ศัลยา ประชาชาติ : เจ้าสัวธนินท์ ซื้อหุ้นเทสโก้ นำลูกรักกลับสู่อ้อมอก ผนึกทัพค้าปลีก แม็คโคร-โลตัส-7/11

เปิดหน้าไพ่ให้เห็นกันจะจะรอบวงเลยทีเดียว สำหรับการประกาศดีลซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซียของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผ่านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 มีนาคม) ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

พร้อมกับมีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ 2 บริษัท เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญ ทั้งทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และเซ็นทรัล กรุ๊ป ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่เคยมีข่าวว่าสนใจดีลนี้ยังไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวกับดีลนี้ออกมาให้เห็นมากนัก

ที่สำคัญ หากดีลนี้สำเร็จ ซีพีจะได้สาขาของเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยมาครอบครองรวมประมาณ 1,967 สาขา เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา พื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา

แถมยังจะได้สาขาเทสโก้ โลตัสในประเทศมาเลเซียมาดูแลอีก 68 สาขา ในจำนวนนี้เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา และร้านขนาดเล็ก 9 สาขา

นี่คือจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้อาณาจักรค้าปลีกของซีพีมีช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดได้ทุกเซ็กเมนต์

จากเดิมที่เจ้าสัวธนินท์มีเซเว่นอีเลฟเว่น ในฐานะเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ ที่วันนี้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเฉียดๆ 12,000 สาขาเข้าไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมี “แม็คโคร” ที่ถือเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดค้าส่ง และมีสาขาอยู่มากกว่า 140 สาขา และในจำนวนนี้เป็นสาขาในกัมพูชา อินเดีย และจีน รวม 7 สาขา

เรียกได้ว่ามีความแข็งแกร่งชนิดที่ใครจะมาเทียบเทียมได้

 

นี่เป็นการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพีที่น่าจับตายิ่งนัก

การมีค้าปลีกทั้ง 3 แบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น-แม็คโคร-เทสโก้ โลตัส” อยู่ในมือ จะทำให้การซินเนอยี่ทางธุรกิจง่ายเพียงกระดิกนิ้ว

โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้า ตลอดรวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจของกลุ่มซีพีเข้าไปมาเลเซียในสเต็ปต่อไป

นั่นเพราะอาณาจักรซีพีในวันนี้เป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ หมู ไก่ กุ้ง หอย ปู ปลา มีทั้งประเภทปรุงสุก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป การเปิดหน้าร้าน ทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหาร

การซื้อเทสโก้ โลตัสในเวลานี้ จึงเท่ากับการขยายฐานลูกค้าให้กับซีพีได้ทันที เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเทกโอเวอร์แม็คโคร ที่ทำให้กลุ่มซีพีได้ฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย ร้านค้าโชห่วย เพิ่มขึ้นมาทันที

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน “เจ้าสัวธนินท์” ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว “เดอะ สแตนดาร์ด” โดยกล่าวถึงดีลการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสครั้งนี้ และเปรียบ “เทสโก้ โลตัส” เป็นเหมือนลูกที่เคยให้คนอื่นไปช่วยเลี้ยง ว่า

“…ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม”

พร้อมกันนี้ เจ้าสัวซีพีระบุด้วยว่า “ผมเป็นผู้สร้างโลตัสในเมืองไทย แต่ต้องจำใจขายกิจการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพื่อรักษาธุรกิจหลักคือธุรกิจเกษตรเอาไว้ แต่มั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ปรมาจารย์ระดับโลกจาก Walmart มาช่วยบริหารตั้งแต่ยุคเริ่มต้นนั้น ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในรากฐานของธุรกิจ เปรียบเสมือนตึกสูงที่มีเสาเข็มที่แข็งแรง”

นอกจากนี้ ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว แม่ทัพใหญ่ซีพียังย้ำว่า จะทำให้เทสโก้ โลตัสมียอดขายเพิ่มมากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามา เปลี่ยนแปลงระบบให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น รายได้มากขึ้น

และหากพลิกไปอ่านหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ยังได้พูดถึงการก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ของเครือซีพีว่า ทำให้ต้องตัดสินใจขายกิจการหลายๆ อย่างไป ไม่ว่าจะเป็น “สยามแม็คโคร หรือโลตัส” ถือเป็นการ “ทิ้งของบางส่วนเพื่อไม่ให้เรือล่ม” และคิดว่า “วันนี้ขายได้ วันหน้าก็ซื้อกลับมาได้”

 

หากยังจำกันได้ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งผ่านไป 16 ปี เดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา เจ้าสัวซีพี โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก็ทุ่มเม็ดเงินกว่า 188,880 ล้านบาท ในการซื้อกิจการบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จากเอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. กลับคืนมาได้สำเร็จ

แม้ในสายตาของคนแวดวงธุรกิจในยุคนั้นจะมองว่าเป็นการลงทุนที่แพง แต่ถึงวันนี้ เจ้าสัวซีพีก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กิจการของแม็คโครนับวันมีแต่จะเติบใหญ่ อย่างน้อยที่สุดในแง่ของรายได้ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีรายได้รวมทะลุ 2 แสนล้านบาทไปแล้ว

อีก 7 ปีต่อมาก็ถึงคิวของ “เทสโก้ โลตัส”

อย่างไรก็ตาม ดีลเขย่าวงการค้าปลีกครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ยังต้องรอ “ไฟเขียว” จากบริษัทแม่เทสโก้ โลตัส และต้องได้รับอนุญาตจาก Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia และเงื่อนไขสุดท้ายคือ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

ในแวดวงค้าปลีกเชื่อกันว่า ไม่น่ามีอะไรพลิกผัน เจ้าสัวธนินท์มั่นใจว่า ภายในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563 เทสโก้ โลตัสจะกลับมาอยู่ในอ้อมอกพ่อ-แม่อีกครั้ง