มุกดา สุวรรณชาติ : แม้ซื้อ ส.ส.เพิ่ม ก็ยังล้มได้ ส.ส.หายไป ก้าวไกลก็เดินต่อ

มุกดา สุวรรณชาติ

ปัญหาที่จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยน

1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้น่าจะจบไปแล้ว ถือว่าผลที่ได้รายการตีกระทบรัฐบาลคงได้ไปสัก 65 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไปกระตุ้นให้เห็นแผลเก่า ได้เห็นข้อบกพร่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังมองเห็นว่าอีกไม่นานเราจะตายกันหมดภายใต้การบริหารแบบนี้

2. มีการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อนช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่กี่วัน ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้สันทัดกรณีคาดหมายไว้ ทำให้ใครๆ ก็คิดว่านี่คือการเจาะยางฝ่ายค้านโดยหวังผลหลายต่อ จากนั้นก็มีข่าวรายการวิ่งไล่ซื้อ ส.ส.งูเห่าและลิง ตามแผนที่วางเอาไว้ ทำให้คนยิ่งเห็นความชั่วร้ายชัดเจนยิ่งขึ้น

3. เหตุการณ์ที่แทรกซ้อนและอยู่นอกเหนือความคาดหมายของกลุ่มอำนาจเก่าคือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ซึ่งเดิมใครๆ ก็คิดว่าคงมีสัก 2-3 แห่งแล้วจะจบลง แต่หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ต้องมาวิเคราะห์กันใหม่ เพราะดูแล้วการปะทุเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการปกครอง ต่อการบริหารบ้านเมือง ต่อการจัดการทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

และที่สำคัญคือ ความยุติธรรมได้ถูกนำมาอภิปรายในการชุมนุมของนักศึกษาแต่ละสถาบันและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูแล้วจะไม่จบลงง่ายๆ

4. ในขณะที่การประท้วงของนักศึกษายังไม่จบลง ก็เกิดกรณีที่ทำร้ายความรู้สึกของประชาชน คือความสามารถของรัฐบาลในการจัดการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดมาเป็นเดือนแล้ว ตอนนี้ขาดแคลนถึงขนาดโรงพยาบาลก็ไม่มีใช้ ตอนนี้คนไม่เพียงคิดว่าบริหารไม่เป็น แต่สงสัยว่ามีการค้ากำไรบนความตายของประชาชน

5. ความเชื่อมั่นที่ผ่านการลงทุนในตลาดหุ้น ก็ไม่เหลือ ต้นเดือนกรกฎาคม 2562 ก่อนตั้ง ครม. 1 สัปดาห์ ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,740 จุด วันนี้ก่อนตลาดเปิด 10 มีนาคม 2563 รัฐบาลชุดนี้ครบ 8 เดือนพอดี ดัชนีหุ้นอยู่ที่ 1,256 หายไปเกือบ 500 จุด เจ๊งกันโดยทั่วหน้า กองเชียร์เปลี่ยนเป็นกองแช่ง

6. ปัญหาภัยแล้งและปัญหาโรคระบาดจากไวรัส Covid-19 ตอนนี้หวังพึ่งรัฐบาลคงจะยาก แค่หน้ากากยังไม่มีขายเลย นี่ไม่ใช่แจกนะครับ ขอซื้อก็ไม่มี สิ่งที่คนไทยจะพึ่งพาคือพระสยามเทวาธิราชและพระสยามธรรมชาติ คือต้องพึ่งอากาศร้อนให้ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา ในขณะเดียวกันก็ต้องภาวนาให้ฝนตกมาดับภัยแล้งและไฟป่า

7. ความยุติธรรมที่ประชาชนไม่อาจเข้าถึงได้ วันที่ 5 มีนาคม การตัดสินคดีให้จำคุกธาริต จาก DSI เพราะดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

ทำให้คนนึกออกว่า จนเดี๋ยวนี้ก็ไม่สามารถฟ้องร้องผู้ที่รับผิดชอบต่อการตายของผู้ชุมนุมเกือบร้อยคนและคนบาดเจ็บเป็นพันคนในปี 2553 ได้ แถมคนฟ้องจะต้องติดคุกด้วย ญาติคนตาย คนเจ็บฟังแล้วอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถเข้าใจได้กับความอยุติธรรมแบบนี้

วันที่ 7 มีนาคม ก็เกิดเรื่องสะเทือนใจเมื่อนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่เคยก่อเหตุยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อ 5 เดือนก่อน ยิงตัวเองที่บ้านพักใน จ.เชียงใหม่ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

ข้อเรียกร้องที่เขาฝากเอาไว้ คือ

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

 

สถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร?

ถ้านักศึกษาเดินเกมชุมนุมแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้น? เพราะดูความสามารถของรัฐบาล ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ล้วนแล้วแต่มีเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องดีทั้งสิ้น

มันเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาและชาวบ้านก็จะเห็นด้วยทุกเรื่อง แม้แต่คนที่เคยเชียร์รัฐบาล พอมาถึงวันนี้ก็บอกว่าเหนื่อยมากแล้วเลิก ไม่เชียร์อีกแล้ว

แต่จะเปลี่ยนแปลงแบบไหนเกิดได้อย่างไร ใน 4 รูปแบบ

1. โอกาสในการเปลี่ยนแปลงแบบยุบสภาก็มีแต่น้อยมาก กรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีรู้สึกว่าตัวเองถูกหักหลัง และต้องการตอบโต้แบบไม่กลัวแพ้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเลือกตั้งใหม่ในภาวะที่กระแสการเมืองตัวเองตกอย่างรุนแรง พรรคการเมืองของตนเองคงลดขนาดลง ตั้งแต่ยังไม่ทันเลือกตั้งและน่าจะได้ ส.ส.น้อยกว่าเก่า การยุบสภาจึงเป็นทางเลือกสุดท้าย

2. การเปลี่ยนตัวนายกฯ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ เป็นทางเลือกของนายกฯ ถ้าเกิดขึ้นก็เพราะถูกบีบบังคับจากสถานการณ์และความจำเป็นจากอำนาจหลายฝ่ายที่ต้องการให้พวกตนส่วนใหญ่อยู่รอด โดยการหักหลัง ยอมให้เปลี่ยนหัว แต่โดยทั่วไป คนที่เป็นหัวจะไม่ยอม

ตัวอย่างปี 2523 การเปลี่ยนนายกฯ จาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ที่ถูกบีบให้ลาออกจะดิ้นรนมาแข่งใหม่ แต่ก็ไม่มีคนช่วย แม้ ส.ว.ที่ตั้งขึ้นมาเองถามว่านาทีนี้ใครจะกล้าบีบ พล.อ.ประยุทธ์

3. การปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงรูปโฉมรัฐบาล เพื่อบอกชาวบ้านว่า เปลี่ยนแปลงแล้วอาจจะทำให้ดีขึ้น แต่ในการปรับปรุงเปลี่ยนตัวบุคคลจะต้องแย่งกัน ใช้หลักการ ต่อรองจากจำนวน ส.ส.ในสังกัดของแต่ละกลุ่ม ใครมี ส.ส.มากก็ได้ตำแหน่งมาก ได้ตำแหน่งใหญ่ กระทรวงใหญ่ ซึ่งชาวบ้านจะไม่เชื่อว่าดีขึ้น

4. แบบที่ถูกประชาชนบังคับให้เปลี่ยน แบบนี้ก็เกิดไม่ง่าย เพราะตอนนี้คนก็รู้ว่าต้องเปลี่ยน รธน. ถึงจะไปรอด และการหารัฐบาลใหม่จะทำอย่างไร แม้มีคนเสนอหลายวิธีแต่ก็ยังไม่ลงตัว

สถานการณ์ตอนนี้คนที่อยากให้รัฐบาลล้มมีหลายกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้าน ในหมู่ประชาชนที่ไม่พอใจนั่นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในฝ่ายรัฐบาลเองคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โต ไม่ได้ผลประโยชน์ก็ยังอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่กลัว แต่คนที่มีตำแหน่งแห่งหนมีอำนาจยังอยากให้รัฐบาลอยู่ต่อหลายคนอยากจะถอนทุนงบประมาณปีแรกยังไม่ออกใช้เลย

ดังนั้น แนวร่วมที่คิดจะให้รัฐบาลล้ม ก็ยังแฝงตัวอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลนั่นแหละ

มีนักวิเคราะห์ 2 คนบอกว่า การปรับ ครม.จะเกิดก่อนซึ่งไม่ช่วยอะไร และถ้าไม่เกิดแบบที่ 1 ตามมา อาจมีแบบที่ 4 มาแทน

การเปลี่ยนทั้งสามแบบ การสะสม ส.ส.เอาไว้สนับสนุนเสียงในสภา จึงเป็นเรื่องจำเป็น ยกเว้นแบบที่ 4

 

การเดินเกม 3 จังหวะ
ในการซื้อลิงและงูเห่า

จังหวะที่ 1 การสะสม ส.ส.เอาไว้สนับสนุนเสียงในสภา

รัฐบาลต้องการให้เสียง ส.ส.พ้นจากการปริ่มน้ำ หมายความว่า เสียงฝ่ายรัฐบาลควรจะเกิน 280 เสียง ฝ่ายค้านไม่เกิน 220 ดังนั้น การดึงเสียง ส.ส.จากฝ่ายค้านมาไม่ว่าด้วยวิธีใด พรรคไหนจะทำก็ได้ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด กระแสต่อต้านเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ บางคนอยากได้เงินแต่หน้าไม่หนาพอ

แม้ตัวเลขจะเพิ่มจาก 23 เป็น 40 (ห้ามถามว่าเอาเงินจากไหนมาซื้อ ก็เงินพวกเรานั่นแหละ)

จังหวะที่ 2 จึงมีคนคิดค้นในการเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล ให้แนบเนียนยิ่งขึ้น ตอนนี้มีเทคนิคใหม่ที่เรียกว่าฝากเลี้ยง คือ ส.ส.ที่จะสนับสนุนลูกพี่คนไหน แทนที่จะอยู่ในพรรคการเมืองของลูกพี่ที่ให้การอุปการะแจกกล้วยแจกน้ำ ก็ให้ไปอยู่พรรคเล็กอื่นๆ ก่อน ถึงเวลาโหวตค่อยแสดงตัวใช้งาน โดยอาจจะไปสังกัดพรรคเล็กที่ดูเหมือนไม่มีเงินซื้อ เพื่อไม่ให้ถูกด่าว่าขายตัว ขายอุดมการณ์ หรือตระบัดสัตย์

อีกเทคนิคหนึ่งก็คือดึงตัวมาแล้ว ตกลงกันแล้วจ่ายไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ให้อยู่ที่เดิมไปก่อนเป็นกำลังลับ ที่จะใช้ในยามจำเป็น (แม้แต่หักหลังกันเอง) และไม่ให้คนอื่นรู้ แม้แต่หัวหน้ารัฐบาลก็ไม่ให้รู้

จังหวะ 3 ตั้งพรรคใหม่เตรียมไว้สะสมกำลัง หวังฟลุก ลุกจากรัฐมนตรีเป็นนายกฯ หรือจาก ส.ส ธรรมดาเป็น รมต.

การตั้งพรรคใหม่ ต้องหาบุคคลภาพพจน์ดี ดูมีความรู้ความสามารถที่พอมีศักยภาพ มารวมไว้ทั้งเป็น ส.ส.และไม่ได้เป็น ส.ส. โดยลูกพี่ผู้มีอุปการคุณเป็นผู้สนับสนุนกำลังทุน

อาจจะชูอุดมการณ์ตามกระแสการเมือง แล้วแต่ว่าจะกล้าขัดกับรัฐบาลขนาดไหน เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็จะดึง ส.ส.ที่ตกลงไว้เดิมเข้ามาสังกัด

ช่วงนี้จะมี ส.ส.หลายคนจากหลายพรรคการเมืองเต้นฟุตเวิร์กรอจังหวะ เผื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การย้ายพรรคใหม่ที่ไม่มีภาพพจน์ที่เลวร้ายย่อมปลอดภัยกว่า หลายคนจะเอาทั้งเงินทั้งกล่อง

 

อนาคตใหม่
จะก้าวไกล อะไรคืออุปสรรค

เมื่อก้าวไกลมาแทนอนาคตใหม่ สมาชิกมีเยอะแน่ แต่ ส.ส.จะน้อยลงเพราะจะมีคนจำนวนหนึ่งต้านแรงดูดไม่ไหว ถามว่ามีกี่คนที่จะถูกดูดไป คนดูดเขาตั้งเป้าไว้ 20 คน ซึ่งน่าจะทำได้ถ้ารวมกับเศรษฐกิจใหม่ 5 คน เป็น 25 คน คิดไป-กลับก็ทำให้เสียงรัฐบาลในสภาทิ้งห่างฝ่ายค้าน 50 เสียงแล้ว เท่ากับลดแรงบีบจากประชาธิปัตย์ลงได้ ถ้าใครไม่อยากพายเรือให้โจรก็ออกไปอยู่พรรคใหม่

ปัญหาที่ก้าวไกลต้องแก้ก็คือ ฝ่ายตรงข้ามพยายามสอดแทรกเข้ามาซื้อ ส.ส.ถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่แน่ว่าทั้ง 55 คนจะอยู่กี่คนเมื่อถึงวันที่ 21 เมษายน ตอนที่ครบ 60 วัน แต่ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์เฉพาะพรรคก้าวไกล จำนวน ส.ส. 55 หรือ 45 หรือ 35 ไม่ได้มีความแตกต่างในวิธีการและยุทธศาสตร์ แต่การต่อสู้ในสภาเพียงแต่เมื่อเทียบเสียงฝ่ายค้านกับรัฐบาลจะเริ่มห่างกันมากขึ้น ทว่าวันนี้การโจมตีรัฐบาลอยู่ที่ข้อเท็จจริง และความผิดพลาดที่รัฐบาลทำขึ้นโดยใช้คนไม่กี่คน เปิดโปงและอธิบายเหตุผลของการกระทำผิดนั้น รัฐบาลก็ทรุดลงไปเรื่อยๆ การต่อสู้ตอนนี้ไม่ใช่การนับมือในสภา

การประเมินขณะนี้คาดว่า ส.ส.อนาคตใหม่จะถูกดูดออกไปได้ถึง 20 คนจริง แต่จะไม่สะเทือนกับยุทธศาสตร์ในการทำงานของพรรคก้าวไกล ส่วนคณะอนาคตใหม่ (ทำไมตั้งเป็นคณะ คล้ายๆ ลิเกหรือละคร) ไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ส. แต่ต้องการคนมีอุดมการณ์ใหม่มาร่วมงานมากๆ

ตัวเลขการซื้อ-ขายที่พุ่งสูงขึ้นจาก 23 ล้านเป็น 40 ล้าน หรือบางรายมากกว่านั้น เป็นการท้าทายระหว่างอำนาจเงินกับความถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย

อนาคตใหม่อาจต้องใช้ยุทธวิธีม้าไม้เมืองทรอย ออกไปทำลายฝ่ายตรงข้ามบ้าง

 

ย่างก้าวของพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลไม่มีอะไรจะเสีย ถ้ารัฐบาลไม่ล้ม พวกเขาก็เดินหน้าลงเลือกตั้งท้องถิ่น สร้างฐานมวลชนให้กว้างขวางและลงลึกต่อไป เมื่อเดินมาถึงตรงนี้ในฐานะผู้สืบทอดอุดมการณ์ต่อจากอนาคตใหม่ ถ้าเปรียบเทียบกับจุดเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ดีกว่าเยอะ

แต่วันนี้สภาพบังคับว่าจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่เดิมมีอยู่อย่างจำกัดในการเข้าบริหารพรรคใหม่ อยู่ดีๆ จะให้ไปหาคนใหม่ๆ มาก็จะเกิดปัญหากับคนเก่า

ดังนั้น จำเป็นจะต้องสร้างคนเก่าเท่าที่มี หาคนใหม่มาเสริมบ้างแล้วเดินหน้าต่อไป

ดังนั้น หน้าที่ของพรรคก้าวไกลในสภาสามารถกระทำต่อไปได้ตามแนวทางที่ตัวเองกำหนดและปรารถนาจะให้เป็น จะให้อ่อนกว่าเดิม แข็งกว่าเดิม หรือเหมือนเดิมได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมี ส.ส.กี่คน แต่วัดผลของการทำงาน อยู่ที่คัดค้านความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้อง จะปรากฏเป็นชื่อเสียงสร้างความนิยมในโอกาสข้างหน้า

ปัญหาที่ต้องแก้คือ

1. การสร้างคน คือแกนนำในระดับต่างๆ

2. สร้างกฎ ต้องร่างข้อบังคับพรรคให้รัดกุม ไม่ให้มีการแทรกเข้ามายึดพรรคไปได้ ผู้ที่เป็นฐานที่มั่นคงคือมวลชนสมาชิก

ส่วนคณะอนาคตใหม่ในเมื่อยุทธศาสตร์หลักไม่ได้อยู่ที่การยกมือในสภา ก็จะต้องมีกลุ่มที่ทำงานนอกสภา

การให้ศึกษาประชาชนเพื่อยกระดับทางการเมือง

เสริมการจัดตั้งของผู้ที่เห็นด้วย เพื่อสร้างพลังทางประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง อย่าให้ยอมรับกับอำนาจการรัฐประหารได้ง่ายๆ

นี่เป็นสิทธิของประชาชนอยู่ในพรรคการเมืองหรือนอกพรรคการเมือง ก็ร่วมกันทำได้

สัญญาณบอกเหตุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ ตอนนี้ประชาชนต้องลุ้นทุกวันว่า จะมีข่าวร้ายอะไรเกิดขึ้น