R.I.P. คณากร : การแสดงทัศนะ “ควรก้าวข้ามความเห็นต่างทางการเมืองและมุ่งแก้ปัญหาที่รากเหง้า”

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮ์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

7 มีนาคม 2563 โลกโซเชียลก็ตกตะลึงข่าวการเสียชีวิตของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ มีการเขียนแสดงความเสียใจ ด้วยคำว่า R.I.P. ต่อท่านและครอบครัว

คำว่า R.I.P. เป็นตัวย่อของ Rest in Peace แปลว่า พักผ่อนในสันติสุข หมายถึงขอให้พักผ่อนด้วยความสงบ

ซึ่งภาษาไทยเราจะมักจะพูดว่า “ขอให้หลับสบาย ไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง” วลี “Rest in peace” มาจากภาษาละติน Requiescat in Pace

ผู้คนส่วนใหญ่แสดงความเสียใจต่อครอบครัวท่านกับการจากไปของท่านผู้พิพากษาผู้นี้

แต่ก็มีส่วนน้อยฟังดูแล้วไม่ค่อยให้เกียรติท่านแม้ท่านเสียชีวิต อาจจะด้วยทัศนะที่เคยแสดงออกของท่านที่คนฟังดูแล้ว (อาจทำให้คนเชียร์รัฐบาลหรือไม่เห็นด้วยกับฝ่ายค้าน) ว่าท่านฝักใฝ่พรรคอนาคตใหม่

“เราจึงไม่แปลกที่ความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันทำให้คนเหยียดหยามกันได้ โดยเฉพาะสื่อใหญ่ เพียงแค่คนเดียว นักการเมืองสตรีด้อยค่าคนหนึ่ง หรือเมื่อเห็น คอมเมนต์ในโลกโซเชียลของผู้คนแล้วเศร้า กรณีคณากรตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองครั้งที่สอง และทิ้ง จม.ให้เหตุผล”

สิ่งเหล่านี้มันควรคำนึงถึงมนุษยธรรมหรือความเป็นมนุษย์มากกว่าทัศนะทางการเมือง

คือการตอบโต้ท่าทีของสื่อใหญ่คนดังกล่าว

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ท่านผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ” อดีตผู้พิพากษาจังหวัดยะลา เคยเปิดเผยจดหมายถึงสาเหตุของการยิงตัวเองในศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 และต่อมาได้ถูกสั่งตั้งคณะกรรมการสอบกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้นายคณากรไป “ช่วยทำงานชั่วคราว” ในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่

สื่อและคนทั่วไปโดยเฉพาะชายแดนใต้ ตั้งคำถามว่า “จากวันนั้นสถานะผู้พิพากษาก็กลับกลายตาลปัตรเป็น “ผู้ต้องหาเสียเอง” หรือ?”

ในโลกโซเชียลมีข้อความตั้งคำถามมากมายที่แสดงออก “ความรู้สึก (ขอใช้) ไม่ได้รับความเป็นธรรม”

เช่น ดร.วิสุทธิ บิลล่าเต๊ะ แสดงทัศนะส่วนตัวผ่านเฟซบุ๊กว่า “ระบบยุติธรรมที่สร้างโดยคนอธรรม ย่อมผลักไสผู้รักความเป็นธรรม อาลัยยิ่งต่อผู้ที่เอาชีวิตแลกความเป็นธรรม”

นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตนักข่าวบีบีซีที่หันมาทำข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็สะท้อนว่า “การเสียชีวิตของผู้พิพากษาครั้งนี้แสดงถึงความรุนแรงที่มีทั้งในศาลและนอกศาล”

โลกโซเชียลมีการเรียกร้องโดยติด #คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา #คืนความยุติธรรมให้ประชาชน เหมือนตอนที่ท่านพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรก

ดังนั้น คนในพื้นที่รวมทั้งผู้เขียนรู้สึกสงสัยมาตลอดว่า การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจากฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ น่าจะเริ่มจากปี 2548 ในคดีสำคัญก่อน และค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบมากขึ้น และปรากฏเห็นได้เมื่อปี 2557 และต่อมาฝีมาแตกตอน ผู้พิพากษาคณากรพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกตุลาคม 2562 (คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม”)

อย่างไรก็แล้วแต่ เลขาธิการสำนักศาลยุติธรรมก็ได้ออกสื่อชี้แจงว่า ได้ทำตามมาตรฐานกระบวนยุติธรรมทุกขั้นตอน ไม่มีใครสามารถแทรกแซงผู้พิพากษาคณากรได้

ซึ่งดูเหมือนว่า ท่านเลขาธิการสำนักศาลยุติธรรมจะออกมาชี้แจงช้าไปแล้ว เพราะควรจะชี้แจงตั้งแต่ผลสอบเบื้องต้นเสร็จ แต่กลับไม่มีการชี้แจงใดๆ เลยในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างน้อยควรทำความเข้าใจกับสังคมในเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงที่คนตายกล่าวหามาตลอดว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำไมถึงไม่มีการชี้แจงในเรื่องนี้เลย หลังการสอบสวนเสร็จ แต่กลับมาชี้แจงอย่างละเอียดยิบหลังคณากรยิงตัวเองอีกครั้ง

(โปรดดู https://www.thaipost.net/main/detail/59100)

แม้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีฆ่าตัวตาย ในการเรียกร้องความยุติธรรม (โดยเฉพาะตามหลักการอิสลามที่ผู้เขียนนับถือ) อย่างไรก็แล้วแต่ มิได้หมายความว่า เราจะละเลยหาต้นสายปลายเหตุของปัญหานี้

หากเราอ่านจดหมายลาตายทั้งสองครั้งของท่านคณากร ก็จะทราบดีว่า “กระบวนการยุติธรรมแม้ท่านเป็นถึงผู้พิพากษายังถูกแทรกแซง” และสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งชาวบ้าน คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาสังคมชายแดนใต้สงสัยมาตลอดโดยมีหลักฐานยืนยันในรายงานการศึกษา (โปรดดูรายละเอียดใน https://voicefromthais.wordpress.com/2019/10/12/)

ดังนั้น สิ่งที่ต้องรีบคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม, หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ, ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา, ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ไม่เหมารวมทุกคดีเป็นคดีความมั่นคง

และให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ

สำหรับการป้องกันการแทรกแซงคดีโดยปฏิรูประบบการตรวจสอบและการคุ้มครองสิทธิ ระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและระบบคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ดีจะเป็นหลักประกันให้กระบวนการยุติธรรม ดําเนินภารกิจได้อย่างเที่ยงธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ใช้อํานาจโดยมิชอบแสวงหาผลประโยชน์ หรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง

จึงควรมีมาตรการในการดําเนินการ ดังนี้

จัดระบบให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานซึ่งกันและกัน (chech and balance) ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ริเริ่มกําหนดมาตรการให้ศาลเป็นผู้อนุมัติออกหมายจับ หมายค้น หรือการเพิ่มบทบาททนายความให้เข้าร่วมระหว่างการสอบสวนผู้ต้องหา สร้างระบบความรับผิดชอบที่เหมาะสม โดยให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีอิสระในการปฏิบัติภารกิจโดยไม่ถูกแทรกแซงจากผู้มีส่วนได้เสีย แต่ความอิสระดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ระบบความรับผิดชอบที่เหมาะสมตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกลางของการทํางานมิให้เกิดการครอบงําจากภายในองค์กรหรือการแทรกแซงจากภายนอก สร้างความโปร่งใสในกระบวนการ

(อ้างอิงจากจุลสาร “จุลนิติ : ปฏิรูปกฎหมายหน้า 6 ใน https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/10reform/reform4.pdf)

ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองควรนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้

ได้แก่ การตรวจสอบค้นหาความจริงจากคณะกรรมการอิสระ, การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด, นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด และการปฏิรูปเชิงสถาบัน

โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนรวมทั้งการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา ได้แก่ พัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน, พัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล และการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ ทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้

กล่าวโดยสรุป การแสดงทัศนะต่อการจากไปของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ “ควรก้าวข้ามความเห็นต่างทางการเมืองและมุ่งแก้ปัญหาที่รากเหง้า”