ทศนิยม ไม่รู้จบ…………………

AFP PHOTO / Roberto SCHMIDT
ไพบูลย์ นิติตะวัน

บทสรุป ปฏิบัติการล้างบางวัดพระธรรมกาย ผ่านสายตา นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น

มากด้วยความสำเร็จอันเลอเลิศ คือ

1) เป็นการยอมแพ้ของแกนนำการชุมนุมของวัดพระธรรมกาย และไม่กล้าต่อต้านอำนาจรัฐอีก

2) แม้ผลการตรวจค้นจะไม่พบตัวพระธัมมชโย ก็ตาม แต่วัดพระธรรมกายก็สิ้นสภาพการเป็นเขตรัฐอิสระ

3) ที่แกนนำวัดพระธรรมกายมีแผนจะล่อลวงให้รัฐติดหล่ม ทั้งหวังให้เกิดการกระทบกระทั่งกับมวลชนในวัด หรือถ่วงเวลาให้ยืดเยื้อเพื่อทำลายเครดิตของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้ต่อรองหวังประโยชน์ให้รัฐยุติการดำเนินคดีต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จ

4) สาเหตุที่แกนนำยอมแพ้นั้น มีผลจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการถอดถอนสมณศักดิ์ของพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว

5) ติดตามด้วยมาตรการใช้กฎหมายมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ดำเนินการให้พระทั้งสองรูปจะต้องสละสมณเพศต่อไป

6) แกนนำที่เหลืออยู่และพระชั้นปกครองระดับสูงที่แอบคอยช่วยเหลือแกนนำ เกรงกลัวที่สุดว่ามาตรการดังกล่าวจะมาถึงตนเองในลำดับต่อๆ ไป เพราะแม้แกนนำก่อนหน้านี้ จะโดนข้อกล่าวหาความผิดคดีอาญาหลายคดี แต่ก็ยังไม่หวั่นไหวเกรงกลัวถึงขนาดถอดใจยอมแพ้อย่างนี้ แต่เมื่อเห็นพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว ผู้นำสูงสุดพบกับชะตากรรมที่ถึงกับจุดจบในชีวิตของการเป็นสมณเพศ จึงทำให้แกนนำวัดพระธรรมกายที่ยังเหลืออยู่ เกิดความเกรงกลัวว่าอาจจะต้องพบจุดจบเช่นเดียวกัน จึงยกธงขาวยอมแพ้ให้เจ้าหน้าที่

7) ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมากที่สุดที่แกนนำวัดพระธรรมกายไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในเดือนพฤษภาคม 2559 เพราะถ้าหากวันนั้นเข้ามอบตัว วันนี้เชื่อได้ว่าพระธัมมชโยจะยังทรงอิทธิพลเหนือวัดพระธรรมกาย และคณะปกครองสงฆ์อย่างแน่นอน ฝ่ายต่อต้านพระธัมมชโยก็จะยังคงเหนื่อยใจไปอีกนาน และอาจจะไม่มีวันเห็นบทจบอวสานดังเช่นวันนี้

8) ตั้งแต่นี้ไปจะมีบทที่ต้องเริ่มต้นโดยประชาชนทั้งประเทศที่ห่วงใยในพระพุทธศาสนา เรียกร้องให้ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาพระภิกษุจำนวนมากที่ประพฤติล่วงพระธรรมวินัย จนทำให้วัดหลายแห่งมีปัญหาเต็มไปด้วยการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทั้งเรื่องเงินทองทรัพย์สินวัดโดยพระภิกษุเหล่านั้น

ดังนั้น ถึงเวลาที่จะมีการปฏิรูปคณะสงฆ์ขนานใหญ่

การมองผล “เลอเลิศ” เช่นนี้ ว่าไปก็ใช่จะไร้ “ฐาน” ข้อมูลรองรับ

โดยเฉพาะ หากสามารถ “ประหารชีวิต” ทางธรรม 2 แกนนำวัดพระธรรมกายได้สำเร็จจริง แรงสั่นสะเทือนก็ย่อมสูง

ซึ่ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่ถูกส่งตรงจากดีเอสไอ ได้ย้ำกรอบดำเนินการว่า จะใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ในข้อ 3(1) กรณีพระภิกษุประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ เป็นเครื่องมือสำคัญในดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องพระธรรมวินัยของพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว

โดยจะเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งตอนนี้ องค์ประกอบ ไม่ได้เป็นใจกับวัดพระธรรมกายแล้ว

ดังนั้น หนังสือร้องเรียนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนวัดพระธรรมกาย ส่งถึงพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ย่อมมีน้ำหนัก

จนน่าจะสามารถดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎ มส. ฉบับที่ 21 ได้

และคาดว่ากระบวนการดังกล่าวใช้เวลาไม่นาน

เมื่อสึกแล้ว คดีอาญาต่างๆ ก็จะรอพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว อยู่ โดยเฉพาะพระธัมมชโยนั้น ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดี “หนักๆ” จำนวนมาก ทั้งร่วมกันฟอกเงิน สมคบฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจรสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 1,400 ล้านบาท รวมทั้งมีหมายจับการรุกป่าสงวนฯ และอุทยานฯ อีกหลายคดี

ขณะที่พระผู้นำในวัดพระธรรมกาย ไม่ว่า พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ พระครูไบฎีกา อำนวยศักดิ์ มุนิสโก พระปลัดสุธรรม สุธัมโม หรือ พระวิเทศ ภาวนาจารย์ พระครูถวัลศักดิ์ ยติสโก พระครูสังฆรักษ์ อนุรักษ์ โสตถิโก หรือ พระครูแอ พระสนิทวงศ์ วุฒิวังโส พระมหานพพร ปุญญชโย พระภาสุระ ทนตมโน (ใจวงศ์) พระนพดล สิริวโส พระมหาบุญชัย จารุทัตโต พระครูสุวิทย์ สุวิชชาโก พระแสนพล เทพเทพา หรือ สิบเอกแสนพล เทพเทพา ก็ล้วนเจอคดีอาญาโดยเฉพาะการขัดคำสั่งฝ่ายรัฐ ตามมาตรา 44

ซึ่งตรงนี้ ย่อมทำให้วัดพระธรรมกาย ถูกมองตามสายตานายไพบูลย์ ว่าจะต้องพังทลายลงอย่างแน่นอน

โดยฝ่ายรัฐยังคงมาตรา 44 ควบคุมพื้นที่ของวัดพระธรรมกายเอาไว้ โดยไม่ยกเลิก

ด้วยองค์ประกอบและเหตุผลข้างต้น

“วัดพระธรรมกาย” ดูเหมือนจะพ่ายแพ้

แต่กระนั้น ถามว่า การมอง “เลอเลิศ” อย่างนายไพบูลย์ดังกล่าว มีการ “ขานรับ” โดยเอกฉันท์หรือไม่

ซึ่งประเมินจากน้ำเสียง โดยเฉพาะฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับวัดพระธรรมกายแล้ว กลับดูไม่คึกคักหรือมีปฏิกิริยาเห็นพ้องเท่าใดนัก

นอกจากนี้ ยังมีอีกจำนวนมาก ที่รู้สึก “อึ้ง” กับท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ดีเอสไอ

ไม่ว่าการสั่งเลิกปิดล้อมวัดพระธรรมกายลงดื้อๆ

รวมทั้งปฏิบัติการหลายอย่าง โดยเฉพาะการตรวจค้นวัด ล้วนถูกมองเป็นไปตามการชี้นำของแกนนำพระ มากกว่าเป็นการรุกของฝ่ายรัฐเอง

ดังนั้น ผลที่ได้ออกมาจึงเป็นการคว้าน้ำเหลว มากกว่า

การไล่ล่าพระธัมมชโย เอาเข้าจริง เป็นเพียงการไล่ล่า “เงา”

ทั้งที่พระธัมมชโยไม่สามารถหลบหนีไปด้วยตัวคนเดียว ต้องมีกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิดคอยดูแล การติดตามจึงไม่น่าจะยากนัก

แต่ที่ผ่านมากลับ “ไร้ร่องรอย”

การข่าวของดีเอสไอ ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง ยังเป็นจุดอ่อน

การไม่ได้ตัวพระธัมมชโย จึงเสมือนการไม่สามารถ “กุมหัวใจ” สำคัญของวัดเอาไว้ได้

ดังนั้น การถอดชั้นยศพระ รวมถึง การประกาศจะจับสึก จึงเป็นเพียงการประกาศดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวของฟากรัฐ

ความรู้สึกของคนทั่วไป ยังรู้สึกว่า พระธัมมชโย ยังไม่ได้ตกเป็นผู้ถูกกระทำ

แถมยังมองว่า ยังสามารถดำเนินการเป็นฝ่ายรุกเจ้าหน้าที่รัฐ ในหลายเรื่อง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่วัดพระธรรมกายยืนหยัดสู้กับอำนาจเหล็กภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ได้อย่างเหนียวแน่น แสดงความเข้มแข็งขององค์กร ที่ได้วางเครือข่ายเอาไว้อย่างเป็นระบบ ยากที่จะเข้าไปรื้อทำลายได้โดยง่าย

นอกไปจากนั้น วัดพระธรรมกายยังไม่ได้ตั้งรับ หรืออยู่ในจุดถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว

หากยังได้รุกทางการเมืองกลับอยู่ตลอดเวลา

สามารถหยิบเอาเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากรณี 2 ศพ ที่สังเวยจากกรณีนี้มาเป็นเงื่อนไขโต้กลับอย่างแหลมคม

และที่สำคัญได้แปรเอาจุดแข็งของฝ่ายรัฐคือ มาตรา 44 ให้เป็นจุดอ่อน ด้วยการประโคมถึงการละเมิดสิทธิ ทั้งทางด้านศาสนาและการดำรงชีวิตตามพื้นฐานปัจจัย 4

การกู่ตะโกนหาอาหาร รวมถึงสิทธิที่จะนับถือศาสนา ทำให้ฝ่ายรัฐละล้าละลังที่จะใช้อำนาจเหล็กจัดการ

เหล่านี้เอง จึงทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถเผด็จศึกวัดพระธรรมกายลงได้ง่ายๆ อึดอัดใจ

อึดอัดใจที่ไม่สามารถทำให้วัดพระธรรมกายพังทลายลงอย่างราบคาบ

จริงอยู่ “มรสุม” ที่วัดพระธรรมกายเผชิญครั้งนี้ต้องถือว่ารุนแรงอย่างที่สุด

สามารถสั่นสะเทือนวัดพระธรรมกายได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

และกำลังรอการพิสูจน์อย่างแหลมคมว่า การที่วัดพระธรรมกายจะต้องขาดผู้นำอย่างพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว องค์กรจะสามารถดำรงอยู่ได้หรือไม่

หากวัดพระธรรมกายสามารถดำรงอยู่ และขับเคลื่อนต่อไปได้

นี่ย่อมเป็นโจทย์ใหญ่ให้ทั้งรัฐบาลและมหาเถรสมาคมต้องครุ่นคิดหนัก

เพราะจะถือเป็นการท้าทาย “อำนาจรัฐ” คืนอย่างแหลมคม

และจะเป็นการท้าทายกระแสที่หวังจะปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างมากว่าจะดำเนินการได้สำเร็จเพียงใด

เพราะแค่วัดพระธรรมกายเพียงแห่งเดียวก็ยัง “กวาดล้าง” ไม่ได้

เสียงที่ดังตลอดมาว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน ยังคงดำรงอยู่และจะดำรงต่อไป

ซึ่งย่อมทำให้เกียรติภูมิของรัฐบาลทหารถูกทำลายลงอย่างหนัก เพราะใช้อำนาจสูงสุดแล้วยังจัดการอะไรไม่ได้

คำประกาศว่า กรณีวัดพระธรรมกายต้องจบ กลายเป็นคำประกาศที่คนจำนวนมากรับรู้ถึงภาวะการไร้น้ำหนัก

กรณีวัดพระธรรมกายที่ไม่สามารถปิดฉากลงได้

และถูกทำและถูกมองว่าเป็นกรณี “ทศนิยมที่ไม่รู้จบ” ที่สั่นคลอนความรู้สึกของคนและสังคม รุนแรงยิ่งขึ้นทุกที