วงค์ ตาวัน | ฝีใกล้แตกแล้ว

วงค์ ตาวัน

มาถึงขั้นเกิดข่าวลือปฏิวัติรัฐประหารขึ้นอีกแล้ว นั่นก็แปลว่าสถานการณ์การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน สถานการณ์ของรัฐบาลอยู่ในอาการที่น่าจะไปต่อได้ยากแล้ว สถานการณ์รวมของประเทศชาติบ้านเมือง เต็มไปด้วยปัญหาสารพัดที่กระทบหนักต่อชาวบ้าน จนมาถึงจุดที่เรียกว่า “ฝีใกล้แตกแล้ว”

วันนี้โลกทั้งโลกต้องหยุดชะงักด้วยไวรัสโควิด-19 ที่ยังระงับยับยั้งไม่อยู่ ทำให้เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าขาย อัมพาตไปหมด

เป็นความจริงที่ว่า ประเทศไทยก็เผชิญภัยไวรัสไม่ต่างจากคนทั้งโลก แต่ของเรามีปัญหาซ้ำซ้อนทำให้อาการหนักกว่า เพราะสภาพเศรษฐกิจพื้นฐานเดิมก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เจอวิกฤตไวรัสเข้าให้ยิ่งยากลำบาก แล้วเมื่อโรคระบาดนี้ผ่านพ้นไปได้ ก็ยังมองไม่ออกว่าจะมีฝีไม้ลายมือกอบกู้ให้ฟื้นคืนได้รวดเร็วอย่างไร

“หรือในขณะที่รัฐบาลทั้งโลกต้องรับมือไวรัสกันอลหม่าน แต่ของเราอลเวงยิ่งกว่า เพราะเรามีปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด อันที่จริงก็เข้าใจได้ไม่ยาก ทั้งโลกก็ขาดเหมือนกัน แต่ของเราเลวร้ายกว่านั้น เพราะมีการกักตุน ยักยอกไปขายในตลาดมืดและในต่างประเทศ”

ที่น่าสลดที่สุดก็คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ด่านหน้าที่ต้องรับมือกับไวรัสมหาภัยเหล่านี้ กลับไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ ไม่มีหน้ากากให้ใช้

จนกระทั่งวงการแพทย์ต้องออกมาตั้งคำถามถึงผู้บริหารรัฐว่า จัดหาหน้ากากให้เพียงพอก่อนจะไปแจกเงินได้ไหม

“จึงทำให้แผนอัดฉีดเงินแจกจ่ายเงินหว่านไปทั่วเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะโควิด ลงเอยก็ต้องพับแผนเก็บไป เพราะทนเสียงวิจารณ์ไม่ไหว!”

เหล่านี้สะท้อนว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะที่แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ส่วนที่พยายามคิดจะลงมือ ก็กลายเป็นว่าคิดไม่เข้าท่าเข้าทาง ไม่เป็นที่ยอมรับ

“นี่ไง ต้องการรัฐบาลที่มีพลเอกเป็นผู้นำ เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย จัดการกับพวกคิดต่าง พวกชังชาติ แต่พอเผชิญกับวิกฤตร้ายแรงด้านโรคภัยผสมด้านเศรษฐกิจ ก็ไม่รู้จะแก้ไขจัดการเช่นไร”

สถานการณ์ที่ประชาชนคนไทยต้องแบกรับในวันนี้ ควรจะมีข้อสรุปได้ชัดเจนแล้วว่า มันเริ่มต้นมาจากแผนการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในปี 2557

ทำให้ได้รัฐบาลทหารมา 5 ปี แล้วมีภาค 2 ต่ออีก ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เนื้อแท้ยึดกุมโดยกลุ่มพลเอก

โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นตัวกำกับ เพื่อให้อำนาจอยู่ในมือกลุ่มพลเอกดังกล่าวไปยาวนานที่สุด

แต่ทำให้เรามีรัฐบาล ที่มาจากคนกลุ่มเดียว ถนัดอยู่เรื่องเดียว ไม่เปิดโอกาสให้คนเก่งคนสามารถ คนมีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจมองกว้างรู้ทันโลกเข้ามาร่วมบริหาร

พอเจอวิกฤตหนักไวรัสเช่นนี้ รัฐบาลก็เลยอยู่ในภาวะไปไม่เป็น

ภาวะผู้นำในสถานการณ์วิกฤต เชื่อว่าในวันนี้ประชาชนคงสรุปได้แล้วว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอบผ่านหรือสอบตก เพราะก่อนหน้านี้ประเทศเราก็เคยเผชิญภาวะวิกฤตร้ายแรงมาแล้ว ไม่ว่าจะวิกฤตโรคระบาด วิกฤติสึนามิ วิกฤตจลาจลในต่างประเทศกระทบกับชีวิตคนไทย

“แล้ววิกฤตเหล่านี้ มีบทสรุปให้เห็นแล้วว่า นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นได้แสดงภาวะผู้นำในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตได้อย่างดียิ่งเช่นไร!”

พอมาเกิดสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิดในยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำ วันนี้เราก็ได้เห็นคำตอบกันถ้วนหน้าแล้วว่าสอบผ่านหรือไม่

ขณะเดียวกัน การที่บ้านเมืองเราเดินมาถึงจุดนี้ ต้องย้อนมองกลับไปยังจุดเริ่มต้นว่า ทุกอย่างมีความเป็นมาจากเหตุการณ์ในปี 2557

นั่นก็คือ มีการจัดม็อบชนชั้นสูง ไฮโซ เพื่อนำไปสู่การล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็คือการโค่นระบอบทักษิณ ที่โค่นแล้วโค่นกันอีกตั้งแต่ปี 2549 แต่ก็โค่นไม่จบเสียที

ม็อบนกหวีด ทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน จนเหลือทางรถถังทางเดียว

“นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ คสช.เข้าสู่อำนาจ”

ขณะที่คณะรัฐประหารปกติ อยู่ปีเดียวก็รีบถอย ให้รัฐบาลพลเรือนรีบมาสางต่อ เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลทหารมีแต่ทำให้เศรษฐกิจทรุด

แต่เพราะวางแผนกันยาวนานลึกล้ำเกินไป รัฐบาลทหารเลยอยู่ยาว 5 ปี เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้มีอำนาจผูกขาดอยู่ไปเรื่อยๆ

“คราวนี้เศรษฐกิจในยุครัฐบาลทหารที่ตกต่ำอย่างแน่ๆ อยู่แล้วก็เลยดำดิ่งจนกู่ไม่กลับ”

พอเลือกตั้ง 2562 ก็ได้รัฐบาลทหารแอบแฝงอยู่ต่อ โดยไม่คิดว่าฝีมือในการแก้เศรษฐกิจมีหรือไม่

คิดอย่างเดียวคือ รักษาอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมกลุ่มขุนศึกขุนนางกลุ่มทุนเจ้าสัวเอาไว้ให้ยาวนานที่สุด

ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐบาลประชาธิปไตย ที่กล่าวหาว่านักการเมืองประชานิยมอะไรทั้งหลายนั้น ก็คือการเอาใจประชาชน คำนึงถึงประชาชน

“กลายเป็นว่าเกลียดนักการเมือง เลยเรียกหาทหาร แล้วได้รัฐบาลที่ไม่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน เพราะเป็นตัวแทนของกลุ่มขุนศึกขุนนางทุนใหญ่”

ทั้งหลายทั้งปวงเพราะเป็นรัฐบาลที่ยึดโยงกับอำนาจส่วนอื่น ทุ่มเทความสามารถไปในเรื่องอื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่

พอเกิดวิกฤตโรคภัยร้ายแรงที่กระทบทั้งโลกและทั้งประเทศของเรา จะเอารัฐบาลนายพลเอกไปแก้อย่างไร!?

แต่ปัจจัยในบ้านเมืองเริ่มแปรเปลี่ยนไปหลายประการ ทำให้อำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยแข็งแกร่งมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น มาในยุคนี้เริ่มไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยพลังคนรุ่นใหม่ที่เริ่มฟื้นคืนมา

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทำให้มีพรรคการเมืองตัวแทนคนรุ่นใหม่เกิดขึ้น และปลุกให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวในทางการเมืองอย่างมโหฬาร แห่กันไปเลือกตั้งอย่างล้นหลาม

แต่ก่อนที่คนหนุ่ม-สาวจะสนใจการเมืองการเลือกตั้งอย่างคึกคักกว้างขวาง ได้ผ่านการสะสมอารมณ์ความนึกคิดและผ่านการเคลื่อนไหวผ่านโลกโซเชียล ผ่านทวิตเตอร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมาจากความอึดอัดกับระบบเผด็จการ อำนาจรัฐประหาร

“นั่นเพราะจิตวิญญาณเสรีนิยมเป็นพื้นฐานของคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว”

แต่การเลือกตั้งผ่านมาไม่ถึงปี พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็ต้องปิดฉากในเวทีรัฐสภา

นั่นจึงจุดชนวนให้คนหนุ่ม-สาวลุกออกจากหน้าจอ มาร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างกว้างขวาง

“บรรดาคนที่เคยเฝ้ารอวันฟื้นตัวของขบวนการนักศึกษา ต่างพากันเอ่ยปากขอบคุณรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำทุกอย่างจนคนรุ่นใหม่ทนไม่ไหว ทำให้ขบวนการนักศึกษากลับมาสู่สังคมไทยได้อีกหน!!”

แฟลชม็อบที่เกิดขึ้นและระบาดไปทั่วแทบทุกมหาวิทยาลัย เป็นกระแสที่ต้องจับตา และไม่ใช่กระแสที่จบลงได้ง่ายๆ

เมื่อผสมผสานเข้ากับความไม่พึงพอใจของประชาชนทั่วไป จากปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดต่อเนื่องมาตลอดในยุครัฐบาลทหารมาจนถึงยุครัฐบาลนี้

ขณะเดียวกัน ขบวนแถวของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย กำลังเร่งเครื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าเป็นต้นตอใหญ่ที่ทำให้บ้านเมืองเราก้าวมาถึงจุดเสื่อมถอยอย่างหนักในวันนี้

“ขบวนแถวทั้งหลายทั้งปวง จะร้อนแรงมากขึ้นหรือไม่!?”

ส่วนหนึ่งขึ้นกับกลุ่มอำนาจปัจจุบันว่ารู้ตัวหรือยัง ว่าอยู่ในจุดที่กำลังไปได้ยากลำบาก

ถ้ารู้ตัวและยอมปรับแก้หรือยอมถอย ทุกอย่างก็จะค่อยๆ คลี่คลาย

จะลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แบบนิ่มนวลหรือแบบหนักหน่วง แล้วแต่จะเลือก!