“ไทแคค” ปราบ “อาชญากรไซเบอร์” มือฉมัง “บิ๊กโต้ง” นำทีมไล่ล่า ช่วยเหยื่อล่วงละเมิดทางโซเชียล

สถานการณ์ “การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต” มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรี โดยเฉพาะการละเมิดผ่านช่องทางออนไน์

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้แต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Childern-TICAC) หรือเรียก “ไทแคค” มอบหมายให้ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพิเศษในการสืบสวนสอบสวนทางเทคนิค และทำงานโดยยึดหลักการเอาเด็กและผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง กับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ

“ไทแคค” ได้ดำเนินการกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน มีผลการจับกุมทั้งสิ้น 218 คดี

แบ่งเป็นค้ามนุษย์ 70 คดี ล่วงละเมิดทางเพศ 39 คดี ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก 88 คดี นำเข้าข้อมูลอันลามกเข้าสู่ระบบ 1 คดี และฐานความผิดอื่นๆ อีก 20 คดี

ทั้งนี้ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ หรือ “บิ๊กโต้ง” ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนศูนย์ไทแคค มีโปรไฟล์จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน (นรต.) รุ่น 37 ชีวิตรับราชการถือเป็นหนึ่งใน “มือปราบ” ผู้ช่ำชองด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยครั้งหนึ่งเคยรับตำแหน่งรองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี (บก.ปดส.) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.)

นอกจากนี้ยังมี “ดีกรี” เคยเป็น “เอฟบีไอ” ทำงานจับกุมผู้กระทำความผิดต่อเด็ก แรงงานและเรื่องเพศในสหรัฐนานกว่า 1 ปี

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เผยว่า “ศูนย์ไทแคค” มีนโยบายหลักที่สำคัญและเป็นภารกิจชัดเจน คือการป้องกันปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศในอินเตอร์เน็ต

เป็นความร่วมมือกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา และเอฟบีไอ ในการร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติงานการล่วงละเมิดต่อเด็กผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตในประเทศไทย

โดยเน้นการสืบสวนแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อหาข้อมูลสำหรับป้องกันและปราบปรามคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มักตกเป็นเหยื่อคดีทางเพศ

และยอมรับว่าปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย กลุ่มผู้กระทำผิดเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการล่อลวงผู้เสียหายมากขึ้น

โดยข้อมูลของไทแคคยังพบว่ายังมีแนวโน้มการกระทำผิดอีกมาก และยังต้องการข้อมูลจากผู้พบเห็นการกระทำผิดให้แจ้งเบาะแสเข้ามา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม แต่ยอมรับว่าในขณะนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องอบรมการฝึกบุคลากร เนื่องจากเป็นงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยี

สำหรับโครงสร้างศูนย์ไทแคค มีทั้งสิ้น 8 ชุดปฏิบัติการ ครอบคลุมทั้งประเทศ อาทิ ชุดสืบสวนและชุดวิเคราะห์พยานหลักฐานทางดิจิตอล ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งต้องผ่านการอบรมรวบรวมพยานหลักฐานทางดิจิตอล มีทักษะการประสานงานจากไทยไปที่ศูนย์คนหาย วอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งศูนย์มีบุคลากรกว่า 100 คน ส่วนกลาง 40 คน ภูมิภาค 60 คน

ไทแคคมีความครบวงจรทางด้านออนไลน์ อินเตอร์เน็ต มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด

โดยนำเอาข้อมูล วิธีการ หลักปฏิบัติเทรนนิ่งมาจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา และเอฟบีไอ

คนที่จะมาทำงานในไทแคคต้องผ่านการอบรมถึงระดับที่สามารถทำงานได้ หากหน่วยใดมีเพียงคนเดียวก็ทำแค่คนเดียว แต่ถ้ามีงานที่ซับซ้อนก็จะส่งส่วนกลางลงไปช่วย จะไม่เอาคนไปอยู่ในศูนย์ให้เต็มโควต้า

หากมีคนแต่ไม่มีความสามารถ ก็ไม่มีประโยชน์

พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวอีกว่า กรณีเมื่อตกเป็นเหยื่อถูกล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต ให้แคปหน้าจอที่มีการกระทำความผิด ถ่ายวิดีโอหน้าจอที่มีการกระทำความผิด เก็บลิงก์หรือยูอาร์แอลที่มีการกระทำความผิด เก็บพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พยานหลักฐานทางการเงิน บันทึกการพูดคุยต่างๆ เป็นต้น ขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียน สามารถส่งข้อมูลมาได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก “Thailand Internet Crimes Against Childern-TICAC” หรือโทร. 09-8901-9903

ส่วนใหญ่ผู้ที่แจ้งเข้ามาจะเป็นผู้ปกครอง หรือมีผู้ส่งมาแจ้งเบาะแสจากโซเชียลมีเดีย

ตัวอย่างเช่น กรณี “หลานของผม” ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ได้ส่งชุดปฏิบัติการออกไปทำ ซึ่งการทำงานแต่ละกรณีต้องเงียบที่สุด เพราะหลักฐานถูกลบทิ้งได้ง่าย เมื่อรับเรื่องร้องเรียนมา จะรีบทำข้อมูลก่อน วิเคราะห์สถานการณ์ พยานหลักฐาน ความเป็นไปได้ของคดี

เมื่อวิเคราะห์เสร็จเรียบร้อยแล้วจะดูความซับซ้อนของคดีเป็นหลัก หากคดีเล็กน้อยอาจให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่หากเป็นคดีที่สลับซับซ้อน ส่วนกลางก็จะทำเอง ทำข้อมูลจนเสร็จ จึงบุกไปจับกุม

แต่ละคดีผู้ชำนาญการของไทแคคต้องค่อยๆ แกะข้อมูล เมื่อได้พยานหลักฐานมาแล้วสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องแปลงพยานหลักฐานที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ทั้งหมดไปสู่การออกหมายจับคนร้ายในโลกความเป็นจริง

ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาการละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์ มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเหยื่อและครอบครัวเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะเมื่อถูกล่อลวงให้เกิดเป็นสื่อลามกและหลุดเข้าไปในโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว จะไม่สามารถเอาออกได้อีกเลย

ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าและมีโอกาสฆ่าตัวตายสูง

ชุดปฏิบัติการไทแคคจึงได้พยายามอย่างยิ่งในการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด

แต่ปัจจุบันคดีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การจับกุมเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด จึงอยากให้ผู้ปกครอง ครู ตระหนักและช่วยกันสอดส่องเด็กในปกครองในการใช้สื่อออนไลน์เหมาะสม

และอยากเตือนเด็กทุกคนให้ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ

โดยไม่ส่งสื่อลามกของตนเอง หรือวิดีโอคอลล์ เปิดกล้องแบบโป๊ เปลือย กับบุคคลอื่น

เมื่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ตำรวจก็ต้องปรับตัวให้เท่าทันอาชญากรทางไซเบอร์

ไม่ให้มีใครต้องตกเป็นเหยื่อรายต่อไป