ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เขายะลา ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ รากวัฒนธรรมของความเป็นยะลา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“เขายะลา” บางทีก็เรียกว่า “เขายะลอ” ที่มีข่าวว่ากรมศิลปากรได้สั่งยกเลิกพื้นที่บางส่วนของภูเขาที่มีขนาดใหญ่ยาวเฉียดๆ 200 ไร่ จากการเป็นพื้นที่โบราณสถาน ให้ไม่กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่โบราณสถานนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่าง ต.ลิดล และ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา

ผมลองพลิกดูใน “พจนานุกรม มลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ไทย-มลายูถิ่นปัตตานี” ที่โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อปี 2551 ดูแล้วไม่พบทั้งสองคำ มีแต่คำว่า “ยฺาลอ” แปลว่า “แห” หรือ “ทอดแห”

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอย่าง อ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เคยอธิบายไว้ในหนังสือที่ชื่อ “บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อ พ.ศ.2540) ว่า คำว่า “ยฺาลอ” มาจากคำว่า “ชาละ” ที่แปลว่า “ตาข่าย” ในภาษาสันสกฤตอีกทอด

เรื่องนี้จะจริงหรือเปล่าไม่รู้? แต่ผมว่าถ้าจะเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตานีเองก็ได้ ไม่เห็นต้องไปยืมคำแขกมาใช้หรอกนะครับ

ถ้าเชื่อ อ.ประพนธ์ มันก็ไม่แปลกที่จะเรียกเขาลูกนี้ได้ทั้งชื่อยะลา และยะลอ แต่ถ้าคิดว่าเป็นภาษามลายูพื้นถิ่นปัตตานี และที่ผมไปค้นได้มาจากพจนานุกรมเล่มที่ว่า เดิมมันก็ควรจะชื่อยาลอ แล้วค่อยเพี้ยนเป็นยะลอ และยะลา

 

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือ อ.ประพนธ์ได้อ้างไว้ด้วยว่า ยะลาย้ายเมืองหลายครั้ง โดยแรกเริ่มสุดตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้เขาลูกนี้นี่แหละ (ก่อนจะย้ายไป ต.ท่าสาป แล้วค่อยไป ต.สะเตง จนย้ายมาอยู่ที่ตัวเมืองปัจจุบันคือบริเวณ ต.นิบง เมื่อ พ.ศ.2494)

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ชื่อเมืองและจังหวัดยะลา ก็ต้องได้มาจากเขาลูกนี้นี่แหละ

ผมไม่รู้ว่า อ.ประพนธ์ท่านใช้อะไรมาเป็นหลักฐานว่า ยะลาย้ายเมืองจากตรงนั้นมาตรงนี้โน่นนี่ เพราะไม่เคยค้นรายละเอียดเรื่องเมืองยะลาชัดๆ เลยสักที

แต่ถ้าเมื่อเปิดดูแผนที่ดาวเทียมจากแอพพลิเคชั่นแสนสะดวกอย่าง google earth (เพราะอยากเห็นสภาพทางภูมิศาสตร์ทางโน้นมากกว่าถนนหนทางที่จะได้จาก google map) ดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า เขาลูกนี้ตั้งอยู่ห่างออกมาจากศูนย์กลางของตัวเมืองปัจจุบันราว 10 กิโลเมตร

ส่วนตัวเมืองที่ อ.ประพนธ์ท่านอ้างว่า เคยย้ายไปตรงโน้น ตรงนี้นั้น ที่จริงก็ไม่ได้ห่างจากภูเขาลูกนี้สักเท่าไหร่นัก แถมถ้าจะว่ากันด้วยความเก่าแก่ของหลักฐานมาเป็นตัวตั้งแล้ว ภูเขาลูกนี้ก็มีภาพเขียนสี ที่กรมศิลปากรบอกว่าอายุ 3,000 ปี

ดังนั้น พวกคนที่อยู่แถวนี้ เค้าก็ตั้งชุมชนบริเวณรอบๆ นี่ อย่างน้อยมาก็ 3,000 ปีแล้วนั่นแหละ

แล้วคนพวกนี้เป็นใครกัน?

 

เมืองยะลา (ในความหมายกว้างที่ครอบคลุมหลักฐานตั้งแต่ 3,000 ปีจากภาพเขียนสี) ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มเล็กๆ ระหว่างหุบเขาสันกาลาคีรี ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี และแม้ว่าตัวแม่น้ำจะชื่อปัตตานีก็จริง แต่ต้นน้ำอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา แล้วไหลผ่าน อ.เมือง ก่อนจะไหลเรื่อยเปื่อยไปถึงปัตตานี แล้วออกทะเลที่อ่าวไทยในที่สุด

พูดง่ายๆ ว่า คนโบราณที่วาดภาพเขียนสีพวกนี้ ก็คือกลุ่มคนที่เป็นบรรพชนของรัฐปัตตานีนั่นแหละครับ

ในสมัยที่พวกเขาวาดภาพเขียนสีที่เขายะลา คนพวกนี้ยังนับถือศาสนาผีพื้นเมืองอยู่ ภาพที่วาดก็คือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมต่างๆ พวกชนชาวหมู่เกาะตั้งแต่อุษาคเนย์ ภาคพื้นสมุทร เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย และโอเชียเนีย ใช้ภาพเขียนสีเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าตำนานของบรรพชน ใช้เป็นสถานที่เข้าทรงและเรียกพลังศักดิ์สิทธิ์ในพิธีการต่างๆ โดยเฉพาะพิธีเปลี่ยนถ่ายจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ บางทีก็ใช้ในพิธีขอฝน พื้นที่ภูเขายะลาจึงเป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนในยุคโน้น

และมันก็ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะที่บริเวณถ้ำ หรือเพิงผาที่มีรูปเขียนสีเท่านั้นหรอกนะครับ คนในยุคโน้นเขาก็ถือว่า ภูเขายะลา ทั้งลูกนั่นแหละที่เป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แถมยังส่งทอดความศักดิ์สิทธิ์ต่อเนื่องมาจนขนาดที่ว่า ยังถูกนำมาใช้เป็นชื่อเมือง ชื่อจังหวัด จนถึงทุกวันนี้นั่นเลยทีเดียว

 

นักมานุษยวิทยาอาวุโส ควบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ระดับหาตัวจับยากอย่าง อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” ของอุษาคเนย์ไว้ในหนังสือที่ชื่อ “สร้างบ้านแปงเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2560) ว่า

“ส่วนพื้นที่บริเวณ “ภูเขา” นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นกว่าลักษณะภูมิประเทศอื่นใด เพราะมักจะสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุดของท้องถิ่นและจักรวาลที่มาจากเบื้องบนในขณะที่น้ำและผืนดินเป็นเรื่องอำนาจข้างล่าง

ภูเขาที่โดดเด่นมีรูปลักษณะพิเศษมักจะถูกกำหนดให้เป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ค่อนข้างสากลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย เนปาล ทิเบต และจีน”

ดังนั้น ภูเขายะลา ซึ่งโดดเด่นมีรูปลักษณะพิเศษ จึงควรจะถูกชนพื้นถิ่นในยุคโน้น เชื่อว่าเป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่สัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุดของท้องถิ่น และจักรวาลที่มาจากเบื้องบนของชาวยะลาในยุคก่อนที่จะรับวัฒนธรรมอินเดีย หรือที่มักจะเรียกว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่มีตัวอักษรใช้นั่นเอง

 

ต่อมาพอชุมชนขยายใหญ่ขึ้น มีการติดต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกถี่มากหน่อยก็รับศาสนาจากอินเดีย เมื่อหลัง พ.ศ.1000 รัฐปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางของลุ่มน้ำปัตตานี ที่ยะลาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น พื้นที่สำคัญก็แถบๆ เมืองยะรัง จ.ปัตตานี ที่เจอโบราณวัตถุและโบราณสถานแบบศรีวิชัย ในช่วงนั้นพวกถ้ำ และเพิงผา ตามภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกต่างๆ

แน่นอนว่า ไม่ใช่เฉพาะเขายะลาลูกเดียวเท่านั้นหรอก ที่ถูกนับเนื่องว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาลูกอื่นๆ อีกหลายลูกก็ถูกถือว่าศักดิ์สิทธิ์ลดหลั่นกันไปตามลำดับ

และทั้งหมดนั้นก็ถูกจับบวชจากสถานที่สำคัญของศาสนาผี มาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธแบบมหายานที่เข้ามามีบทบาทที่นี่ด้วย จึงมีการเอาพระพิมพ์ดินดิบไปโปรยไว้ในถ้ำพวกนี้นั่นเอง

ในที่สุดโลกมลายู ที่มีลุ่มแม่น้ำปัตตานีทั้งลุ่มอยู่ในนั้น ก็ถูกเทกโอเวอร์โดยศาสนาอิสลาม

 

ผมไม่แน่ใจนักว่า พอเข้าสู่ช่วงที่กลายเป็นโลกมุสลิมแล้ว ถ้ำ หรือภูเขาพวกนี้ถูกผู้คนในลุ่มน้ำแห่งนี้จัดวางเอาไว้ในฐานะไหน? เพราะไม่ได้ติดตามเรื่องเหล่านี้ในภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนอย่างใกล้ชิดนัก

แต่ที่แน่ๆ คำว่า “ยะลา” หรือ “ยะลอ” ต้องยังคงสืบความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงยุคนี้แน่ เพราะยังใช้เป็นชื่อเมืองมาถึงปัจจุบัน และความศักดิ์สิทธิ์ของคำที่ว่านั้นก็มาจากเขายะลา ที่มีการเขียนภาพเขียนสี และใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมในศาสนาผีพื้นเมืองนั่นแหละ

ดังนั้น ที่กรมศิลปากรเซ็นให้ถอนพื้นที่ราวๆ 200 ไร่ของภูเขายะลา ออกจากการเป็นเขตโบราณสถาน จึงไม่ต่างจากเป็นการยินยอมให้คนมาระเบิดโบราณสถานทิ้งนั่นแหละ

เพราะภาพเขียนสีในถ้ำ หรือเพิงผานั้นเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาลูกนี้

และที่ถ้ำนี้มันศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะมันอยู่ในภูเขาลูกนี้ คิดดูง่ายๆ ว่า คำว่า “ยะลา” น่ะ มันชื่อภูเขาโว้ยยย ไม่ใช่ชื่อถ้ำ และถ้าถ้ำจะศักดิ์สิทธิ์กว่าภูเขา บรรพชนคนแถวนั้นท่านก็คงเอาชื่อถ้ำไปตั้งเป็นชื่อเมือง ไม่ใช่ชื่อของภูเขาแล้วไม่ใช่หรือครับ?

การอ้างว่า พื้นที่เกือบๆ 200 ไร่นั้น ไม่มีโบราณสถาน จึงถอดถอนออกจากการเป็นเขตพื้นที่โบราณสถานได้ จึงฟังดูช่างน่าไร้เดียงสา เพราะนอกจากจะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ใครต่อใครสามารถมาทำลายโบราณสถานได้แล้ว ยังเป็นการปล่อยช่องว่างให้นายทุนจากที่ไหนก็ไม่รู้ มาทำลายรากฐานความเป็นคน และวัฒนธรรมของยะลาอีกด้วย