เพ็ญสุภา สุขคตะ : ผลงานครูบาเจ้าศรีวิชัย ค้นพบใหม่

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ทฤษฎีที่เคยกล่าวกันว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา สร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากถึงพันหลังนั้น ตอนแรกดิฉันก็ไม่ค่อยเชื่อข้อมูลนี้เท่าใดนัก เนื่องจากครูบาเจ้าศรีวิชัยเริ่มเดินสาย “ซ่อม-สร้าง” เสนาสนะทั่วล้านนาเมื่ออายุ 40 ปีแล้ว และท่านมรณภาพด้วยอายุเพียง 60 ย่าง 61 ปีเท่านั้น

ในห้วงเวลาเพียง 20 ปี กับจำนวนวัดที่มากถึง 1,000 แห่ง บวกลบคูณหารแล้ว ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้

แต่ครั้นเมื่อต้องมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการสืบค้นและเรียบเรียงหนังสือชุด 3 เล่มเรื่อง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ซึ่งจัดทำโดยสมาคมชาวลำพูน (กรุงเทพฯ) ระหว่างปี 2557-2561 เป็นเวลา 4 ปีเต็มแล้ว กลับพบว่า วัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไป “ซ่อม-สร้าง” นั้นมีมากเกินคณานับอย่างแท้จริง

ทั้งซ่อมเล็ก ซ่อมใหญ่ บางครั้งสร้างขึ้นใหม่ทั้งหลัง บางวัดสร้างแต่พระประธาน โดยมากเป็นพระเจ้าทันใจ บางวัดท่านช่วยแนะนำเจ้าอาวาสให้เปลี่ยนโครงสร้างหลังคาใหม่ บางวัดช่วยสร้างบ่อน้ำ บางวัดเปลี่ยนช่อฟ้า บางวัดเอาต้นโพธิ์ไปปลูก

หลายแห่งที่ท่านออกแบบวางรากฐาน กำกับดูแลการก่อสร้าง 1-2 สัปดาห์ จากนั้นมอบหมายให้ศิษยานุศิษย์ที่เป็นสล่าผู้ช่ำชองดำเนินการสานต่อ เพราะท่านต้องเดินสายรับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่วัดอื่น

แม้จะปิดต้นฉบับหนังสือเล่มดังกล่าวไปแล้วเกือบ 2 ปี ซึ่งดิฉันเคยคิดว่าน่าจะเก็บข้อมูลวัดของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างรอบด้านครบถ้วนมากที่สุดแล้วก็ตาม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังค้นพบวัดที่เป็นผลงานของท่านเพิ่มขึ้นใหม่เรื่อยๆ อีกจนได้

 

หลักฐานจากรูปปั้นเสือ
พร้อมคำบอกเล่าของชาวบ้าน

กลุ่มแรกที่ทำให้เชื่อว่าเป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยก็คือ เป็นวัดที่พบรูปปั้นเสือ นักษัตรประจำปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย ประดับอยู่ตามส่วนต่างๆ

อาทิ บนหน้าแหนบ (หน้าบันวิหาร) พบรูปเสือทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองบนกระจกจีน ปรากฏอยู่ท่ามกลางลายกระหนกก้านขดและดอกสับปะรด ได้แก่ ที่วัดศรีเกิด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และวัดสันหนองบง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นต้น

ที่วัดศรีเกิดนี้ยังมีรูปปั้น (สารูป) ครูบาเจ้าศรีวิชัยรุ่นแรกสุดอีกด้วย สร้างขึ้นโดยลูกศิษย์ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดครูบาเจ้าศรีวิชัย นาม “สล่าทอง สุวรรณสิงห์”

ส่วนวัดสันหนองบง ยังพบรูปเสือใช้รองรับฐานสัตตภัณฑ์ (เชิงเทียน) อีกแห่ง

รูปปั้นเสือแบบลอยตัวหมอบตามฐานเจดีย์ ไม่ก็เฝ้าหน้าประตูวัดทำหน้าที่แทนสิงห์ เช่น ที่วัดขะแมดเก่า ปัจจุบันเรียกพระธาตุศรีจอมแจ้ง อำเภอจอมทอง และที่วัดพระเจ้าเม็งราย (กาละก้อด) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

รูปปั้นเสือที่วัดกาละก้อดนี้ ได้นำมาวางไว้บนตู้พระไตรปิฎกอยู่ในโรงเก็บของ อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังพบร่องรอยของปูนปั้นระบายสีในกรอบช่องโค้งเหนือบานประตู หน้าต่างวิหารพระเจ้าค่าคิง เป็นฝีมือช่างกลุ่มเดียวกันกับสล่าที่ติดสอยห้อยตามครูบาเจ้าศรีวิชัยไปสร้างศิลปกรรมวัดต่างๆ

อาจมีบางท่านถามว่า รูปเสือเหล่านี้ อาจเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างโดยพระรูปอื่นที่เกิดปีเสือเช่นเดียวกันได้หรือไม่

คำตอบก็คือ ได้ มีบางวัดที่เดินตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยการสร้างรูปเสือบนหน้าแหนบก็ดี หรือเป็นรูปปั้นลอยตัวก็ดี

แต่มีข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือองค์ประกอบทางด้านศิลปะ

เสือของครูบาเจ้าศรีวิชัยมีอัตลักษณ์เฉพาะ เห็นที่ไหนก็สามารถทราบได้ทันที

 

เอกสารค้นพบใหม่
ของพระวิมลญาณมุนี

พระวิมลญาณมุนี (มหาสุดใจ ญาณวุฒฑิ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนในช่วงบั้นปลายชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้บันทึกรายชื่อวัดบางส่วนที่เป็นผลงาน “ซ่อม-สร้าง” ของครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้ท้ายเล่มหนังสือประวัติที่ท่านเตรียมจัดทำไว้สำหรับแจกจ่ายในงานฌาปนกิจของครูบาเจ้าศรีวิชัย หนังสือเล่มดังกล่าวระบุว่าตีพิมพ์ในปี 2482

รายชื่อดังกล่าวส่วนใหญ่จะซ้ำตรงกันกับที่ดิฉันได้เก็บรวบรวมผลงานครูบาเจ้าศรีวิชัยให้กับหนังสือของสมาคมชาวลำพูนไว้แล้ว ในขณะเดียวกันยังพบชื่อวัดแปลกใหม่ที่ดิฉันเพิ่มเติมมาอีกจำนวนหนึ่ง

ในที่นี้มีวัดดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งปัจจุบันพระวิหารและอุโบสถอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม รอการบูรณะ วัดเวียงหวาย (ปัจจุบันเรียก พระธาตุเวียงหวาย) และวัดบ้านเก่า (ปัจจุบันคือวัดเกตุแก้ว) สองวัดนี้อยู่ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

โดยปกติอำเภอพานก็ครองแชมป์ ว่าเป็นเขตที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย “ซ่อม-สร้าง” วัดจำนวนมากที่สุดอยู่แล้วเมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆ คราวนี้ยังมีผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเพิ่มอีก 2 วัด

เขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พบรายชื่อวัดที่เป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยอีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดสันทรายหลวง สันทรายน้อย สันหลวง ฯลฯ ซึ่งดิฉันไม่แปลกใจแต่อย่างใดเลย เพราะย่านนี้เป็นแหล่งที่ศิษยานุศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยหลายรูปพำนักอยู่

ในระหว่างที่ทุกท่านกำลังอ่านคอลัมน์นี้กันอยู่ จะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ดิฉันลงพื้นที่เก็บข้อมูลวัดที่เป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ค้นพบใหม่ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

 

ที่สุดของนักนวัตกรรมผู้สร้างสรรค์

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา จังหวัดลำพูน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้จัดงานประชุมเสวนาเชิงประชาพิจารณ์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ชาวลำพูนต้องการสานต่อโครงการผลักดันลำพูนสู่มรดกโลก (ดิฉันเคยจัดทำแผนแม่บทเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2553) หรือไม่ (ประเด็นนี้หากมีโอกาสดิฉันจักขยายความให้ทราบต่อไปในส่วนรายละเอียด)

ประเด็นที่สอง ชาวลำพูนมีความประสงค์จะนำเสนอครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโกหรือไม่ และหากคำตอบคือใช่ จะเลือกความโดดเด่นของท่านในด้านใด

ประเด็นหลังนี้ สอดรับกับงานวิจัยที่ดิฉันค้นคว้ามา 4-5 ปีให้กับสมาคมชาวลำพูน โดยที่ประชุมมีมติเห็นพ้องต้องตรงกันว่า ควรยกย่องความโดดเด่นของครูบาเจ้าศรีวิชัยในด้านของ “นักนวัตกรรมผู้สร้างสรรค์งานศิลปสถาปัตยกรรมเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา”

ถือเป็นโมเดลเฉพาะที่แตกต่างไปจากเพศบรรพชิตรูปอื่นๆ ที่มักนำเสนอจุดเด่นในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้สร้างสันติภาพให้แก่โลก ไม่ว่าจะเป็นท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

ด้วยเหตุที่ผลงานด้านวัดวาอารามของครูบาเจ้าศรีวิชัยมีจำนวนมากมายมหาศาลหลายร้อยหลัง อีกทั้งงานปั้นพระพุทธรูปก็มากมายหลายพันองค์ งานแกะสลักเครื่องไม้ประเภทธรรมาสน์ สัตตภัณฑ์ ตุงกระด้าง มณฑปโขงพระเจ้าก็มากเกินคณานับ

ความยิ่งใหญ่ในฐานะสถาปนิก นักนวัตกรรม นักออกแบบ นักประดิษฐ์ นักสร้างสรรค์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้จัก “เลือกรับและปรับใช้” รูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมหลากหลายอิทธิพล เปิดกว้างต่อทุกสกุลช่าง ผลงานมีความรุ่มรวยเสน่ห์ เปี่ยมท้นด้วยสุนทรียศาสตร์

เทียบชั้นได้กับอัจฉริยภาพด้านเดียวกันนี้ของอดีตมหาบุรุษระดับโลกหลายท่าน

ไม่ว่าพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช รวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ซึ่งทุกพระองค์มีพระราชปณิธานดุจเดียวกันคือ ปรารถนาพุทธภูมิหรือพระโพธิญาณ ไม่ต่างไปจากความมุ่งมั่นของครูบาเจ้าศรีวิชัย

การนำเสนอครูบาเจ้าศรีวิชัยต่อคณะกรรมการยูเนสโกเพื่อพิจารณานั้น จะต้องให้ทันประกาศยกย่องในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาลของท่าน ในปี 2571 (ท่านเกิดปี 2421) โดยมีเงื่อนไขว่าหน่วยงานที่จะยื่นเสนอนั้นต้องจัดทำข้อมูลให้เสร็จล่วงหน้าก่อนปีเฉลิมฉลองอย่างน้อย 2 ปี

การจัดประชุมของคณะกรรมการผู้พิจารณาไม่ได้มีขึ้นทุกปี ทว่าจะจัดประชุมเฉพาะในปีเลขคู่เท่านั้น นั่นคือครั้งถัดไปจะเป็นปี 2564, 2566, 2568 ดังนั้น กรณีของครูบาเจ้าศรีวิชัยจำเป็นต้องจัดทำข้อมูลให้เสร็จทันเสนอในปี 2568 เพื่อจะได้รับการประกาศยกย่องในปี 2571

นับจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ซึ่งอาสาตัวต่อที่ประชุมมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธาน ขอเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อจักได้เดินสายไปสานสัมพันธ์กระชับมิตรกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วล้านนา

โดยจะขอแรงสนับสนุน และร่วมเซ็น MOU ประกาศให้ภายนอกเห็นว่าทุกจังหวัดในล้านนาต่างมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นชอบที่จะยกย่องเชิดชูครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อไป