มนัส สัตยารักษ์ | กับดักที่เบี่ยงเบนวัตถุประสงค์หลักของม็อบ

การเมืองเรื่อง “ม็อบ” สำหรับผม ดูเหมือนจะเริ่มหลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และหลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจบสิ้นเรียบร้อยแล้ว

เหมือนกับการแข่งขันกีฬาที่กำลังเข้าสู่รอบสุดท้ายที่ต้องเอา “ตัวจริง” ลงแข่งขัน โดยตัดคนเล่นผิดเกมและคนตกรอบออก รวมทั้งเขี่ยคนเชียร์แบบโห่ฮาป่าหรือกินมูมมามออกไปไกลๆ

วันที่ 1 มีนาคม เริ่มด้วยข่าวที่หลายคนไม่นึกฝัน นั่นคือ…

“ชาวเน็ตและผู้ชุมนุม นิสิต นักศึกษาต้านรัฐบาล ค้านแหลก ไม่เอาเพนกวินปราศรัย”!!

ข่าวขบวนการนักศึกษาไม่เอาเพนกวินปราศรัยแพร่กระจายไปในหลายสื่อด้วยท่วงทำนองคล้ายกันว่า นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มธ. อดีตประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้เดินสายปราศรัยไปยังเวทีต่างๆ พูดปลุกระดมด้วยถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง พยายามชักจูงให้นิสิต นักศึกษา “ลงถนน”

ผู้ที่ไม่ต้องการให้เพนกวินปราศรัยกล่าวว่า เพนกวินใช้ hate speech คำหยาบคาย คำกล่าวให้ร้ายและเหยียดหยาม รวมไปทั้งแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ

การใช้ hate speech ปลุกปั่นแบบเติมเชื้อไฟในการปราศรัยแบบนี้เป็นจุดอ่อนของเยาวชนรุ่นใหม่ เป็นการใช้พลังแห่งความเกลียดชัง แทนที่จะใช้พลังบริสุทธิ์ ที่ประกอบขึ้นด้วยปัญญาในการขับเคลื่อน

ย้อนไปฟื้นอดีตของเพนกวินที่ธรรมศาสตร์ ทำให้เราได้รู้จักเขามากขึ้น ได้ทราบว่าเขาเคยแขวนพริกแขวนเกลือไล่รัฐบาลรัฐประหาร เป็นภาพของ “ฮีโร่” รุ่นใหม่

ทำให้ลังเลว่า แฮชแท็ก “ไม่เอาเพนกวินปราศรัย” น่าจะเป็นผลิตผลที่ได้มาจากปฏิบัติการ IO ของทหาร

แต่เมื่อย้อนไปนึกถึงภาพข่าวก่อนหน้านี้ประมาณ 2 หรือ 3 เดือน เป็นภาพที่เขาเท้าสะเอวชี้หน้านายตำรวจยศ พ.ต.อ. จนนิ้วเกือบชนแก๊ปหมวก ใบหน้าที่แสยะยิ้มทำให้เดาได้ว่าเขากำลังสะใจที่ได้ก้าวร้าวเหยียดหยามนายตำรวจ ฐานที่บังอาจไปขอให้เขาย้ายที่ประท้วงไปบนฟุตปาธ อย่าประท้วงกลางถนน

ทำให้พลิกกลับมาลังเลอีกว่า แฮชแท็ก “ไม่เอาเพนกวินปราศรัย” เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาจากปฏิบัติการ IO ของกองทัพ

ในห้วงเวลาเดียวกัน เราจับสังเกตได้ว่าคนที่ฝ่ายรัฐบาล (และสื่อฝ่ายรัฐบาล) เคยยกย่องว่าเป็น “ฮีโร่” ต่างพากันสงบและเบาเสียงลงไปเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นนายวันชัย สอนศิริ นายเสรี สุวรรณภานนท์ หรือนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ต่างเงียบเสียงไปพักใหญ่ บางท่านก็ถึงกับเปลี่ยนบทบาท เช่น นายเสรีออกข่าวไม่เห็นด้วยกับงบฯ ดูงานต่างประเทศของ ส.ว. ตรงกันข้ามกับนายวันชัยที่เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น

ทางฝ่ายสภาล่าง นายสิระ เจนจาคะ กับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ซึ่งเคยเป็นฮีโร่ของพรรค พปชร. และเป็นดาราหน้า 1 ของบรรดาสื่อทั้งหลาย กลับถูกกระหน่ำจากฝ่ายตรงข้าม และบทบาทที่ชวนให้เกิดการวิวาทก็ลดความปะ ฉะ ดะ ลงไปได้ระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะนายสิระพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของตัวเองด้วยการบริจาคหน้ากากอนามัยจนเป็นที่ฮือฮาในหน้าสื่อ แต่น่าเสียดายที่ถูก “อาจารย์อ๊อด” หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ออกมาแฉว่า “เป็นหน้ากากอนามัยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง”

ข่าวอย่างนี้ก็เท่ากับดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์และพรรค พปชร.โดยตรง และอาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการ “เบรก” บทบาทชวนวิวาทจากผู้ใหญ่ในพรรค พปชร.ก็ได้

อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และการตอบชี้แจงของรัฐมนตรีมีประเด็นที่น่าสนใจและน่าตกใจจนสมาชิกสภาถึงแก่อาการช็อกไปตามๆ กัน 2 ประเด็น คือ

พฤติกรรมมาเฟีย ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงยอมรับว่าเคยมีรายได้จากการเช่าช่วงแผงซื้อขายสลากกินแบ่งเดือนละ 3 ล้านบาท เพราะเงินเดือน ส.ส. 1 แสน 2 หมื่นบาทไม่พอยาไส้

อีกประเด็นเป็นกรณีที่ถูกจำคุกข้อหายาเสพติดที่ต่างประเทศ ร.อ.ธรรมนัสแถลงกลางสภาว่าของกลางเป็นแป้งมัน ไม่ใช่ยาเสพติด

อย่างไรก็ตาม การชี้แจงที่เหมือนการประจานตัวเองนี้ก็ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก แม้จะถูกซ้ำเติมจากเพื่อน ส.ส.หลังการลงมติอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ปมปัญหานี้หรือไม่?

รวมไปทั้งการอภิปรายนอกห้องประชุมสภา กรณีเงื่อนงำและเบื้องหลัง “มูลนิธิป่ารอยต่อฯ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่ง YouTube บันทึกไว้อย่างมืออาชีพ ก็เป็นการอภิปรายอย่างมีคุณภาพของรังสิมันต์ โรม อดีตพรรคอนาคตใหม่

ก็เช่นเดียวกับการประจานตัวเองของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่มีวี่แววว่าฝ่ายใดจะคลี่คลายปมปัญหาของมูลนิธินี้หรือไม่?

กระแสไม่เอา hate speech ของฝ่ายก่อม็อบ กับเหตุการณ์ที่ “ฮีโร่” ของฝ่ายรัฐบาลถูกเบรก การยอมรับความผิดพลาด (แม้จะด้วยความไม่แคร์) ของคนรอบข้าง “บิ๊กตู่” จะทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าฝ่ายรัฐบาลกำลังได้เปรียบอย่างเดิมหรือได้เปรียบมากขึ้น

วัตถุประสงค์เดิมของการก่อม็อบของนิสิต นักศึกษาและนักเรียนในรูปแบบ “แฟลชม็อบ” เดิมคือแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ต่อมาพัฒนาไปเป็นการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และสุดท้ายกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก

การที่ขบวนการก่อม็อบประกาศไม่ต้องการนักสร้างความเกลียดชัง พร้อมกับที่กองเชียร์รัฐบาลถูกเบรก ทำให้เกิด “กับดัก” ใหม่ ที่ทำให้ฝ่ายพลังบริสุทธิ์ลงหลุมได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชังชาติ ชักธงดำ จาบจ้วง มือมืดทำร้ายนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่วิกฤต “โควิด-19” เหล่านี้ล้วนเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์หลัก “แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560” ทั้งสิ้น

ม็อบจะจุดติดหรือไม่ติด จะลงถนนหรือชุมนุมกันอยู่ภายในมหาวิทยาลัย-ไม่สำคัญ

ไม่สำคัญกว่ารัฐบาลพยายามเอาเรื่องเหล่านี้มาขัดขวาง ต่อต้านและสลายม็อบ

อย่าลืมวัตถุประสงค์หลัก “แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560” รัฐธรรมนูญที่เป็นต้นเหตุของทุกปัญหา รัฐธรรมนูญที่ทำให้ “ระบบประยุทธ์” ยืนยาวกว่า 6 ปี และอาจจะยืนยาวอย่างนิรันดร์จนกว่าประเทศไทยจะล่มสลาย