ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มีนาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
เรามักมองการ “ลงถนน” เป็นความไม่ปรกติของการเมือง แต่ผมอยากเสนอว่า การ “ลงถนน” เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเสมอ ไม่ว่าในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบอื่น
“ลงถนน” คืออะไร? คือปฏิบัติการรวมหมู่เพื่อต่อรองอำนาจกับผู้ปกครอง อาจออกมาในรูปการร้องขอ หรือบีบบังคับ หรือไม่ยอมรับคำสั่ง หรือตั้งซ่องโจร หรือหลบหนีจากอำนาจ ฯลฯ แต่ทุกชนิดของปฏิบัติการย่อมมีราคาต้องจ่าย อย่างน้อยก็ความเสี่ยง
ไม่ว่าในระบอบอะไร มักมีช่องทางโดยกฎหมายและประเพณีที่เปิดให้ผู้ใต้ปกครองสามารถต่อรองอำนาจได้ทั้งสิ้น เรามักพูดถึงการสั่นกระดึงกลางเมืองสุโขทัยและการตีกลองร้องทุกข์ นั่นก็เป็นการต่อรองอำนาจอย่างหนึ่งในระบอบราชาธิราชของไทย ยังไม่พูดถึงการฟ้องร้อง, การนินทา, การล้อเลียน, การตั้งสมญา ฯลฯ ซึ่งแม้ต้องทำโดยไม่ให้จับได้ แต่ก็ทำได้
แต่เพราะช่องทางที่ประเพณีและกฎหมายเปิดไว้ อาจไม่ตอบสนองได้เพียงพอในบางกรณี ปฏิบัติการรวมหมู่เพื่อปกป้องตนเองจากการตอบโต้ของอำนาจจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ขาดไม่ได้
ในสมัยโบราณ การหลบออกไปจากเขตอำนาจของผู้ปกครอง เป็นวิธีที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากทางตอนเหนือของภูมิภาคจะเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนซึ่งยากแก่การติดตามจับกุมแล้ว ทางตอนใต้ก็ยังมีเกาะแก่งขนาดเล็กซึ่งอยู่นอกเส้นทางอำนาจทางเรือของผู้ปกครองกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของคนหนีรัฐ ซึ่งปฏิบัติ “ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง” ทั้งสิ้น เพราะเป็นวิถีหาเลี้ยงชีพที่ปลอดภัยกว่าการไปตั้งซ่องโจร
และหากรวมการตั้งซ่องหรือชุมชนอิสระของตนเอง (เพื่อเป็นโจรหรือไม่ก็ตาม) ไม่ต้องคิดไปไกลถึงเขตทิวเขาในภาคเหนือหรือเกาะแก่งในภาคใต้ แม้แต่ในที่ราบไม่ไกลจากศูนย์อำนาจของรัฐในภาคกลางของไทย, ชวา, เวียดนาม และที่อื่นๆ ก็มีซ่องดังกล่าวอยู่เสมอมา
ผมจัดให้การกระทำทั้งหมดข้างต้นเป็นการ “ลงถนน” ทั้งนั้น แม้ไม่มีถนนอยู่เลย
ถนนคือพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่สุดในเมืองของสมัยปัจจุบัน ความเป็น “สาธารณะ” ของถนนสูงกว่าสวนสาธารณะอย่างเทียบกันไม่ได้ ถนนจึงเป็นสถานที่เหมาะที่สุดสำหรับการประกาศ “การเมือง” ซึ่งกลายเป็นประเด็นสาธารณะของรัฐสมัยใหม่ ถนนมีประสิทธิภาพในการสื่อสารยิ่งกว่าคลื่นความถี่ (ซึ่งมักถูกรัฐควบคุมมาก) กว่ากระดาษหนังสือพิมพ์ และกว่าพื้นที่ไซเบอร์ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้กลายเป็นประเด็นส่วนบุคคลไปหมด
ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า ประชากรโลกส่วนใหญ่เวลานี้ล้วนอาศัยอยู่ใน “เมือง” ทั้งสิ้น ดังนั้น การเมืองในปัจจุบันจึงเป็นการเมืองของ “เมือง” และด้วยเหตุดังนั้น ถนนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการเมืองของ “เมือง”
ในฐานะพื้นที่สาธารณะ ถนนไม่ได้ถูกใช้เพื่อการจราจรเพียงอย่างเดียว รัฐใช้ถนนเพื่อเฉลิมฉลองตอกย้ำอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองอยู่เสมอ อาจเป็นการสวนสนามของกองทัพ, การฉลองวันชาติ, การเดินขบวนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดี, นายทุนใช้ถนนเพื่อโฆษณาสินค้า, กองทัพยึดครองของข้าศึกใช้ถนนเพื่อประกาศชัยชนะและการสยบประชาชนของฝ่ายแพ้ให้ยอมจำนน (ในสมัยโบราณ ใช้การยึดหรือทำลายปราสาทและป้อมปราการของผู้ปกครองเดิม), นักปฏิวัติใช้ถนนเพื่อแจกใบปลิวและปลุกระดม ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นการเมืองของ “เมือง” ทั้งสิ้น
เราเห็นเรื่องนี้ได้ชัดในระบอบเผด็จการของหลายประเทศ ไม่แต่เพียงถนนเป็นพื้นที่ซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มเผด็จการได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา แต่ถนนก็เป็นพื้นที่ให้เผด็จการใช้เป็นเครื่องมือยึดอำนาจด้วย ไม่ว่าจะเป็นนาซี, ฟาสซิสต์ของอิตาลี, เผด็จการหลายแห่งในละตินอเมริกา, กปปส. และ คสช.ในเมืองไทย
แต่ไม่ใช่เฉพาะระบอบเผด็จการเท่านั้น ประชาธิปไตยก็ต้องใช้ถนนเหมือนกัน
ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการมักเชื่อกันว่าประชาธิปไตยของฝรั่งเศส ไม่อาจปฏิเสธถนนได้เลย แม้ว่าการเลือกตั้งและการต่อรองในระบบก็มีความสำคัญ แต่จะขาดถนนไม่ได้ แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบแองโกล-แซกซอน เช่นของอังกฤษและสหรัฐ ถนนไม่มีความจำเป็นทางการเมืองเลย
แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 สืบมาจนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับการต่อรองเพียงอันเดียวของประชาธิปไตยแบบอังกฤษและสหรัฐเสียแล้ว ปราศจากถนน ประชาชนอาจไม่สามารถหยิบยกประเด็นสำคัญที่กระทบชีวิตของตนอย่างฉกาจฉกรรจ์ขึ้นมาสู่การพิจารณาของสาธารณะได้เลย
ประเด็นสำคัญที่ฉกาจฉกรรจ์เหล่านั้นไม่ได้อยู่ที่ผิวหน้าทางการเมืองเช่นนโยบาย แต่อยู่ลึกลงไปในวัฒนธรรม, ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม, ในประเพณีทางการเมืองซึ่งสืบทอดมานาน ฯลฯ
กฎเกณฑ์ที่ออกโดยเทศบาล, รัฐ, หรือโดยบริษัทเอกชน กีดกันมิให้คนผิวสีได้รับความเท่าเทียมในทางปฏิบัติ ท้าทายรัฐธรรมนูญสหรัฐมาเป็นร้อยปี โดยไม่มีคน (ขาว) รู้สึก การกระทำทางการเมืองบนท้องถนนของคนดำเท่านั้นที่จะทำให้คนขาวอีกจำนวนมากสามารถร่วมรับความรู้สึกไม่เป็นธรรมกับคนดำได้ บีบบังคับให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง (ในสภาหรือในศาลสูงก็ตาม) ต้องออกกฎหมาย หรือตีความกฎหมาย หรือเลือกสนับสนุนนโยบายที่เอื้อต่อความเสมอภาคระหว่างสีผิว
รัฐสภาอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ อย่างที่มันล้มเหลวสืบมาตั้งแต่สิ้นสงครามกลางเมือง ปราศจากท้องถนน ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากเป็น ส.ส.หรือวุฒิสมาชิกเสียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถผลักดันกฎหมายได้สักฉบับจนสิ้นชีวิต
เช่นเดียวกับการรวบกำไร, การลดต้นทุนการผลิต, การใช้รัฐเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต, การทอดทิ้งสังคมไว้โดยปราศจากการปกป้อง ฯลฯ ของนายทุนเสรีนิยมใหม่ รัฐสภาอย่างเดียวก็ไม่อาจรักษาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจไว้แก่คนส่วนมากในสังคมได้ ต้องมี “สถาบัน” อื่นเข้ามาร่วมทำงานด้วย
และนั่นคือท้องถนน
ในทุกประเทศ ต่างก็มีประเด็นสำคัญอย่างฉกาจฉกรรจ์ที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยหีบบัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวทั้งสิ้น เมื่อสำนึกของผู้คนเปลี่ยนไป รัฐสภาและระบอบอำนาจเดิม ไม่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาสำคัญเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการผูกขาดอำนาจของกองทัพ, ของชนชั้นบางชนชั้น, ของพรรค, ของบุคคล ฯลฯ ซึ่งดำเนินมานานในประวัติศาสตร์ หรือการผูกขาดตลาดของทุนใหญ่บางกลุ่ม, หรือการรอนสิทธิปกครองตนเองของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนต่างชาติพันธุ์กับประชากรส่วนใหญ่ ฯลฯ เมื่อใดที่ผู้คนต้องการปรับเปลี่ยนความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ ไม่มีองค์กรการเมืองใดทำให้ได้ นอกจากต้องใช้ “ท้องถนน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และดังที่กล่าวข้างต้น แม้แต่เผด็จการในโลกปัจจุบันก็ต้องอาศัยท้องถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอยกตัวอย่างประเทศไทยซึ่งรู้กันดีกว่าอิหร่าน, ตุรกี, อียิปต์, จีน หรืออีกหลายประเทศในละตินอเมริกา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภามหาโหด 2535 ไม่มีการรัฐประหารใดในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ โดยไม่เริ่มต้นที่ท้องถนนก่อน
(หลายคนยังคิดว่า กลุ่ม กปปส.เชื้อเชิญให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ แต่ผมคิดว่า กปปส.เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารต่างหาก ดังที่ผู้นำการเคลื่อนไหวของ กปปส.ให้สัมภาษณ์หลังการรัฐประหารว่า ตัวเขาได้ติดต่อสื่อสารกับผู้นำกองทัพมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นเดียวกับความสัมพันธ์บางอย่าง ระหว่างการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “พันธมิตรฯ” กับการรัฐประหารในปี 2549)
เมื่อท้องถนนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของการเมืองยุคใหม่เสียแล้วเช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องสถาปนา “ธรรมนูญ” ของท้องถนนขึ้น ให้กว้างขวางครอบคลุมการใช้ถนนเพื่อการอื่นนอกจากการจราจรด้วย ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับกฎจราจรซึ่งมีใช้อยู่ในทุกประเทศ จุดมุ่งหมายของ “ธรรมนูญ” ดังกล่าวก็เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่ายบนท้องถนน ไม่ใช่กีดกันให้ถนนใช้ได้เฉพาะกิจกรรมเพียงอย่างเดียว คือการสัญจรของผู้คนและยานพาหนะ
การสัญจรย่อมมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะกระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมากในเมือง แต่การใช้ท้องถนนทางการเมืองก็มีความสำคัญเช่นกัน และกระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมากทั่วประเทศ หากยอมรับหลักการข้อนี้แต่ต้น ธรรมนูญของท้องถนนต้องกำหนดให้ถนนถูกใช้อย่างไม่กีดกันกิจกรรมทั้งสองอย่าง ในหลายกรณีอาจใช้ร่วมกันในเวลาเดียวกันได้ด้วยซ้ำ มีเฉพาะบางกรณีของการใช้ท้องถนนทางการเมืองเท่านั้น ที่ไม่เปิดให้แก่การสัญจรเลย แต่นั่นก็เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพียงส่วนเดียวของถนน เหมือนการซ่อมสร้างอื่นๆ ที่ถนนต้องถูกใช้จนหมดไปเหมือนกัน และสิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ กิจกรรมทางการเมืองบนท้องถนนเป็นการใช้ถนนชั่วคราวเสมอ มักกินเวลาน้อยกว่าการปิดถนนเพื่อสร้างอุโมงค์ด้วยซ้ำ
ธรรมนูญจะกำหนดให้การสัญจรและการเมืองใช้ถนนโดยเบียดเบียนกันน้อยที่สุด แม้ไม่มีฝ่ายใดได้ถนนไปเต็มที่
ที่สำคัญกว่าการแย่งกันใช้ระหว่างการสัญจรและการเมือง ธรรมนูญจะสร้างสำนึกใหม่ให้ผู้คนเห็นว่า การเมืองบนท้องถนนกับในรัฐสภาเป็นการเมืองในระบอบเดียวกัน และว่าที่จริงในโลกปัจจุบัน แยกออกจากกันไม่ได้ด้วยซ้ำ การเมืองในรัฐสภาภายใต้ประธานสภาที่ “เซื่อง” แก่อำนาจเพียงคนเดียวเสียอีก ที่ ส.ส.แทบจะพูดอะไรไม่ได้เลย นอกจากสิ่งที่ประธานเห็นชอบ
แทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรามีตุลาการท้องถนนไม่ดีกว่าหรือ เพื่อว่าสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองที่มั่นคง