“คณากร เพียรชนะ” อัตวินิบาตกรรมครั้งที่ 2 ตอกย้ำ ซ้ำ-ซ้ำ “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

นับเป็นเหตุสลดที่ส่งผลสะท้อนต่อวงการยุติธรรมของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับกรณีที่นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ตัดสินใจก่อเหตุอัตวินิบาตกรรมเป็นครั้งที่ 2 เสียชีวิตคาบ้านพักใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้วก็ใช้ปืนยิงตัวเองภายในศาลจังหวัดยะลา หลังจากอ่านคำพิพากษาในคดีไฟใต้

โดยระบุสาเหตุถูกกดดันจากผู้ใหญ่ระดับอธิบดี ที่สั่งให้ตัดสินคดีประหารชีวิตจำเลยในคดีฆ่า 5 ศพ แม้จะไม่มีหลักฐานเพียงพอ

จนเป็นเหตุให้ตัดสินใจดังกล่าว

มาครั้งนี้ก็ทิ้งจดหมายลาตายถึงปมปัญหาเดิม รวมทั้งระบุว่า ยอมรับไม่ได้ที่ถูกตั้งกรรมการสอบ และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะต้องสูญเสียการงานอันเป็นที่รัก

และตกเป็นผู้ต้องหาเสียเอง

จึงตัดสินใจใช้ความตายเป็นทางออก

พร้อมระบุข้อเรียกร้องให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2540

เพื่อความเป็นอิสระของตุลาการ

ช็อก “คณากร” ยิงตัวตายหน 2

เหตุการณ์สลดครั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 มีนาคม โดยตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับแจ้งเหตุมีผู้ถูกยิงที่บ้านเลขที่ 90/61 หมู่บ้านกาญจน์กนกวิลล์ 2 ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบพบร่างนายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ช่วยงานกองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5

มีบาดแผลถูกยิงเข้าที่หน้าอกซ้าย 1 นัด อาการสาหัส นำตัวส่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่

เมื่อตรวจสอบเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อ “คณากร ตุลาคม” โพสต์ข้อความคำว่า “ลาก่อน” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม เวลา 07.42 น. พร้อมแนบเอกสารจดหมายความยาว 2 หน้า ระบุว่า ตนเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้ปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาที่ 4 ในศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 พร้อมแถลงการณ์ผ่านสื่อ กรณีถูกอธิบดีแทรกแซงผลคำพิพากษาที่ตนเป็นเจ้าของสำนวน

ต่อมาตนถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวนและยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่ ทั้งการดำเนินคดีกับตนเพิ่งจะเริ่มต้น การสูญเสียหน้าที่การงานที่รักนั้นคือการสูญเสียตัวตน ทั้งกลับกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง

สภาพร่างกายและจิตใจของตนไม่อาจรับไหว เต็มไปด้วยความทุกข์ เส้นทางชีวิตในชาตินี้ได้ขาดลงแล้ว ขอยืนยันกับเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยว่าทุกสิ่งที่ทำลงไป ตนทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ตนภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน

ในอดีตเราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย สสร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา

ท่านคงสงสัยว่าขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น หรือ สสร.รู้ว่าการตรวจร่างคำพิพากษา อาจเปิดโอกาสให้แทรกแซงผลคำพิพากษา

สิ่งที่ตนทำลงไปจนถูกสอบวินัยและตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานี้ ท่านพบความชั่ว หรือความเลวอยู่ในการกระทำของตนหรือไม่

“ขอให้ทุกท่านตอบเบาๆ ก็พอ ส่วนผมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นแล้ว เสียดายที่ท่านไม่ใช่ผู้ตัดสิน”

เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของผู้พิพากษาคณากร

กต.ระบุไม่มีการแทรกแซง

ขณะที่ความตายของนายคณากร ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2560

พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีการรวมตัวแสดงความไว้อาลัยต่อผู้พิพากษาคณากร

โดยเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 8 มีนาคม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG) ร่วมกับนิสิต นักศึกษา ชุมนุมไว้อาลัยผู้พิพากษาคณากร ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลา ข้างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นอกจากนี้ยังมีชุมนุมที่ลานหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่นเดียวกับในการชุมนุมแฟลชม็อบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ก็มีการเขียนป้ายผ้ารำลึก

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 หลังเกิดเรื่องยิงตัวและเขียนข้อความถึงความเครียดการพิจารณาคดีที่อ้างว่าถูกแทรกแซงการตรวจสำนวน คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกประเด็น ทั้งการก่อเหตุ และกรณีที่ถึงการแทรกแซงการพิจารณาพิพากษา

ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า การนำอาวุธปืนเข้าไปภายในบริเวณศาลและก่อเหตุภายในอาคารศาลอาจจะผิดวินัย ที่ประชุม ก.ต.จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งระหว่างนั้นย้ายนายคณากรมาช่วยราชการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทำหน้าที่ช่วยตรวจดูสำนวน

ก่อนเกิดเหตุการยิงตัวเองครั้งล่าสุด การสอบวินัยยังดำเนินอยู่ตามขั้นตอน ยังไม่มีมติใดออกมา ส่วนการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และเคยมีหนังสือแจ้งขออนุญาตประธานศาลฎีกาในการจะดำเนินคดีอาญาแล้ว

ส่วนการแทรกแซงการทำงานนั้น ตรวจสอบชั้นแรกของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่าไม่มีมูล ไม่ปรากฏเรื่องการแทรกแซง แต่มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นเรื่องของระบบการตรวจสำนวนที่ต้องพิจารณาว่ามีปัญหาปรับแก้หรือไม่ ดังนั้น จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุดเพื่อพิจารณาประเด็นระบบตรวจสำนวน ที่ให้มีผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. รวมทั้งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการออกระเบียบ-กฎหมายสนับสนุนการทำหน้าที่ศาลยุติธรรม) เป็นคณะกรรมการ

ผลสอบยืนยันไม่มีการแทรกแซงคำพิพากษา

ย้อนที่มาคดีเลือด 5 ศพ

สําหรับคำพิพากษาที่กลายเป็นข้อพิพาท เป็นคดีที่อัยการจังหวัดยะลา ยื่นฟ้องนายซูกรี มูเซะ นายสาแปอิง สะเตาะ นายแวอาแซ แวยูโซะ นายมัสสัน เจะดือเระ และนายอับดุลเล๊าะ มะสาเม๊าะ เป็นจำเลยที่ 1-5 โดยกล่าวหาว่าร่วมกันใช้ปืนเอ็ม 16 และปืนลูกซองยิงใส่ชาวบ้านเสียชีวิต 5 ราย ที่บ้านตือโละดือลง หมู่ 4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561

โดยศาลพิพากษายกฟ้อง ยก 4 เหตุผลสำคัญคือ

1. คืนเกิดเหตุไม่มีการเก็บวัตถุพยานทันที พยานที่ได้จึงมีพิรุธไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

2. พยานบุคคล ถูกคุมตัวจากการปิดล้อมของ จนท. เป็นการคุมตัวที่ปราศจากเสรีภาพ จึงต้องฟังคำให้การอย่างระมัดระวัง อีกทั้งโทรศัพท์ที่อ้างว่าพยานใช้ตอนก่อเหตุ ก็ได้มาภายหลัง ไม่มีสารพันธุกรรมของพยาน แถมยังจดทะเบียนในชื่อคนอื่น

ที่สำคัญยังให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นปืนที่ใช้ก่อเหตุ แต่กลับไม่พบปลอกกระสุนหรือหัวกระสุนตามที่กล่าวอ้าง คำให้การจึงมีพิรุธ

3. การนำจำเลยไปชี้ที่ซ่อนปืน ก็เกิดขึ้นหลังการคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ จำเลยปราศจากเสรีภาพและมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา คำให้การจึงมีน้ำหนักน้อย อีกทั้งปืนที่ยึดได้จากจุดซ่อนเป็นปืนพก ที่ไม่ได้ใช้ก่อเหตุ แถมเป็นสถานที่เปิดโล่ง จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง

4. บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งห้า ถูกจัดทำขึ้นในสถานที่ระหว่างจำเลยถูกคุมตัวตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ เมื่อจำเลยทั้งห้าปฏิเสธคำให้การดังกล่าว อ้างว่าเกิดจากการบังคับขู่เข็ญ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่น จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง

นอกจากนี้ นายคณากรยังแถลงการณ์ความยาว 25 หน้า บอกเล่าความเป็นมาของคดีดังกล่าวว่า คดีนี้ถูกเลื่อนอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 19 สิงหาคม 2562 มาเป็นวันที่ 4 ตุลาคม 2562 เนื่องจากอธิบดีมีคำสั่งให้แก้คำพิพากษาจากยกฟ้องทั้ง 5 คน เป็นประหารชีวิต 3 คน จำคุก 2 คน ซึ่งเป็นคำสั่งลับถึงตน แต่ไม่ยอมปฏิบัติตาม เพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นให้ความเป็นธรรมทั้งผู้เสียหายและจำเลย ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ปราศจากอคติทั้งปวง

ไม่ใช่กระทำโดยความรู้สึกส่วนตัวหรือตามคำสั่งของใคร

พร้อมเรียกร้อง “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

วันนี้ดังขึ้นกึกก้องอีกคำรบหนึ่ง!??