยังเหมือนเดิมคือเราอยู่กับประชาชนและประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ การรัฐประหาร และผลักดันนโยบายก้าวหน้า” พิธากล่าว

ขณะที่ 3 ภารกิจของ “คณะอนาคตใหม่” ตามการเปิดเผยของ “ธนาธร” จะได้แก่

1. การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น แบบที่ทำมาแล้วในสนามการเมืองระดับชาติ

2. ด้วยเชื่อว่าความคิดแข็งแกร่งกว่าปืน บัตรเลือกตั้งแข็งแกร่งกว่ากระสุน จะรณรงค์สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งในมหาวิทยาลัย ชุมชน สมาคมการค้า และสมาพันธ์เกษตรกร ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพราะหากชนะสมรภูมิทางความคิดได้ ก็จะชนะทุกสมรภูมิ เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ยุคหลัง พล.อ.ประยุทธ์

3. สร้างเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด ในนามเครือข่ายของคนที่ต้องการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย

หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้เกิดการชุมนุม “แฟลชม็อบ” ของนิสิตนักศึกษา นักเรียนจากหลายสถาบัน ซึ่งประเด็นที่ชูขึ้นมานั้นได้ก้าวข้ามอดีตพรรคอนาคตใหม่ แต่ชี้ให้สังคมตระหนักถึง “อำนาจเผด็จการ” ที่จะต้องต่อสู้

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มนิสิต นักศึกษา นักเรียนเหล่านี้เป็นฐานเสียงสำคัญของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ “New Voter” และปรากฏการณ์แฟลชม็อบก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังรัฐบาลไม่น้อย กระทั่งต้องพยายามสร้างกระบวนการรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่ขึ้นมา

ดูคล้าย “พรรคก้าวไกล” และ “คณะอนาคตใหม่” กำลังจะฉายแสงประชาธิปไตยแทนพรรคเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ ทว่าอนาคตก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

คงต้องจับตาดูว่า “ภาพยนตร์การเมือง” เรื่องนี้จะจบลงแบบไหน?