ต่างประเทศ : คำสารภาพของแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ เงินที่หามาง่ายๆ จากการหลอกคน

บีบีซีได้เผยแพร่รายงานพิเศษเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ชาวอินเดียที่เป็นหนึ่งในสมาชิก “แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์”

ปิยุช สมาชิกแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ในอินเดีย บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซี ระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในย่านผู้ร่ำรวยของ “เดลี” ประเทศอินเดีย ถึงวิธีการหารายได้ง่ายๆ จากงานของเขาว่า เป็นการหลอกเหยื่อผู้บริสุทธิ์ จากการคุยโทรศัพท์กัน

พร้อมกับบอกความรู้สึกว่า “เมื่อได้ทำแล้ว ก็เหมือนได้กลายเป็นร็อกสตาร์”

แม้ว่างานที่ทำจะเป็น “ขโมย”

 

อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาติตะวันตกนิยมว่าจ้างให้แรงงานทำงาน “คอลล์เซ็นเตอร์” อย่างถูกกฎหมาย แต่จริงๆ ก็มีด้านมืดอีกด้านหนึ่งของคอลล์เซ็นเตอร์อยู่

ปิยุชบอกว่า 9 ปี หลังจากออกจากวิทยาลัย เขาก็ไม่ได้ทำงานที่อื่นเลย ทำงานให้กับแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์อย่างเดียว ด้วยผลตอบแทนที่ดี

โดยบริษัทที่ปิยุชทำงานให้ เป็นที่รู้จักกันในนามของ “บริษัทด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนการหลอกลวง” ที่จะคอยทำหน้าที่ส่ง “ป๊อปอัพ” หรือข้อความเด้งขึ้นหน้าจอของผู้คนทั่วไป แล้วบอกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นกำลังติดไวรัสโป๊ หรือพวกมัลแวร์อื่นๆ พร้อมกับส่งข้อความเป็นเบอร์โทรศัพท์สำหรับช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้

เมื่อผู้เห็นข้อความเหล่านั้นตกใจกับข้อความ และเชื่อในข้อความเตือนก็จะโทร.เข้าไป ซึ่ง “ปิยุช” และเพื่อนๆ ของเขาก็จะหลอกล่อให้ปลายสายจ่ายเงินมา เพื่อแก้ปัญหาให้

ทั้งที่ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่จริง!!

ปิยุชบอกว่า เป้าหมายหลักคือพวกผู้สูงอายุ และว่า ในสหรัฐอเมริกามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว และต้องอยู่เพียงลำพัง บ้างก็พิการ จึงง่ายต่อการล่อลวงอย่างยิ่ง

 

ผู้สื่อข่าวบีบีซีมองท่าทีที่เลือดเย็นของปิยุช ก่อนจะถามว่า หากเป็นปู่-ย่าของเขา ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์เหล่านี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร

ปิยุชบอกว่า เขาก็คงรู้สึกไม่ดี แต่ที่ต้องทำทุกวันนี้ ก็เพราะเขาต้องการเงิน…เท่านั้น

หลังจากที่รู้วิธีการในการล่อลวงแล้ว ปิยุชก็ออกมาตั้งสำนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ของตัวเอง ซึ่งทำได้ง่ายมาก เพียงแค่เช่าสำนักงาน แล้วบอกกับเจ้าของห้องว่า ทำบริษัทด้านการตลาด แล้วก็จ้างคนมาทำงาน

ในฐานะ “หัวหน้า” ปิยุชได้เงินจากการหลอกลวงผู้อื่นชนิดเต็มที่ มากกว่าสมัยเป็นลูกจ้าง ที่ได้เงินตอบแทนเพียงน้อยนิด

จากเดิม เขาจะได้เงิน 1 รูปีจากเงินที่ได้จากเหยื่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากเขาหลอกเหยื่อได้ 100 ดอลลาร์สหรัฐ เขาก็จะได้เงินเพียง 1.25 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

แต่เมื่อมาเป็นนายของตัวเอง ปิยุชมีรายได้เข้ามาเป็นกอบเป็นกำ บางเดือนที่โชคดีมาก เขาจะมีเงินกลับบ้านถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐทีเดียว!

 

ผู้สื่อข่าวบีบีซียังได้พูดคุยกับ “แซม” อดีตนักหลอกลวงอีกคน ที่เข้าสู่วงการแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์นี้เช่นกัน โดยเริ่มต้นจากการบอกเล่าของเพื่อนฝูง เกี่ยวกับงานที่หาเงินมาได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องทำงานหนัก ที่แซมโดนบอกไว้ก่อนเข้ามาทำงานว่า มันคือ “งานขาย” ที่พยายามกระตุ้นให้ลูกค้าในสหรัฐซื้อของของเขา

แล้วแซมก็รู้ความจริงหลังจากเข้ามาทำงานแล้ว และสายเกินกว่าที่จะหันหลังกลับให้งานที่ทำ

เพราะเงินที่ได้มา มากกว่าพวกที่จบ “เอ็มบีเอ” เสียอีก ทั้งๆ ที่แซมเองไม่ได้จบแม้แต่ระดับวิทยาลัย

เมื่อตอนที่มีเงินมาก ก็ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ปาร์ตี้อย่างหนัก ไม่มีการวางแผนอนาคตใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เงินไปวันๆ

และแซมก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเหมือนกับพวกหลอกลวงหลายคนที่ยังมีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีว่า จะหลอกลวงเฉพาะพวกที่มีฐานะดีเท่านั้น

แซมบอกว่า เขาต้องการให้แน่ใจว่า เหยื่อที่มอบเงินให้กับเขา จะต้องไม่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีกิน ดังนั้น เขาจึงมักหลอกลวงพวกที่ร่ำรวยที่มีเงินจะจ่ายให้กับเขา

แซมจึงรู้สึก “โอเค” ที่ได้ขโมยเงินจากคนที่มีเงินมากอยู่แล้ว และยังมีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ ที่เคยเกือบจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงของเขา

อย่างเช่น แม่ลูก 3 ที่ทำงานอยู่ที่ร้านฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่งในสหรัฐ ที่แซมยังคอยช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวนี้จนถึงปัจจุบัน

 

6เดือนหลังจากแซมทำงาน ที่ทำงานของเขาก็ถูกตำรวจบุกเข้าไปตรวจค้น แต่ถูกสั่งปิดในที่สุด แซมเองก็ต้องหนีการจับกุมตัวของตำรวจ แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น หัวหน้าของแซมที่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน ก็กลับมาเปิดธุรกิจแบบเดิม ในชื่อที่ต่างออกไป และจ้างแซมให้กลับเข้าทำงานเหมือนเดิม

ปัจจุบันแซมได้เลิกทำงานในแวดวงหลอกลวงมานานแล้ว และทำงานอยู่กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายหนึ่ง และเหตุผลที่ยอมเปิดใจกับบีบีซี เพราะต้องการจะบอกคนอื่นๆ ที่อยู่ในวังวนของการหลอกลวงว่า ให้หางานที่ถูกต้องตามกฎหมายทำ เพื่อโอกาสที่ดีกว่าในระยะยาว และไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกจับตัว

ส่วนปิยุชเองก็เลิกกิจการมาได้นานแล้ว เพราะกลัวการปราบปรามของตำรวจ และรู้สึกดีที่ไม่ถูกจับกุมตัวไปก่อน

ปิยุชใช้เงินที่หามาได้จากการหลอกลวง เปิดธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็เจ๊งในที่สุด

ซึ่งปิยุชบอกว่า “ผลที่ได้ มันเป็นเรื่องของกรรมนั่นเอง”