คุยกับทูตฝรั่งเศส ‘ฌัก ลาปูฌ’ อนาคตภูมิอากาศโลก โครงการเพื่อนักท่องเที่ยวชาวไทย(ในภายภาคหน้า)

การเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศโดยมนุษย์เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศโลกในช่วง 150 กว่าปีที่ผ่านมา ก๊าซเรือนกระจกดูดซับและกักเก็บความร้อนที่แผ่ออกจากโลก ผลคือโลกร้อนขึ้น

กิจกรรมของมนุษย์ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า การประกอบอุตสาหกรรม และการทำปศุสัตว์เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน และในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความเปราะบาง ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูง น้ำท่วม น้ำแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง และภัยธรรมชาติต่างๆ

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดมุ่งหมายสำคัญได้แก่การเสริมสร้างความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถานทูตฝรั่งเศสร่วมโครงการรณรงค์เพื่อโลกสะอาด Clean Up The World

โดยมุ่งหวังที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

สะท้อนถึง “ความเป็นธรรม” และ “หลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง” โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี ตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

“เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญซึ่งเป็นที่อาศัยของพืชและสัตว์หลากหลายชนิด เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากการทำลายถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ และจากปัญหาที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์”

“ปัญหาที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ อาทิ การเพิ่มขึ้นของประชากร การทำลายป่า มลพิษทางน้ำและอากาศ การกัดเซาะชายฝั่ง การขยายตัวของเมืองอย่างไร้การควบคุม”

นายฌัก ลาปูฌ (His Excellency Mr.Jacques Lapouge) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมว่า

“ในฐานะที่ผมดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตกำกับดูแลเรื่องการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างปี 2013-2014 เพื่อเตรียมความพร้อมในข้อตกลงปารีส ผมรับทราบถึงความตระหนักที่เพิ่มขึ้นต่อปัญหาเหล่านี้ในระดับโลกเป็นอย่างดี ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรูปแบบเศรษฐกิจของเราต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

“และอย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป ประเทศไทยเวลานี้มีความท้าทายมากมายเกี่ยวกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ”

“สำหรับการดำเนินการในประเทศไทย สถานทูตฝรั่งเศสส่งเสริมโครงการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าสถานทูตฝรั่งเศสจะยังคงดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปภายใต้กรอบแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของสถานทูตโดยเฉพาะเรื่องพลาสติก”

“ทั้งนี้ โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยของฝรั่งเศส ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (IRD) และศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยการเกษตรเพื่อการพัฒนา (CIRAD) นอกจากนี้ ก็ยังทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ในเรื่องมลพิษ”

“เราเคารพความคิดริเริ่มของรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับการใช้ถุงพลาสติก โดยผู้ค้าปฏิเสธที่จะให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า นอกจากนี้ เรายังรับทราบคำมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเคารพมติที่เกิดขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2015 หรือ COP 21 ที่กรุงปารีส”

“สถานทูตมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการจัดสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสเกี่ยวกับประเด็นมลพิษทางอากาศและพลาสติก โดยจะมีการจัดงานในเรื่องนี้ที่สำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในอีกสองสามเดือนนับจากนี้”

“นอกจากนี้ เรายังมีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส หรือ Institut de recherche pour le d?veloppement (IRD) ประจำอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งทำงานในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกสำหรับเรา”

มาถึงเรื่องการท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในประเทศฝรั่งเศส อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นภาคขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายมหาศาล สถานทูตฝรั่งเศสได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยหลายรูปแบบ

“สถานทูตฝรั่งเศสมีผู้ประสานงานด้านการท่องเที่ยวซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวหลายแห่ง และเข้าร่วมงานสำคัญต่างๆ จัดโดยสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) โดยมีการประชาสัมพันธ์ประเทศอย่างกว้างขวางผ่านศูนย์ยื่นวีซ่าทีแอลเอสคอนแทคกรุงเทพฯ (TLScontact) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก (outsource) ที่สถานทูตว่าจ้างมาให้บริการ โดยศูนย์นี้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสแจกแผ่นพับแนะนำประเทศด้วย” ท่านทูตชี้แจง

ด้านหน้ามหาวิหารซาเคร-เกอร์ (Basilique du Sacré-Cœur)

“เราสามารถส่งมอบวีซ่าท่องเที่ยวได้เร็วภายใน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจึงเพิ่มขึ้น ทุกคนในสำนักงานทำงานหนักเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว”

“ในแต่ละปี สถานทูตฝรั่งเศสจะจัดหรือสนับสนุนงานสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศฝรั่งเศส อาทิ งาน Go?t de France/Good France ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองศิลปะด้านอาหารการกินของฝรั่งเศส, มหกรรมสินค้าฝรั่งเศส Bonjour French Fair ซึ่งจัดโดยหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย และงานสัมมนา Invest in France ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การลงทุนในประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวของไทยและผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ให้บริการของฝรั่งเศสก็ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ workshop กันอย่างสม่ำเสมอ”

“ในปี 2018 ได้มีการออกวีซ่าประมาณ 65,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2017 ส่วนใหญ่เป็นวีซ่าพำนักระยะสั้น ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 83 ของการเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยว และราวร้อยละ 10 ของการเดินทางเพื่อไปทำงาน”

“จำนวนการออกวีซ่าที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากการนำกระบวนการพิจารณาออกวีซ่าพำนักระยะสั้นซึ่งใช้เวลาภายใน 2 วัน (48 ชั่วโมง) มาใช้ ตามมติที่ประชุมระหว่างกระทรวงต่างๆ ของฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2017”

“ในการประชุมครั้งนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงความตั้งใจที่จะขยายการนำกระบวนการพิจารณาออกวีซ่าภายใน 2 วันไปใช้ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่ได้ใช้กระบวนการดังกล่าว โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านั้น มาตรการดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2017”

วิวหอไอเฟลและแม่น้ำแซน (Seine) ในกรุงปารีส

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองกับการท่องเที่ยวในฝรั่งเศส

“จากที่ได้มีการชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองส่งผลทำให้ยอดการเข้าพักของนักท่องเที่ยวลดลงเล็กน้อยในปี 2019 โดยลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2018”

“ปัจจุบันความนิยมของขบวนการดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงลดลงเหลือเพียงไม่กี่พันคนทั่วประเทศ ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่น่ากังวลสำหรับนักท่องเที่ยว”

“ทั้งนี้ มีการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยทุกประการเพื่อรับประกันความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับคุณภาพการท่องเที่ยวในประเทศ มีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลการท่องเที่ยว และจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัย”

“อาชญากรรมหลักที่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวในปารีสคือการลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี คนไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากอาชญากรรมดังกล่าว ในปี 2019 มีผู้เสียหายชาวไทย 194 คน อยู่ในอันดับที่ 40 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียหายชาติอื่นๆ”

“ทั้งนี้ ตำรวจนครบาลกรุงปารีสมีความมุ่งมั่นเต็มที่ในการต่อสู้กับอาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นภัยต่อนักท่องเที่ยว มีการดำเนินแผนปฏิบัติการเพื่อลดการกระทำผิดและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การพำนักของนักท่องเที่ยวในปารีสเป็นไปอย่างราบรื่น”

โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย (Palais Garnier) อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของกรุงปารีส

“การดำเนินแผนปฏิบัติการครอบคลุมย่านท่องเที่ยวยอดนิยม 7 แห่ง ได้แก่ เนินเขามงมาตร์ (Butte Montmartre) ถนนช็องเซลีเซ (Champs-?lys?es) สวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส-หอไอเฟล (Champ de Mars – Eiffel Tower) จัตุรัสทรอกาเดโร (Trocad?ro) พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์-จัตุรัสปาแล-รัวยาล (Louvre Museum – Palais Royal) ย่านโอเปร่า-ห้างสรรพสินค้าในละแวก (Opera – Department stores) มหาวิหารนอเทรอดาม-ย่านชาตแล-ย่านการ์ตีเยลาแต็ง-ย่านแซ็ง-แฌร์แม็ง (Notre-Dame – Ch?telet – Lower Latin Quarter – Saint-Germain) ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ประจำการในย่านเหล่านี้กว่า 2 หมื่นนายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019”

“นอกจากนี้ ตำรวจฝรั่งเศสยังได้ปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายอาชญากรรมที่มุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวเป็นหลักเป็นประจำทุกวัน และลาดตระเวนไป-มาตามสถานที่ท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงใช้กล้องวงจรปิดอย่างกว้างขวาง”

“ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างตำรวจฝรั่งเศสกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้ช่วยส่งผลต่อความเชื่อมั่นและทัศนคติอันดีต่อนักท่องเที่ยวในประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน”