วิรัตน์ แสงทองคำ : ธุรกิจ+สังคม จากกรณี COVID-19

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

บางเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย น่าสนใจใคร่ครวญเป็นพิเศษกว่ากรณีอื่นๆ

จุดปะทุแห่งความเคลื่อนไหวที่สำคัญ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือซีพี ทุ่ม 100 ล้านบาทเร่งสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี ช่วยกรณี COVID-19″ (5 มีนาคม 2563) หัวข้อข่าวทำนองข้างต้นได้เผยแพร่ในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง หากจะให้แน่ชัด คงต้องอ้างจากต้นแหล่ง (http://www.cp-enews.com/ และ http://www.wearecp.com/)

จุดเริ่มต้นมาจากกรณี COVID-19 อาจถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลกยุคใหม่

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี SARS โรคระบาดซึ่งดุเหมือนคล้ายดัน ปะทุขึ้นในประเทศจีนครั้งก่อนหน้าเมื่อช่วงปี 2544-2545 ผู้มีติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน เสียชีวิตไปกว่า 700 คน

ที่น่าสนใจ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 คน มีเพียง 5 ประเทศคือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา และสิงคโปร์

ขณะที่โลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป มีผู้ติดเชื้อไม่กี่ประเทศ ในแต่ละประเทศเป็นจำนวนเพียงตัวเลขตัวเดียว

ภาพสะท้อนเมื่อเกือบๆ 2 ทศวรรษที่แล้ว สัมพันธ์กับช่วงต้นๆ สังคมจีนยุคใหม่ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศใหญ่ที่สุด รายล่าสุด กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์

ภาพนั้นแตกต่างอย่างมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อ 9 มีนาคม 2563) COVID-19 มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 110,000 คน ครอบคลุมทั่วโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนมากถึง 109 ประเทศ เสียชีวิตแล้วมากกว่า 3,800 คน มีถึง 6 ประเทศมีผู้ติดเชื้อเกิน 1,000 คน

ที่น่าสนใจ ยุโรปกลายเป็นทวีปที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับสอง รองจากประเทศจีน ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วเกือบๆ 12,000 คน

ภาพอันเป็นไปของโลกยุคใหม่ เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันมากกว่ายุคใดๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไม่เพียงผ่านระบบสื่อสารอันครอบคลุม เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตซึ่งเชื่อมโยงเข้าถึงปัจเจกชนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมสำคัญ ทั้งทางการเงินและการซื้อขายสินค้า

ขณะเดียวกันกระตุ้นให้ประชากรโลกออกเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ผลกระทบของ COVID-19 รุนแรงและกว้างขวางมากกว่าที่คาดคิดไว้แต่แรก

 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี มีเครือข่ายธุรกิจสำคัญอยู่ทั้งจีนและไทย ย่อมเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไปได้ดี

“จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน โดยเฉพาะวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้เกิดในประเทศไทย ถือเป็นหน้าที่ของเครือซีพีในการทำเพื่อคนไทย จึงได้ตัดสินใจนำเงินจำนวนประมาณ 100 ล้านบาทเร่งสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นและประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง ในช่วงเวลาวิกฤตที่คนไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัย”

สาระข้างต้นระบุว่า เป็นถ้อยแถลงของธนินท์ เจียรวนนท์ นับเป็นความเคลื่อนไหวในจังหวะซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ เชื่อกันว่ามาจากมุมมองซึ่งเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

ปัญหาสำคัญ “…เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก…” ข่าวคราวในช่วงแรกๆ หลายคนยังตั้งข้อสงสัยกันก่อนหน้านี้ จึงได้มาสู่บทสรุปที่จริงจังทันที จากถ้อยแถลงยืนยันความเป็นไปของผู้นำซีพี ในฐานะผู้คร่ำหวอด ผู้เข้าถึงความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย

“จะใช้ศักยภาพของเครือข่ายการลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก จัดหาเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย สามารถใช้ในการป้องกันเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทั้งนี้ โดยโรงงานดังกล่าวจะสร้างเสร็จภายใน 5 อาทิตย์ จะมีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น และประชาชนที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงต่อไป”

อีกตอนของถ้อยแถลงผู้นำซีพี นำเสนอแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ไม่เพียงสะท้อนความสามารถในการแก้ปัญหา หากเป็นโมเดลที่น่าสนใจ

อาจจะเรียกว่ากำลังจะข้ามผ่านจากบทบาทในฐานะผู้นำธุรกิจ สู่บทบาท “แบบอย่าง” ในฐานะผู้นำในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคมในวงกว้าง อาจสะท้อนมุมด้านตรงกันข้ามไปยังผู้นำ ผู้มีอำนาจรัฐ หรือไม่อย่างไร คิดกันเอาเอง

เชื่อว่าผู้นำซีพีได้ศึกษาความเป็นไปได้ ตามมาด้วยแผนการปฏิบัติที่เป็นจริงที่เป็นไปได้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ถึงขั้นมั่นใจระบุว่า “จะสร้างเสร็จภายใน 5 อาทิตย์ จะมีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3 ล้านชิ้น”

 

เพียง 3 วันจากถ้อยแถลงข้างต้น ซีพีได้เปิดฉากขั้นตอนสำคัญ เป็น “แบบแผน” เป็น “แบบอย่าง” ที่น่าสนใจ

“CP เผยโฉมห้องปลอดเชื้อ Clean Room รองรับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรี” หัวข้อข่าวทางการจากซีพีเช่นกัน (8 มีนาคม 2563 http://www.wearecp.com/) นำเสนอแผนปฏิบัติการในขั้นตอนเริ่มต้นอย่างสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม

“หลังจากประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีใน 5 สัปดาห์ สิ่งที่กลุ่มซีพีเร่งดำเนินการเป็นประการแรกคือ ด้านการควบคุมคุณภาพ สถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ก่อนการออกแบบก่อสร้างด้วยซ้ำ นั่นคือเรื่องของห้องปลอดเชื้อ Clean Room เพื่อรองรับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัย” สาระซึ่งขยายความไว้

บทบาทธุรกิจในเชิงสังคม สะท้อนผ่าน COVID-19 กรณีซีพีกับสังคมไทย เป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งในภาพที่ใหญ่กว่า

เมื่อย้อนกลับไปราวเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา มีข่าวคราวมาจากประเทศจีน สื่อไทยนำเสนออย่างกว้างขวาง “เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพี บริจาค 200 ล้าน ช่วยรัฐบาลจีนรับมือไวรัสอู่ฮั่น” (ข้างต้นอ้างจาก https://www.khaosod.co.th/ 27 มกราคม 2563)

โดยสาระสำคัญ “นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่าทางเครือซีพีเร่งบริจาคเงินและเครื่องอุปโภคบริโภครวมมูลค่า 50 ล้านหยวน (221.39 ล้านบาท) ตามความต้องการของเขตที่มีโรคระบาด โดยเป็นเงินสดจำนวน 30 ล้านหยวน (132 ล้านบาท) และเครื่องอุปโภคบริโภครวมมูลค่า 20 ล้านหยวน (88 ล้านบาท) มีอาหาร อุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เขตแพร่ระบาดต้องการอย่างเร่งด่วนเป็นหลัก”

ในกรณีดังกล่าว มีเรื่องราว คำวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมไทยต่อซีพีพอสมควร จนซีพีต้องมานำเสนอข้อมูลอีกด้านในประเทศไทย

ทว่าผมให้ความสนใจในแง่มุมที่แตกต่าง ว่าด้วยแนวทางซึ่งเป็นชิ้นส่วนหนึ่งในระดับโลก

นั่นคือบทบาทผู้นำธุรกิจโลก มีปฏิกิริยาอย่างสร้างสรรค์ต่อวิกฤตการณ์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

เปิดฉากโดยยักษ์ใหญ่ธุรกิจจีนซึ่งถือเป็นธุรกิจจะดับโลกไปแล้ว จากกรณี Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba เครือข่ายธุรกิจจีนซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ได้บริจาคเงินราว 100 ล้านหยวน เพื่อการพัฒนาวัคซีนผ่าน Jack Ma Foundation

นอกจากนี้ Alibaba Group เองได้จัดตั้งกองทุนมูลค่าอีก 1 พันล้านหยวน เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในสถานพยาบาลในมืองอู่ฮั่น จุดปะทุ COVID-19 ครั้งแรก

จากนั้นตามมาเป็นขบวน โดยกลุ่มธุรกิจจีนระดับโลก โดยเฉพาะ Tech giant ลงขันร่วมกันในแผนการที่ชัดเจน โดยเฉพาะในงานวิจัย

ที่น่าสนใจ Huawei ยักษ์ใหญ่สื่อสารไร้สายมีบทบาทช่วยสร้าง Huoshenshan Hospital โรงพยาบาลสนามฉุกเฉินพิเศษ ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 10 วัน

นอกจากนี้มีผู้นำธุรกิจระดับโลกร่วมด้วยอีกหลายราย ไม่ว่ากรณี Bill Gates ผ่าน Bill and Melinda Gates Foundation ส่วนแรกเป็นจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับจีนโดยตรงในฐานะจุดปะทุ COVID-19 และกลุ่มประเทศแอฟริกาซึ่งมีความเสี่ยงเป็นพิเศษเมื่อโรคระบาดมาถึง

อีกส่วนหนึ่ง 5 ล้านเหรียญ ให้กับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการรักษาและพัฒนาวัคซีน

รวมไปถึง Bernard Arnault เจ้าของธุรกิจในนาม LVMH แห่งฝรั่งเศส แบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกจำนวนมาก ที่รู้จักกันดี LOUIS VUITTON

และอีกคนในฐานะคู่แข่งธุรกิจกันก็ว่าได้ Francois Pinault เจ้าของ Gucci ร่วมบริจาคนับล้านเหรียญสหรัฐด้วยเช่นกัน

 

กรณีซีพีกับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยเป็นไปตามแนวทางข้างต้น เช่นเดียวกับธุรกิจระดับโลกในภารกิจทางสังคม ด้วยเป้าหมายและแผนการอันชัดเจน มีผลเชิงบวกอย่างเป็นจริงเป็นจังซึ่งสามารถติดตามประเมินผลได้ อาจจะถือเป็นกรณีแรกๆ ในสังคมไทยก็ว่าได้ อย่างน้อยที่สุดของซีพีเอง

เท่าที่ข้อมูลของซีพีเอง (จากข้อเขียนเรื่อง “ซีพี บริจาคเงินสู้ไวรัสโคโรนาให้จีน แล้วซีพีทำอะไรให้ประเทศไทยบ้าง? มาหาคำตอบกัน” http://www.wearecp.com/ 30 มกราคม 2563) มีบางตอนขอยกมา “ซีพียังมีเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมอีกด้วย โดยในปี 2561 ซีพีบริจาคเงินในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท และปี 2562 อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนสนับสนุนโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ” เท่าที่พิจารณาข้อมูลประกอบ ไม่มีแผนการใดเป็นเช่นกรณีที่กล่าวข้างต้น

ซีพีกับ COVID-19 เป็นกรณีที่แตกต่างอย่างที่เคยเป็นมาอย่างแท้จริง

เป็นไปตามแผนการ ภายใต้การไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เข้าถึงปัญหาสำคัญเป็นเรื่องเฉพาะหน้า

เป็นแผนการบริหารในภาวะวิกฤตในแง่มุมที่กว้างขึ้น ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ประเมินผลได้อย่างจริงจัง

เชื่อได้ว่าเป็นแผนการบุกเบิกซึ่งได้รับผลพวงเชิงบวกอย่างยั่งยืนต่อเนื่องพอสมควร

ที่สำคัญ มีความหมายและคุณค่ามากกว่าจำนวนเงินที่ซีพีลงทุนหรือบริจาค เนื่องด้วยเป็นแผนการอันตั้งใจ อาศัยด้วยความรู้ ความชำนาญ ภายใต้กระบวนการบริหารจัดการด้วยประสบการณ์ของซีพี

ผมค่อนข้างเชื่อว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นโมเมนตัมมีพลัง สร้างแรงกระเพื่อมต่อแวดวงสังคมธุรกิจไทยพอสมควร

แม้จะว่ากันว่า มีแรงเฉื่อย ด้วยผู้นำธุรกิจไทยมักลงทุนจำนวนไม่น้อยไปแล้วอย่างที่เห็นและเป็นมา กับการบริหาร “สายสัมพันธ์” อย่างจริงจังซึ่งยังคงเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่า

ผมไม่ใคร่จะเชื่อเช่นนั้น