คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อย่าปล่อยให้มี “ผี” ที่ยังมี “ชีวิต” ในสังคมไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมรับนิมนต์ไปเสวนาที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

แม้งานที่จัดจะเนื่องด้วยวันสตรีสากล แต่ผู้จัดเขากำหนดหัวข้อว่า “พลังสตรี ผี เฮี้ยน” ผมถึงสามารถไปอยู่บนเวทีนั้นร่วมกับวิทยากรอีกสองท่าน คือคุณทราย เจริญปุระ นักแสดงผู้รับบทผีอีนากที่ผู้คนยังจำได้ และท่านอาจารย์อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดนตรีและครูดนตรีไทย

ซึ่งผมก็คุ้นเคยกับทั้งสองท่านอยู่พอประมาณ จึงไม่มีความเครียดเกร็งใดๆ

พุทธภาษิตท่านว่า “ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” เมื่อทราบว่าวิทยากรเป็นใคร ผมจึงรำพึงในใจว่า “สบายละกู” เพราะญาติย่อมพึ่งพากันได้ โดยผมก็หวังพึ่งพาวิทยากรท่านอื่นนั่นแล

แล้วก็สบายจริงๆ ครับ เพราะตัวเองได้แค่ช่วยเสริมประเด็นของทั้งสองท่าน แต่ก็เป็นการเสวนาที่สนุก มีอรรถรส และรู้สึกว่าได้รับความรู้อย่างมาก

โดยเฉพาะครูหน่องหรืออาจารย์อานันท์นั้น ได้ทำให้ผมเห็นวิธีเข้าใจเรื่อง “ผี” ใหม่ๆ ที่ตนเองไม่ได้สังเกตมาก่อน

คือช่วยให้เห็นวิธีตีความแบบอื่นๆ ซึ่งทำให้การคุยเรื่องผีในวันนั้นกลายเป็นประสบการณ์ของคนร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

 

ครูหน่องเล่าไว้ก่อนจะเริ่มเสวนาว่า มางานวันนั้นด้วยความรู้สึกอึดอัดใจ ท่านว่ามีสองเรื่องคือเรื่อง “ผีน้อย” กับเรื่อง นิสิตคนหนึ่งที่พยายามจะชักธงดำ ณ มหาวิทยาลัยแถวสามย่าน แล้วถูกถ่ายคลิปไปลงในโซเชียลจนโดนล่าแม่มด

ท่านไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคนที่ไปประณามหยามเหยียดทั้งสองกรณีนี้

ผมเดาว่าครูหน่องจึงเน้นการพูดถึง “ผี” ในมิติของโลกสมัยใหม่เป็นหลักผ่านมุมมองทางมานุษยวิทยาที่ท่านทำงานอยู่ เพราะมันเชื่อมโยงกับทั้งสองเรื่องนั้นได้

เวลาที่ผมเขียนเรื่องผีๆ เทพๆ ผมมักโยนตัวเองเข้าไปในโลกแห่งความรู้ “โบราณ” แล้วพยายามเอามาเชื่อมโยงกับยุคสมัยปัจจุบัน

กระนั้น คำว่า “ผี” ของผมก็จำกัดอยู่เพียงนิยามในโลกของศาสนาและความเชื่อเป็นหลัก

ผีของผมจึงมีความหมายเพียงคนที่ตายไปแล้ว พลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะมาจากโลกธรรมชาติหรือบรรพชน หรือไม่ก็ยืมคำอธิบายของนักวิชาการท่านอื่น เช่น อำนาจที่ควบคุมจริยธรรมของชุมชนไว้

แต่สิ่งที่ครูหน่องเสนอ ทำให้เห็นว่าผียังสามารถมีความหมายมากกว่านั้น คือ คนนี่แหละ แต่ถูกกระบวนการทำให้ “เป็นอื่น” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนด้วยกันกระทำต่อกัน

ผมจึงขอใช้เนื้อที่วันนี้ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้และขยายเพิ่มเติมบ้างมาเล่าสู่กับท่านผู้อ่านครับ

 

ครูหน่องเริ่มต้นว่า เวลาที่เราพูดถึง “ผี” เราอาจจำแนก “กระบวนการทำให้เป็นผี” ได้หลายอย่าง

อย่างแรก คือ “ตาย” ซึ่งเป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุดที่ทำให้คนกลายเป็นผีได้

แม้จะต้องถกเถียงกันต่อว่าผีคนตายจะแยกเป็นหน่วยเดี่ยวๆ แบบผีปัจเจกบุคคล หรือเป็นก้อนๆ รวมๆ กันอย่างผีบรรพบุรุษ

กระนั้นผีประเภทนี้ คือผีที่มีบทบาทสำคัญในประเพณีและความเชื่อของผู้คน เป็นผีที่มีมิติเกี่ยวพันกับศาสนา

ส่วนมากเราจะสนใจผีในมิตินี้มากที่สุด งานผีพราหมณ์พุทธของผมก็จดจ้องกับผีแบบนี้แหละครับ

สำหรับผมแล้ว ผีแบบนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นร่วมสมัย คือการทำความเข้าใจผีในฐานะรากฐานความเชื่อของสังคมไทย ซึ่งแฝงเร้นภายใต้นามและรูปใหม่ๆ ที่สำคัญคือการทำความเข้าใจ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของผีที่กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนการทำให้เป็นผีอย่างที่สอง คือการเจ็บป่วย

ในสังคมโบราณและชุมชนเล็กๆ การเจ็บป่วยล้มหมอนนอนเสื่อ อย่างไม่มีสาเหตุ ถูกนิยามว่าเป็นการกระทำของผี และทำให้ผู้เจ็บป่วยนั้นเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเอง เช่น กลายเป็นคนทรงหรือสื่อกลางของผี คือกลายเป็นผีไปแล้วนั่นแหละ หรือแม้แต่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจก็ทำให้คนกลายเป็นผีได้เช่นกัน คือถูกกันออกไปจากสังคมมนุษย์

นอกจากนี้ ความเจ็บป่วยในสังคมสมัยใหม่ เช่น ไวรัสโคโรนา ครูหน่องบอกว่า ปรากฏการณ์ของความเจ็บไข้ที่ระบาดเกินจะควบคุมและมาพร้อมกับความกลัว นี่แหละคือการสร้างผีแบบหนึ่ง

คนอยู่ในภาวะที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยหรือไม่ แล้วความตายจะมาในวันไหน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ รัฐก็ไม่สามรถมอบความไว้วางใจที่จะทำให้เรารอดจากการเป็นผีได้ เราจึงอยู่แบบลูกผีลูกคนและมองคนเสี่ยงเป็นผีที่ไม่น่าเข้าใกล้ไปหมด ต่างหวาดกลัวกันและกัน

สาม กลายเป็นผีจากวิทยาความรู้ คือเรื่องไสยศาสตร์และกฤยาคุณต่างๆ ซึ่งเชื่อว่า หากการทำคุณไสยไม่สำเร็จแล้วย้อนเข้ามาสู่ตัวเอง บรรดาผู้ทำคุณไสยนั้นก็จะกลายสภาพเป็นผีในร่างคน เช่น เป็นปอบ เป็นกระสือ กระหัง คือการเล่นกับความรู้ลี้ลับแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้น ความเชื่อของไทยทำให้คนกลายเป็นผีได้ด้วยวิธีเช่นนี้เหมือนกัน

นอกจากนี้ มีงานศึกษาปอบในสังคมชนบท ในฐานะกระบวนการสร้างความเชื่อของชุมชนสำหรับการกันคนที่ไม่น่าไว้วางใจออกไปเสีย หรือไว้แยกคนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป

การสร้างผีแบบนี้ทำให้เกิดผลร้ายกับผู้ถูกกระทำมาก ต้องได้รับความเดือดร้อนต่างๆ ดังที่เราทราบกัน แต่ผมเข้าใจว่า กระบวนการเช่นนี้ก็ยังไม่ได้หายไปจนหมดในพื้นที่ชนบท

 

การกลายเป็นผีแบบต่อไปคือเกิดจากระบบศีลธรรมและกฎหมาย คือเมื่อมีการออกนอกแถวของศีลธรรมและกฎหมายบางข้อซึ่งเกี่ยวข้องกับทัศนะทางการเมือง คนคนนั้นจะถูกผลักให้กลายเป็นผีในความรับรู้ของคนอื่น ซึ่งยึดระบบศีลธรรมและกฎหมายแบบนั้นไว้อย่างเข้มข้น (หรืออย่างน้อยก็อ้างว่ายึด)

พูดอย่างง่ายๆ คือคนที่ไม่ยอมรับหรือละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านี้จะถูกผลักดันให้กลายเป็น “คนอื่น” แต่เป็นคนอื่นที่มีคุณค่าต่ำกว่า คือไม่เป็นคนเต็มคน พอไม่เต็มคนก็กลายเป็นภูตผีปีศาจที่น่าเกลียดน่ากลัวทั้งๆ ที่ยังเดินเหินมีชีวิตอยู่นี่แหละ

ต้องบอกว่า ไม่ใช่กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและกฎหมายทุกข้อจะสร้างให้เกิดผีชนิดนี้ แต่ต้องเป็นศีลธรรมและกฎหมายที่คนบางพวกบางเหล่ายึดถือเอาไว้เป็นสมบัติเฉพาะพวกตน พร้อมกับสามารถใช้กฎหมายและศีลธรรมเหล่านี้ในฐานะ “เครื่องมือ” ผลักอีกฝ่ายไปเป็นผีร้ายได้

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับผีอย่างสุดท้ายที่อาจารย์อานันท์เสนอ คือผีในฐานะที่เป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา คือพอผลักฝ่ายหนึ่งให้กลายเป็นผีร้ายแล้ว ก็สมมุติให้มีผีฝั่งดีที่อาจเรียกว่า พวก “เทวดา” ซึ่งก็คือพวกตัวเองนั่นแหละ คอยจัดการพวกผีร้ายด้วยประการต่างๆ และร่วมมือกับบรรดา “หมอผี” ทั้งหลาย ทั้งในโลกจริงและโลกโซเชียล คอยไล่ล่าผีร้ายด้วย

สังคมไทยในปัจจุบันอุดมไปด้วยหมอผีกับเทวดา วงคุยในวันนั้นบอกว่า เมื่อมีคนมากมายถูกไล่ล่าโดยหมอผี ทำอย่างไรที่เราจะต่อสู้กับพวกหมอผีโดยที่เราไม่กลายเป็นหมอผีเสียเอง

ซึ่งน่าคิดมาก

 

ผมบอกในเวทีวันนั้นว่า เวลาเราดูหนังผีแบบไทยๆ ตัวหมอผีมักจะถูกกำราบอีกทีโดย “พระ” (เช่น เรื่องนางนากที่คุณทรายเล่น) เพราะหมอผีมักใช้อำนาจที่ไม่ซื่อตรง ผมคิดว่าสุดท้ายแล้ว หนังกำลังพยายามบอกว่า สิ่งที่เอาชนะความชั่วร้ายแบบหมอผีได้ คือความรักความเมตตา ซึ่งแสดงโดยใช้สัญลักษณ์พระ

กระนั้นผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องคิดถึงความรักเมตตาในแบบศาสนาก็ได้ แต่ขอให้คิดถึงความรักแล้วกัน ผมคิดว่าพลังงานของความรักนั้นอยู่ตรงข้ามกับพลังของความเกลียดชังแบบหมอผีเสมอ

ความรักในพื้นฐานของความเท่าเทียมไม่ทำให้ใครกลายเป็นผี แล้วยังชุบชีวิตผีให้กลับมาเป็นคนได้ ผมพูดจาเหมือนคนโลกสวยหรือเมาศาสนา แต่สติปัญญาผม ณ เพลานี้ก็มีเพียงเท่านี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร

ตามนิยามของครูหน่อง นอกจากผีในโลกคนตายซึ่งมีความหมายทั้งทางบวกและลบก็ได้ ผีอย่างอื่นที่ยังเดินดินล้วนแต่เป็นสิ่งเลวร้าย เพราะที่จริงผีคือการถูกทำให้ไม่เป็นคนนั่นเอง มันคือสิ่งเดียวกับกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ แล้วพอเราไม่เป็นมนุษย์ พวกเทวดาหรือมนุษย์หมอผีก็จะฆ่าเรา เอาเราไปถ่วงน้ำ หรือจะกระทำย่ำยีต่างๆ

นอกจากผีคนเป็นที่มีมากมายในสังคมไทยแล้ว ผมคิดว่าเรายังมีผีที่ถูกสร้างขึ้นอีกมาก

ผีทักษิณที่ยังหลอกหลอนสลิ่มได้ไม่จบสิ้น

ผีอุดมการณ์ทางการเมือง ผีคนรุ่นใหม่ ผีธนาธร ผีอนาคตใหม่ ฯลฯ

สารพัดผีที่ถูกสร้างขึ้นและจะถูกสร้างขึ้นอีก

 

ดังนั้น นอกจากผีในโลกของผี ขอพวกเราจงกลับมาสนใจผีในโลกของคน ซึ่งที่จริงก็คือคนเหมือนกันกับเรา อย่าปล่อยให้พวกเขากลายเป็นผี หากเขาถูกกระทำให้เป็นผีแล้ว ก็ตะโกนบอกพวกหมอผีว่า นี่ก็คนเหมือนมึง แล้วบอกพวกเทวดาหรือพวกที่อ้างว่าเป็นผีฝ่ายดีด้วย ว่ามึงก็คนเหมือนกูนี่แหละ

ถ้าเรายังปล่อยให้มีผีในร่างคน โลกนี้มันจะไม่ใช่มนุษยโลก

แต่มันจะเข้าใกล้ความเป็นนรกภูมิเข้าไปทุกที