วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /อุดม สีสุวรรณ จากแหล่งข่าวภายนอกและภายใน

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

อุดม สีสุวรรณ จากแหล่งข่าวภายนอกและภายใน

 

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับเช้าวันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ.2525 พาดหัวข่าวตัวโป้งว่า

อุดม สีสุวรรณ มอบตัว / สมัชชา 4 พคท.แตกหัก-หัวโปรยตัวเล็กว่า “เผยจะตามมาอีกหลายคน เชื่อมั่นนโยบาย 66/2523”–รายละเอียดของข่าว

พล.ต.ต.อารีย์ กะรีบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผย “มติชน” เมื่อวันที่ 6 กันยายน ว่า ได้รับการติดต่อขอมอบตัวของนายอุดม สีสุวรรณ กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กันยายนนี้ และตนได้ส่งมอบตัวให้ศูนย์ซักถามเรียบร้อยแล้ว

พล.ต.ต.อารีย์กล่าวว่า จากการสอบถามในเบื้องต้น นายอุดมได้ตัดสินใจเข้ามอบตัวแก่รัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีคำสั่ง 66/2523 รองรับเป็นนโยบายที่ยอมให้บุคคลเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ตามวิถีทางอันถูกต้อง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติสอดคล้องกับนโยบาย จึงมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามามอบตัวโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งกล่าวด้วยว่า นอกจากนายอุดมแล้วยังจะมีผู้เข้ามอบตัวอีกจำนวนหนึ่งแต่ไม่ทราบเท่าใด

รายงานข่าวเปิดเผย “มติชน” ว่า นายอุดมได้เข้ามอบตัวครั้งนี้มีญาติพี่น้องที่สนิทสนมและได้เข้าร่วมงานกับ พคท.รวม 12 คน โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับผู้นำระดับสูงของพรรคในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 4 ซึ่งมีขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยนายอุดมเห็นว่าผู้นำพรรคที่มีอำนาจบางคนพยายามครอบงำพรรคโดยไม่ยอมรับฟังเหตุผลคนอื่น

นายอุดมอายุ 62 สุขภาพไม่สู้แข็งแรงนัก ยังมีอาการป่วยเป็นโรคปอดบวม

 

นายอุดม สีสุวรรณ เกิดเมื่อ พ.ศ.2463 ใช้ชีวิตเบื้องต้นที่จังหวัดลำปาง ไม่ปรากฏว่าศึกษาอยู่ที่ใดในเมืองไทย เป็นสมาชิก พคท.รุ่นแรกๆ เคยเดินทางไปศึกษาในจีนตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมีศูนย์กลางที่เยนอาน เมื่อกลับมาประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการวางรากฐานทฤษฎีของ พคท.ในหลายๆ ด้าน

หนังสือ “ไทยกึ่งเมืองขึ้น” นายอุดมเขียนในนามปากกา “อรัญญ์ พรหมชมภู” มีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติประเทศไทย ด้วยนามปากกา “อ.พ.” แปล ว่าด้วยการปฏิวัติของเหมา เจ๋อตุง “ขุนดง” เขียนวิจารณ์การเมืองในนิตยสารรายปักษ์ของ พคท. เมื่อ พ.ศ.2489-2498

ข้อเขียนที่มีชื่อมากของนายอุดมได้แก่ “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” โดยใช้นามปากกาว่า “พ. เมืองชมพู” ลงพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “มหาชน” รายปักษ์ ประมาณปี 2489 และด้วยนามปากกา บรรจง บรรเจิดศิลป์ นายอุดมใช้เขียนเกี่ยวกับศิลปวรรณคดี ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชนคือ “ชีวิตกับความฝัน” (มักขึ้นต้นด้วย-เยาว์ที่รัก…)

นายอุดมเป็นผู้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดี ภาษาไทยค่อนข้างดี นอกจากนี้ยังรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และรัสเซีย ถึงขั้นใช้งานได้

นายอุดมถูกจับกุมเมื่อปี 2501 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ซึ่งในขณะนั้นทำหนังสือพิมพ์ “เศรษฐสาร” ซึ่งมีนายล้วน ปั้นน้อย เป็นบรรณาธิการ ระหว่างถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำลาดยาว สนิทสนมกับเปลื้อง วรรณศรี

ในช่วงที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์นี้ นายอุดมได้ร่วมกับนายมนัส พรหมบูญ อดีต ส.ส.จังหวัดเพชรบุรณ์ นายจิตร ภูมิศักดิ์ นายเทพ โชตินุชิต นายอุทธรณ์ พลกุล นายพรชัย แสงชัจจ์ ร้องเรียนต่อศาลในกรณีที่จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจขังโดยไม่มีกำหนดเวลา

เมื่อได้รับการปลดปล่อยก็เดินทางไปยังภูพาน จนกระทั่งเหตุการณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 นายอุดมได้เป็นตัวแทนของ พคท. ในการทำงานร่วมกับแนวร่วม และเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการกองกำลังประสานงานแนวร่วมรักชาติรักประชาธิปไตย (กป.ชป.) เมื่อปี 2520 นายอุดมได้รับเลือกเป็นประธาน

และเมื่อ พคท.ถูกลาวขับออกจากประเทศในปี 2522 นายอุดมพร้อมกับกรรมการ กป.ชป. ได้เดินทางเข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยและอยู่ในประเทศไทยโดยตลอด

 

อนึ่ง ในการประชุมสมัชชา พคท.ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา จากเอกสารที่ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ระบุว่านายอุดมได้รับเลือกเป็นกรรมการกลาง พคท.คนหนึ่งใน 18 คน ซึ่งมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายสม”

ส่วนอีก 17 คน ประกอบด้วย นายทรง นพคุณ (สหายมา) นายวิรัช อังคถาวร (สหายธาร-จางหย่วน) นายศักดิ์ สุภาเกษม (สหายเกษม) นายธง แจ่มศรี (สหายดิน) นายประสิทธิ์ ตะเพียนทอง (สหายสิน) นายสิน เติมลิ่ม (สหายสม) นายเปลื้อง วรรณศิลป์ (สหายจำรัส) นายเชาว์ พงพิชิต (สหายนิล) นายมาโนช เมธางกูร (สหายประโยชน์) นายวินัย เพิ่มพูนทรัพย์ (สหายชิตหรือรุณ)

นายประจวบ เรืองรัตน์ (สหายสยาม) นายเริง เมฆไพบูลย์ นายนิตย์ พงษ์ดาบเพชร นายเหวง โตจิราการ (สหายเข้ม) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นางเดือน ขำชัยภูมิ (สหายก้าว ภรรยามิตร สมานันท์)

และนางวงจันทร์ ดุทธเกื้อกูล (สหายไหม ภรรยาเปลื้อง วรรณศรี)

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ในการประชุมสรุปผลการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ กอ.รมน.ได้พิมพ์เอกสารตีแผ่ความจริงที่เกิดขึ้นในศูนย์การนำ โดยเอกสารดังกล่าวได้กล่าวถึงเรื่องราวของผู้นำระดับสูงใน พคท.และระบุว่า นายอุดมเป็น 1 ใน 7 กรมการเมืองที่ประจำอยู่ในศูนย์กลาง พคท.

เอกสารดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ผู้นำระดับสูงของ พคท. ได้แบ่งเส้นสายใหญ่ๆ 3 สาย คือสายนายวิรัตน์ อังคถาวร นายดำริห์ เรืองสุวรรณ และนายอุดม ทั้ง 3 สายดังกล่าวเกิดการช่วงชิงอำนาจเพื่อจะขึ้นเป็นใหญ่ใน พคท.

“การขับเคี่ยวทั้ง 3 สาย โดยเฉพาะระหว่างนายวิรัตน์กับนายอุดมได้ดำเนินไปอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ละคนก็ขับเคี่ยวกันอย่างเต็มที่ วิรัตน์รีบเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาภายในประเทศเพื่อจะเข้ามาคุมสถานการณ์ให้ใกล้ชิด ส่วนอุดมก็ออกจากภาคเหนือไปคุมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุดมเคยคุมงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก่อน ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นกรมการเมือง เคยเป็นเลขาฯ ภาค–ผลที่จะปรากฏออกมาเป็นอย่างไรต้องรอดูกฎของสมัชชาครั้งที่ 4”

เอกสารระบุ

 

นําเนื้อหาข่าว “อุดม สีสุวรรณ มอบตัว” มาเสนอโดยละเอียด

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากแหล่งข่าวภายนอกและภายใน คือจากบุคคลภายนอกและผู้สื่อข่าวในกองบรรณาธิการและต้นตอข่าว จึงนำเสนอได้ทุกความเคลื่อนไหว

คือความสำคัญของแหล่งข่าวที่นักข่าวต้องเสาะหาและมีของตัวเอง