พิศณุ นิลกลัด : โรคและภัยใกล้ตัวเรา

พิศณุ นิลกลัด

สัปดาห์นี้เขียนเรื่องที่โลกกำลังกังวลมากเหลือเกินในขณะนี้

คือเรื่องอากาศที่เราหายใจ

อากาศที่เราสูดหายใจเข้าไปทุกวันนี้ประกอบไปด้วยฝุ่นละออง PM 10, PM 2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO?) ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยรถยนต์ โรงไฟฟ้า แหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ และจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในครัวเรือน ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหืด มะเร็งปอด โรคหัวใจ ทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงความหนาแน่นของมวลกระดูก และเป็นอันตรายต่อสมอง

เรื่องคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพของประชากรโลกนั้นน่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่ ดร.เทโดรส แอดฮานอม เกบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ตั้งให้มลพิษทางอากาศเป็นยาสูบชนิดใหม่ (the new tobacco)

และยังบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ไม่มีใครสามารถหนีมลพิษทางอากาศไปได้ เป็นภัยร้ายที่ระบาดอย่างเงียบๆ

 

มลพิษทางอากาศเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกประมาณ 7 ล้านคนทุกปี

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) รายงานว่าตอนนี้ประชากรโลกประมาณ 91% กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีระดับมลพิษทางอากาศสูงเกินค่ากำหนดของ WHO

อันตรายจากมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่คนในวงการกีฬาให้ความกังวลอยู่เสมอ

เพราะการออกกำลังกาย ฝึกซ้อม และแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่นั้นอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง ซึ่งต้องสัมผัสกับอากาศข้างนอกโดยตรง

และคุณภาพอากาศก็มีผลอย่างมากกับประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาและสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาเป็นนักกีฬาอาชีพ

ที่สหราชอาณาจักรมีผู้ปกครอง อาจารย์ และนักรณรงค์หลายคนที่ตระหนักถึงเรื่องมลพิษทางอากาศซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศ

ได้ออกมารวมกลุ่มกันเป็น The Air Team ร่วมทำแคมเปญรณรงค์ชื่อ “Breathe GB” เพื่อชี้ให้คนเห็นภัยเงียบจากมลพิษทางอากาศที่กำลังบั่นทอนสุขภาพและความสามารถของเด็กๆ ในการจะฝึกฝนตัวเองขึ้นมาเป็นยอดนักกีฬา

และกระตุ้นให้ทุกคนร่วมมือกันทำให้อากาศในประเทศกลับมาสดใสอีกครั้ง

 

รายงานของ Breathe GB บอกว่าปัจจุบันนี้เด็กๆ ในสหราชอาณาจักรที่เล่นกีฬาอยู่ในชุมชนเมือง กำลังสัมผัสกับมลพิษทางอากาศจากท้องถนนที่เกินระดับปลอดภัยอยู่เป็นประจำ

ซึ่งสิ่งนี้จะไปยับยั้งการเติบโตของระบบการทำงานของปอดในเด็กๆ

นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กๆ ในสหราชอาณาจักรที่กำลังเป็นโรคหืด (asthma) จำนวน 29% มีสาเหตุมาจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศ

ซึ่ง ดร.เอียน มัดเวย์ (Dr. Ian Mudway) อาจารย์วิชาพิษวิทยาทางการหายใจ (respiratory toxicology) จากมหาวิทยาลัย King”s College London บอกว่าเด็กๆ ที่เติบโตมาด้วยโรคหืดและต้องอาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง เมื่อระบบการทำงานของปอดแย่ลง ความสามารถในการออกกำลังกายและฝึกฝนกีฬาของเด็กก็ลดน้อยลงไปด้วย

เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของนักกีฬารุ่นถัดไปที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นทีมชาติสหราชอาณาจักร

 

ในรายงานของ Breathe GB ยังได้ทำการตรวจวัดระดับค่าฝุ่นละออง PM 2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO?) รอบสนามฝึกซ้อมกีฬากลางแจ้งจำนวนทั้งหมด 94 แห่ง ที่ตั้งอยู่ใน 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ ซัลเฟิร์ด (Salford) เชฟฟิลด์ (Sheffield) น็อตติ้งแฮม (Nottingham) เบอร์มิ่งแฮม (Birmingham) และลอนดอน (London) เพื่อหาว่าสนามฝึกซ้อมใดบ้างที่มีระดับฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ยรายปีเกินกว่าที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ยรายปีไม่ให้เกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

จากการสำรวจสนามทั้ง 94 แห่ง พบว่ามี 26 แห่งที่ระดับฝุ่นละออง PM 2.5 หรือไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ยรายปีอยู่ในระดับที่เกินกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก

อีกจำนวน 52 แห่งมีฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในระดับ 9-10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน่ากังวล

 

ในกรุงลอนดอนมีสนามที่ทำการสำรวจทั้งหมด 26 แห่ง ซึ่งพบว่า 24 แห่งมีระดับ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีเกินข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (10 ?g/m3) และจำนวนนี้มีอีก 4 แห่งที่ระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ยรายปีเกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรด้วยเช่นกัน

สนาม Perry Park ในเมืองเบอร์มิ่งแฮม ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดแข่งกีฬาเครือจักรภพปี 2022 (Common Wealth Games 2022) ปัจจุบันนี้มีระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ยรายปีที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สนามซ้อมของทีม Ridgeway Rovers ซึ่งเคยเป็นสโมสรฟุตบอลเริ่มต้นในระดับเยาวชนของเดวิด เบ็กแฮม (David Beckham) และแฮร์รี่ เคน (Harry Kane) มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 11 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากันกับสนามซ้อมของทีม Alpha & Omega FC ที่เป็นสโมสรแรกในระดับเยาวชนของราฮีม สเตอร์ลิ่ง (Raheem Sterling)

เด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มลพิษทางอากาศสูงจะถูกลดประสิทธิภาพการทำงานของปอดลงได้มากถึง 14%

 

มีบางครั้งที่นักกีฬายอมทิ้งโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้สร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้กับตัวเอง เพียงเพราะเกรงว่าไม่คุ้มเสี่ยงกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยาว เหมือนที่เฮลี เกเบอร์เซลาสซี (Haile Gebrselassie) นักวิ่งระยะไกลทีมชาติเอธิโอเปีย ถอนตัวจากการแข่งขันวิ่งมาราธอนในโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง เนื่องจากกังวลเรื่องคุณภาพอากาศในประเทศจีน

เกเบอร์เซลาสซีวัย 35 ปีในตอนนั้นได้เดินทางไปประเทศจีนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย เดือนมีนาคมเขาก็เลยออกมาประกาศถอนตัวจากการแข่งขันมาราธอนในโอลิมปิก 2008 เพราะตัวเขาเป็นโรคหืด จึงไม่กล้าเสี่ยงวิ่งในสภาพอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แต่เกเบอร์เซลาสซีลงแข่งขันวิ่ง 10,000 เมตร เขาได้ที่ 6 ซึ่งเขาบอกว่าพอใจ เพราะเขาเตรียมการฝึกซ้อมส่วนใหญ่เพื่อแข่งขันวิ่งมาราธอน

เมื่อปี 2017 การแข่งขันคริกเก็ตระหว่างทีมชาติอินเดียกับทีมชาติศรีลังกา ที่สนามฟิรอซ ชาห์ โกตลา (Feroz Shah Kotla) ในเมืองเดลี (Delhi) กลายเป็นข่าวพาดหัวใหญ่เมื่อการแข่งขันต้องหยุดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลังจากมีนักคริกเก็ตทีมชาติศรีลังกาหลายคนเกิดอาการป่วยระหว่างการแข่งขัน และอาเจียนซ้ำๆ ในห้องแต่งตัว

ต้นเหตุมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายของอินเดียและมีหมอกพิษปกคลุมทั่วเมือง

มีรายงานว่า ระดับมลพิษอากาศช่วงนั้นสูงกว่าที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 15 เท่า นักคริกเก็ตต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อแข่งขันให้จบ!