เศรษฐกิจ/’ลุงตู่’เบรกกองทุนพยุงหุ้นหัวทิ่ม เข้าขั้น ‘โคม่า’ ก็ต้องรอไปก่อน จบศึก ‘โควิด-19’ ค่อยมาว่ากัน

เศรษฐกิจ

‘ลุงตู่’เบรกกองทุนพยุงหุ้นหัวทิ่ม

เข้าขั้น ‘โคม่า’ ก็ต้องรอไปก่อน

จบศึก ‘โควิด-19’ ค่อยมาว่ากัน

 

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงเต็มสูบ หลังเจออุบัติการณ์เชื้อโรคตัวใหม่ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งกำเนิดมาจากจีน ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ต้องออกมาประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อร้ายนี้ กลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก

โดยสถานการณ์ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อในอัตราเร่งที่ประเทศสหรัฐ และประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งดับเบิลยูเอชโอก็ได้ประกาศเตือนอีกว่า ยุโรปกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นรุนแรง

สวนทางกับจีนที่มีจำนวนลดน้อยลง และออกมาประกาศแล้วว่าสามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้แล้ว

ไม่เพียงทั่วโลกจะกังวลต่อสุขภาพแต่กลายเป็นว่าส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย

เพราะเชื้อโรคโควิด-19 กระจายไปเกือบจะทั่วโลก เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ ส่งผลต่อการจัดกิจกรรมของคนหมู่มาก

ธุรกิจหลายอย่างจึงแทบจะชะงัก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่มีหลายธุรกิจเกี่ยวพัน จึงกระทบรวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งโลกใบนี้

และแน่นอนว่า ตลาดทุนเซนส์ไว ตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนีแข่งกันร่วง ตลาดหุ้นไทยจึงย่อมผันผวนหนัก

 

ตั้งแต่ต้นปี วันที่ 1 มกราคม ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,595.82 จุด แต่ ณ ปัจจุบัน วันที่ 16 มีนาคม ดัชนีหล่นเหลือ 1,046.08 จุด ปรับลดลงแล้วกว่า 549.74 จุด

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนก (แพนิก) จนเทขายหุ้นในมือ เพื่อถือครองเงินสดให้มากที่สุด

จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องใช้มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ ต่อเนื่องกัน 2 วันในสัปดาห์เดียว เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคมที่ผ่านมา

ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์หุ้นไทย

แต่ก็ถือว่าไม่มีใครน้อยหน้าใคร เพราะนอกจากไทยที่ต้องงัดเซอร์กิตเบรกเกอร์มาใช้แล้ว ตลาดหุ้นต่างชาติก็ต้องงัดมาใช้เช่นกัน หลังจากดัชนีหุ้นดิ่งหนักในช่วงที่ผ่านมา

โดยล่าสุดตลาดหุ้นสหรัฐใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ถี่ๆ เพื่อพักการซื้อขายชั่วคราว หลังจากดัชนีหุ้นทรุดตัวลงอย่างหนัก

สาเหตุมาจากนักลงทุนแพนิกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นาน ดัชนีดาวโจนส์ได้ปรับตัวลดลง 2,250.46 จุด หรือ 9.71% มาอยู่ที่ 20,935.16 จุด ส่งผลให้ต้องพักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที

เป็นการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต!

 

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนในขาลง สาเหตุมาจากนักลงทุนวิตกกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้น

ส่วนในประเทศไทยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบเป็นกลุ่ม และต้องจับตาดูว่าอาจจะมีการประกาศให้โควิด-19 ระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่ประเมินไว้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลงสู่ระดับ 0.00 – 0.25% เทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยในช่วงวิกฤตปี 2551

พร้อมกับอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณการเงิน (คิวอี) วงเงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงให้กรอบดัชนีแกว่งตัวในระดับ 970-1,100 จุด

จากภาพที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ดัชนีหุ้นอาจจะเคลื่อนไหวหลุดระดับ 1,000 จุดได้ หลังจากเคยปรับลดลงแตะระดับ 969.08 จุด ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 จากสภาพตลาดหุ้นทั่วทั้งโลกดูสาหัสไม่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งที่พื้นฐานหรือโครงสร้างต่างๆ ดูดีกว่ามาก

ทำให้ภาครัฐต้องสรรหาทุกคัมภีร์ ทุกมนตรา เพื่อฟื้นคืนชีพตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

 

โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มีคำสั่งให้เร่งจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพทางตลาดทุน หรือกองทุนพยุงหุ้น เพื่อดูแลตลาดทุนไทยจากภาวะที่ตลาดหุ้นไม่ปกติ

ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง เพราะหุ้นสหรัฐและยุโรปตกอย่างรุนแรง

แม้ตลาดทุนไทยจะมีพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ในช่วงที่ทั่วโลกตื่นตระหนก ไทยจะต้องดูแลตลาดทุนให้ดีที่สุด

แต่ดูเหมือนว่าตัวช่วยที่วางไว้ จะไม่ได้ดั่งใจหวัง เหตุเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปิดประตูทุกบานของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอุ้มตลาดหุ้นทั้งหมด

เนื่องจากต้องการทุ่มเททุกสรรพกำลังและงบประมาณทั้งหมด ให้กับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้ก่อน

ทำให้แนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นต้องพับไว้ก่อน เพราะยังไม่มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน แต่เล็งใช้งบฯ เป็นแสนล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่าในภาวะเช่นนี้ งบประมาณไม่สามารถใช้ได้แบบไม่อั้น เพราะยามนี้คงไม่สามารถเปย์ได้เท่าที่ควร

แม้ตัวช่วยที่วางไว้จะถูกพับเก็บไป แต่ไม่ใช่ใครทุกคนที่เห็นด้วยกับนายสมคิด อย่างนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การจะตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพื่อแก้ปัญหาความผันผวนในตลาดหุ้น หากจะตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นจริง รัฐบาลก็ควรตั้งกองทุนพยุงชีวิตจากพิษเศรษฐกิจตามกฎหมายขึ้นด้วย

เพราะขณะนี้มีปัญหาคนหางานทำไม่ได้ ตกงาน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ธุรกิจปิดกิจการ ซ้ำเติมด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดวิกฤตหนี้ วิกฤตชีวิต จนมีคนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนไม่น้อย

ซึ่งในหลายกรณีหากมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแบบทันท่วงที ก็น่าจะทำให้ผ่อนคลายความกดดันลงได้

โดยในขั้นแรกอาจจัดสรรงบประมาณตั้งกองทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แม้อาจไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกราย แต่ก็ยังดีที่ได้ทำ

ซึ่งหากรัฐสามารถพยุงหุ้นได้ ก็ควรพยุงชีวิตของประชาชนที่เดือดร้อนด้วย

 

อีกคนคือนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองแนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นไม่มีใครในโลกเขาทำกัน เนื่องจากหุ้นเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่การผลิตที่จ้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชน

รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะเลือกลงทุน รู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงสูง ราคาหุ้นจะปรับขึ้นๆ ลงๆ เหวี่ยงมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลก โดยมองว่าไม่มีรัฐบาลใดในโลกสามารถอุ้มตลาดหุ้นของตนเองได้

และการอุ้มก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นใดๆ ต่อใครนอกจากตนเองและนายทุน

ซึ่งการที่รัฐบาลคิดจะอุ้มตลาดหุ้น คือการเอาภาษีประชาชนไปเล่นหุ้น สูญเสียเงินเป็นจำนวนมากให้กับนายทุนและนักลงทุนทั่วโลก

ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วในปี 2539-2540 โดยขณะนั้นรัฐบาลทำให้กองทุนพยุงหุ้นรัฐบาลขาดทุนเป็นจำนวนมาก