เทศมองไทย : มองโลกแง่ร้ายในภาวะ “โควิด-19-สงครามน้ำมัน”

ในยามที่การแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ลุกลามออกไปทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เริ่มต้นการระบาดที่จีนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา บรรดาประเทศที่เกิดการระบาดหนักมากๆ นั้น กลับไม่ใช่ชาติยากจนที่ขาดแคลนงบประมาณในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

แต่กลับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ๆ โตๆ ระดับต้นๆ ของโลกทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจมหภาค รวมไปถึงนักวิเคราะห์ในแวดวงทั้งหลาย จะไม่มองโลกในแง่ร้ายก็คงไม่ได้อีกแล้ว

แม้แต่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ซึ่งเป็นสมาคมของสถาบันการเงินระดับโลกยังออกมายืนยันว่า สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจรวมของโลกก็คงตกอยู่ในสภาวะถดถอย ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของโลกขยายตัวได้อย่างเก่งไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ ในปีนี้

 

ที่น่าคิดก็คือ นั่นเป็นการคาดการณ์ก่อนหน้าที่จะเกิด “สงครามราคาน้ำมัน” ระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) กับรัสเซีย ยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันนอกกลุ่มเสียด้วย

นัยของภาวะถดถอย สำหรับเศรษฐกิจโลกตามหลักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์นั้น แตกต่างออกไปในแง่ของชาติใดชาติหนึ่งนั้น ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจวัดกันที่การติดลบต่อเนื่องของจีดีพีของประเทศนั้นๆ อย่างน้อย 2 ไตรมาสขึ้นไป แต่ในกรณีของทั้งโลก นิยามของภาวะถดถอย ชี้วัดกันที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปีครับ

หลังจากที่ไอไอเอฟเปิดมุมมองออกมาเช่นนั้น ราโบแบงก์ กิจการธนาคารข้ามชาติของเนเธอร์แลนด์ก็สำทับซ้ำออกมาเมื่อ 10 มีนาคมนี้ว่า “ถึงตอนนี้ ภาวะถดถอยทั่วโลกเป็นอันแน่นอนแล้ว” คาดการณ์ไว้ว่าจีดีพีโลกจะขยายตัวเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์เมื่อสิ้นปีนี้

เพื่อให้สามารถเทียบเคียงได้ว่า การขยายตัวในระดับไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลกนั้น ลำบากลำบนขนาดไหนสำหรับเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ก็ขอให้เปรียบเทียบกับสภาพทุลักทุเล ยักแย่ยักยันของเมื่อปีที่ผ่านมาเอาไว้ แล้วขอให้รำลึกว่า ปี 2019 ที่ผ่านมานั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศเขาประมาณการไว้ว่า เศรษฐกิจโลกขยายตัวอยู่ที่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ครับ

นี่คือข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้สันทัดกรณีบางคนบอกว่า ปีที่ผ่านมาเผาหลอก ปีนี้ถึงจะเป็นรายการเผาจริงกันนั่นเอง

 

ไอไอเอฟขยายความผลกระทบจากการแพร่ระบาดตอนที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกผ่านหลัก 100,000 รายไปหมาดๆ เอาไว้อย่างนี้ครับ

“ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้นั้นมีพิสัยกว้างมาก และขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัสและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่การระบาดก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดยังคงไม่แน่นอนสูงมากในตอนนี้ แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสามารถดิ่งลงไปสู่ระดับ 1.0 ต่ำกว่าระดับการขยายตัวเมื่อปีที่แล้วอย่างมาก และถือเป็นระดับการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (2008-2009) เป็นต้นมา”

ในขณะที่มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส แจกแจงไว้อย่างนี้ครับ

“ก่อนหน้านี้เราประเมินผลกระทบการระบาดของไวรัสเฉพาะในส่วนที่เป็นอุปสงค์รวมในจีน, การเดินทางท่องเที่ยวของโลก และผลผลิตของโรงงานทั่วโลก อันเป็นผลลัพธ์มาจากการที่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดถูกดิสรัปต์เท่านั้น

“ตอนนี้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ภาวะช็อกจะยิ่งซ้ำเติมให้อุปสงค์ภายในประเทศสลดหดหู่ลงทั่วทั้งโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่ไม่ใช่การค้าระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคอีกเป็นจำนวนมากโดยต่อเนื่องทันที”

ภาวะดีมานด์ “สลดหดหู่ลง” ที่ว่านี้นี่เอง ที่ทำให้ “สงครามราคาน้ำมัน” อาจส่งผลกระทบในทางร้ายต่อประเทศทั้งหลายทั่วโลก

 

หลายคนอาจงุนงงว่า เขาทำสงครามราคากัน น้ำมันราคาถูก ลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ดีหรืออย่างไร? ผู้ผลิตน้ำมันจะขาดทุนบักโกรกก็เรื่องของเขามิใช่หรือ?

ในภาวะปกติทั่วไป ประเทศที่ “นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ” อย่างไทยหรืออีกหลายสิบประเทศทั่วโลกคงตีปีกกันพึ่บพั่บ เพราะประหยัดงบฯ ไปได้หลายสตางค์ ยิ่งงัดข้อกันนานยิ่งดี

แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับไม่คิดอย่างนั้น เหตุผลแรกนั้น คอนสแตนติน เวเนทิส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัทวิจัย ทีเอสลอมบาร์ด แจงเอาไว้ว่า ราคาน้ำมันร่วง ในระยะสั้นจะทำให้ทุกอย่างยิ่งเลวร้ายหนักมากกว่าเดิมสำหรับจีดีพีของโลก เพราะผู้ที่ “บาดเจ็บ” จากราคาน้ำมันร่วงเหลือเชื่ออย่างบรรดาผู้ผลิตน้ำมันนั้น จะมีปฏิกิริยาต่อความเจ็บปวด “เร็วกว่า” คนที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ อย่างเช่นผู้บริโภคน้ำมันทั่วไป

พูดง่ายๆ ก็คือ ปัญหาจะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากกว่าและเร็วกว่าการที่จะมีใครได้ประโยชน์จากมัน

ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตน้ำมันจากหินน้ำมัน ที่เรียกว่าเชลล์ออยล์ อาจถดถอยอย่างรวดเร็ว แล้วก็พาลฉุดเอาเศรษฐกิจโลกถดถอยตามไปด้วย

นักวิชาการ นักวิเคราะห์อีกกลุ่มเป็นกังวลกันว่า ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศที่นำเข้าน้ำมันจะหดหายไป เพราะเป็นกังวลต่อสถานการณ์ว่าจะยิ่งแย่มากขึ้นอย่างหนึ่ง หรือเพราะความคาดหวังว่าราคาทั้งหลายจะถูกกดให้ต่ำลงไปอีกในอนาคต เอาไว้ค่อยซื้อตอนนั้นก็แล้วกัน

เมื่ออุปสงค์ในประเทศหดตัวลง โรงงานผลิตสินค้าทั้งหลายก็จะย่ำแย่ ที่น่ากลัวก็คือ การลอยแพพนักงานจะเกิดขึ้นตามมา

ซึ่งจะยิ่งไปทำให้ “อำนาจซื้อ” ในกระเป๋าผู้บริโภคลดน้อยลง แล้วก็ยิ่งซื้อน้อยเข้าไปอีก วนกันจนเป็นวัฏจักรอย่างนี้ ทำให้เศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องนับสิบปีเหมือนกรณีของญี่ปุ่น

นั่นคือสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า “ภาวะเงินฝืด” ครับ