วิเคราะห์ : วิกฤตครั้งนี้ หนักกว่าปี 2540 แค่ไหน?

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้น นักธุรกิจทุกคนต่างเชื่อหมดใจมาตลอดว่า เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักที่สุดที่ประเทศไทยเคยเกิดขึ้น และไม่คิดว่าจะไม่มีวิกฤตใดที่หนักกว่านี้อีกแล้ว

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต้นเดือนมีนาคม 2563 ก็ได้ฟังความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ระดับท็อปไฟว์ของประเทศ ว่า คิดว่าวิกฤตเที่ยวนี้จะหนักกว่าปี 2540 และยังมองไม่เห็นทางออก หนทางต่อสู้รับมือ มีแต่ขยันทำทุกวิถีทางผลักดันสินค้าที่อยู่อาศัยห้องชุดที่มีในสต๊อกออกไปให้ได้ ในทุกราคา

ฟังแล้วต้องหันมาทบทวนเปรียบเทียบวิกฤตปี 2540 กับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นปี 2563

 

ปี2540 ที่เรียกกันว่า วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้เอกชนมีการกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศมาก ไทยถูกโจมตีค่าเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แบงก์ชาติแก้ปัญหาผิดพลาด จนสุดท้ายต้องลดค่าเงินบาทจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 40-50 บาทต่อดอลลาร์

ผลที่ตามมาทันทีคือ แบงก์เจ๊ง สถาบันการเงินต่างๆ เจ๊ง ต้องปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ธุรกิจเอกชนที่กู้เงินต่างประเทศหนี้ท่วมเกินทุน แม้บางธุรกิจไม่มีปัญหา แต่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อต่อก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ และสุดท้ายคนทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงโดยอ้อมเหล่านี้ ตกงานมากมาย

เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นและส่งผลอย่างรวดเร็วประดุจฟ้าผ่า จากยอดพีระมิดบนสุดของระบบเศรษฐกิจ เครดิตดีกู้เงินตราต่างประเทศมาก ก็เสียหายมาก กลายเป็น “เจ้าสัว เยสเตอร์เดย์” ในชั่วข้ามคืน

ประเทศสูญเสียสำรองเงินตราต่างประเทศไปมหาศาล

แต่ถึงกระนั้น บางภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิกฤตก็ยังดำเนินไปเป็นปกติ อาทิ คนในภาคเกษตรของประเทศซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ก็ยังทำมาหากินเป็นปกติ ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ แถมยังรองรับญาติพี่น้องที่ตกงานมาจากเมืองใหญ่ให้มีที่อยู่ที่กินได้สบาย

ธุรกิจส่งออก ได้รับอานิสงส์เป็นผลบวก เพราะสินค้าไทยราคาถูกลงในสายตาต่างประเทศ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทก็ได้ราคาที่สูงขึ้นอีกต่างหาก

 

สําหรับวิกฤตปี 2563 ล่ะ เป็นอย่างไร

สิบปีมานี้ ปัญหาที่สะสมต่อเนื่องของเศรษฐกิจคือปัญหารายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่เพิ่มขึ้น ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรมีรายได้ที่แท้จริงลดลง คนชั้นกลางในเมืองมีรายได้ที่แท้จริงใกล้เคียงเดิม ขณะที่วิถีชีวิตรอบตัวเปลี่ยนแปลงทันสมัยมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการกู้เงินเพื่อจับจ่ายสินค้าในการดำรงชีวิต อาทิ บ้าน รถยนต์ ท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งระบบ

ปัญหาเบื้องต้นของวิกฤตเที่ยวนี้จึงเป็นปัญหากำลังซื้อถดถอย กำลังซื้อไม่มี และยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนทับถมไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเบื้องหลังของปัญหาเหล่านี้ก็คือปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ที่ไม่มีการแก้ไข ทำให้ขีดความสามารถในการแข็งขันของประเทศตกต่ำลงเรื่อยๆ

ยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสากล ทำให้เป็นอุปสรรคในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และถูกกระชากอย่างแรงเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาที่ประเทศไทยปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งเป็นอันดับต้นของโลกตลอดทั้งปี สร้างความเสียหายกับการส่งออกของประเทศอย่างมาก

เครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ของระบบเศรษฐกิจไทย คือธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังทำรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน แต่ก็ต้องปิดฉากลงด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้นักท่องเที่ยวหายไป และกำลังซื้อจับจ่ายภายในประเทศก็หดตัวไปด้วยอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้ระบบเศรษฐกิจจึงเสมือนอยู่บนเครื่องร่อนที่ปราศจากเครื่องยนต์ใดๆ

 

ประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์ระดับนโยบายของรัฐบาลนั้น แค่การรับมือกับไวรัสโควิด-19 ก็เห็นได้ชัดเจนว่าอ่อนมาก ดังนั้น เครื่องร่อนเครื่องนี้จะหวังกับคนขับและหางเสือไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องการคงสภาพการเมืองเช่นนี้ต่อไปยาวนาน และยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีล็อกเป้าล็อกทิศไว้อีกชั้นหนึ่ง

วิกฤตปีนี้เทียบกับปี 2540 ปีไหนจะหนักกว่ากัน

หนังเพิ่งเริ่มฉาย อย่ารีบด่วนสรุป จนกว่าจะได้สัมผัสมันด้วยตัวเอง