ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มีนาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ มีนัยยะสำคัญยิ่ง เพราะหมายความว่าพลังของคนรุ่นใหม่ที่อดีตถูกสบประมาทว่ามีอยู่แต่เพียงในโลกออนไลน์นั้น ขณะนี้ได้เผยตัวตนและส่งเสียงของพวกเขาสู่ผู้มีอำนาจแล้ว
จากรัฐบาล คสช.สืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ความไร้เอกภาพของพรรคเพื่อไทย จากนักกิจกรรมสู่บทบาทผู้แทนราษฎรของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม นอกจากอนาคตของประเทศไทยแล้วไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่ง การเติบโตของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ก็เช่นกัน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “แชมป์” ธีรชัย รวิวัฒน์ ชื่อซึ่งไม่เคยปรากฏตามหน้าสื่อสำนักใดเลย กลายมาเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ภายในเวลาชั่วข้ามคืนหลังการขึ้นปราศรัยด้วยท่าทีนุ่มนวล แต่สะท้อนความรู้สึกในใจประชาชนผู้อยู่ภายใต้ความอยุติธรรม ทิ่มแทงผู้มีอำนาจอย่างเจ็บแสบ
น่าสนใจว่าอะไรที่ทำให้นักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งออกตัวแต่แรกพบกันว่าเขาไม่ใช่แกนนำจัดตั้งม็อบ หากแต่เป็นเพียงนักศึกษาธรรมดาๆ คนหนึ่ง กล้าขึ้นเวทีประกาศต่อผู้ถืออำนาจรัฐว่า ขณะนี้เขารู้สึกอย่างไร
: การออกมาแสดงพลังของนักศึกษาในลักษณะของแฟลชม็อบ วัตถุประสงค์หรือข้อเรียกร้องของเราคืออะไร
เราแค่อยากแสดงออกถึงสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ ต้องการหรือไม่ต้องการเพื่อให้ผู้มีอำนาจฟังเรา เราต้องการแสดงออกว่าโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางอำนาจที่คุณออกแบบมาเพื่อพวกคุณเนี่ย มันไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับเรา เราไม่พอใจกับสิ่งนี้ นี่คือเจตจำนงร่วมของเราที่เราต้องการแสดงออก
: ถ้าผู้มีอำนาจไม่สนใจ เมินเฉยต่อเสียงของกลุ่มนักศึกษา ก้าวต่อไปของพลังนักศึกษาจะไปทางไหน
สิ่งที่เราทำได้คือการส่งเสียงออกไป ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ฟัง อย่างน้อยที่สุดเขาก็จะได้ยิน ถ้าเขายังไม่ฟังก็ต้องดังมากกว่านี้
: มีคนไม่น้อยสบประมาทการแสดงออกของกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ว่ามีแค่ในโลกออนไลน์ เป็นแค่นักเลงคีย์บอร์ด แต่ไม่มีพลังในโลกความเป็นจริง
จริงครับ เราคือนักเลงคีย์บอร์ด อย่าลืมว่าโลกออนไลน์คือโลกเสมือนจริง ในเมื่อโลกความเป็นจริงเราเผชิญกับความน่ากลัว ความกดดัน โลกออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ขนาดคนที่หลบลี้การต่อสู้ไปอยู่ในโลกเสมือนจริงยังอดรนทนไม่ได้ จนต้องออกมาแสดงออกในโลกความเป็นจริง นั่นหมายความว่าพวกเขาก็เหลืออดแล้วเหมือนกัน
: ผู้มีอำนาจและมวลชนฝ่ายตรงข้ามมักจะเชื่อเสมอว่ากลุ่มนักศึกษาที่เห็นต่างจากพวกเขามีคนปลุกปั่นอยู่เบื้องหลังหรือใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือ
ถ้ามีจริงนะ ผมจะโกรธมากเพราะผมไม่ได้ (หัวเราะ) แต่มันไม่มีไง คือถ้าบอกว่ามีคนยุยงปลุกปั่นชี้นำให้นักศึกษาออกมา ถ้ามีจริงผมก็ชี้ตัวได้อยู่คนหนึ่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนนี้แหละคือคนที่ทำให้เราต้องออกมา
: รู้สึกกลัวหรือไม่กับผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการขึ้นปราศรัย มีวิธีจัดการกับความรู้สึกอย่างไร
กลัวสิครับ เรากำลังอยู่ในสังคมแห่งความกลัว ผมแค่คนธรรมดาคนหนึ่งทำไมจะไม่กลัว แต่ถามว่า ถ้าเรากลัวแล้วมันเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เราจะยังยอมให้สภาพแบบนี้คงอยู่ต่อไปอย่างนั้นหรือ ถ้าเราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าอยากจะแสดงออก ก็แค่แสดงออกออกมา ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลงแล้วไม่แสดงออก ไม่เรียกร้องและโหยหา ผู้มีอำนาจจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณต้องการความเปลี่ยนแปลง
: จริงๆ แล้วเรากำลังสู้อยู่กับอะไร
เราอาจจะมองว่ากำลังสู้กับความไม่เป็นธรรม สู้กับโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว แต่สำหรับผม มองว่าเรากำลังสู้อยู่กับความนิ่งเฉยต่อสภาพที่เป็นอยู่ การปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรมในสิ่งที่มันไม่ควรจะเป็น
: การมีอยู่ของอำนาจนอกระบบที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เป็นปัญหาหรืออุปสรรคของการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน
การมีอยู่ของสถาบันทางการเมืองใดๆ หรือกลุ่มองค์กรใดไม่ใช่ปัญหาของการเมืองไทย แต่อยู่ที่ว่าบทบาทของสถาบันหรือองค์กรนั้นๆ ที่เข้ามาแทรกแซง ก้าวก่าย ทำให้โครงสร้างทางการเมืองมันบิดเบี้ยว เช่น กองทัพ
: ในสภาวะที่ทั้งสามเสาหลักค้ำของอำนาจอธิปไตย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมาตามหลักการที่ควรจะเป็น แสดงว่าตอนนี้อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอีกต่อไปแล้ว
เราต้องยืนยันหนักแน่นว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน ดังนั้น อำนาจควรไหลกลับคืนสู่แหล่งที่มาของมันคือประชาชน สิ่งที่เราทำได้ขณะนี้คือการส่งเสียง ส่วนอนาคตเราจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้แน่นอน แต่จะขยับเขยื้อนต่อไปยังไงขึ้นอยู่กับมวลชนตัดสินใจ
: มองการเปลี่ยนท่าทีของมวลชนที่เคยสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มหันกลับมาส่งเสียงไม่เห็นด้วย ไปจนถึงไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลนี้อย่างไร
ผมว่ามันเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าการฉีกขาดเป็นสองขั้วมันเริ่มสลายออกแล้ว และมันเป็นสิ่งที่ควรทำด้วย เพราะว่าในฐานะที่เขาเป็นคนเลือก พล.อ.ประยุทธ์มา ในเมื่อคนที่เขาเลือกมาไม่ได้สนองความต้องการเขาได้ เขาก็มีสิทธิที่จะบ่นที่จะด่า
: อะไรคือเหตุผลที่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ตัดสินใจเลือกพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
มันชัดเจน เพราะทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทหาร ต่างก็มีส่วนที่ทำให้สถานการณ์มาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าทุกฝ่ายทำอะไรที่ฟังก์ชั่นหรือดีได้กว่านี้ วันนี้นักศึกษาคงไม่ต้องออกมา และจริงๆ แล้วแม้แต่พรรคอนาคตใหม่เองก็ยังเป็นตัวแทนของเราไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยพรรคอนาคตใหม่กล้าพูดในสิ่งที่พรรคอื่นไม่แตะ เช่น การปฏิรูปกองทัพ
: ในวันนี้ที่ไม่มีพรรคอนาคตใหม่แล้ว คิดว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นตัวเลือกของคนรุ่นใหม่
ผมตอบแทนคนอื่นๆ ไม่ได้
สภาวะการเมืองสองขั้วที่ดำเนินมานานกว่า 1 ทศวรรษ สู่วันที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการความขัดแย้ง และไม่ยอมรับผู้มีส่วนก่อความขัดแย้งให้เป็นตัวแทนของพวกเขา
พลังของคนรุ่นใหม่กับการเมืองไทยจะดำเนินไปอย่างไรต่อจากนี้ ยังไม่มีคำตอบ