ฉัตรสุมาลย์ : พบคนซื่อที่อินเดีย

“จริงเหรอ?”

ท่านผู้อ่านกำลังอุทานในใจ

ผู้เขียนเดินทางเข้าออกอินเดีย ประเทศที่เป็นที่รักมากกว่า 50 ครั้ง แทบทุกครั้งโดนแขกหลอกเป็นประจำ

ไม่เคยขัดคอเลย เวลาที่มีคนไทยบอกว่า ถ้าเจองูกับแขกพร้อมๆ กัน ให้ตีแขกก่อน ปี 2562 ที่ไปจัดงานอุปสมบทภิกษุณีที่พุทธคยาก็มีเรื่องกลับมาแซวท่านธัมมนันทา ท่านเป็นคนชอบภาชนะสเตนเลสที่พุทธคยา ลูกศิษย์ก็คอยห้ามท่านว่า ที่วัตรมีมากแล้ว ขนไปจากอินเดียทั้งนั้น

วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินกลับที่พัก เด็กรุ่นๆ ที่ขายปิ่นโต เรียกท่านเป็นภาษาไทยว่า “อาจารย์ อาจารย์…ปิ่นโต 50 รูปี” ท่านก็หูผึ่ง เดินเข้าไปด้วยความสนใจเพราะเป็นราคาที่ถูกมาก เท่ากับประมาณ 25 บาท

ปรากฏว่า โดนเด็กแขกหลอกอีกแล้ว ปิ่นโตนั่นมี 3 ชั้น ที่ว่า 50 รูปี คือชั้นละ 50 รูปี โอย อยากจะเขกหัวเจ้าเด็กแขกนั่น

ตัวเขาเองก็หัวเราะก๊ากว่า หลอกพระได้

 

เรื่องที่ถูกหลอกน่ากลัวที่สุด เกิดขึ้นในเดลลี เมื่อผู้เขียนขณะเป็นฆราวาสตกเครื่องบิน แล้วต้องกลับมานอนที่โรงแรมเล็กๆ ในกรุงเดลลี ตอนนั้นเวลาตีหนึ่ง ต้องการที่จะกลับไปนอนที่โรงแรมเดิมที่อยู่บนถนนจันปัธ (JANPATH)

แต่พอเรียกออโตมา เขาพยายามจะพาไปโรงแรมที่เขาแนะนำ ซึ่งเขาจะได้ค่านายหน้า

เรายืนยันที่จะไปโรงแรมที่เราเพิ่งออกมา หลังจากที่โยกโย้กันอยู่นาน และเรายังยืนกรานตามเดิม คนขับรถแกล้ง โดยการที่พาเราไปส่งที่อีกบล็อกหนึ่งซึ่งดูเหมือนกันเปี๊ยบเลย เราลากกระเป๋าขึ้นไปบนอาคารชั้นสอง ที่หน้าตาเหมือนกับโรงแรมที่เราพักเมื่อคืนก่อน และเราเพิ่งเช็กเอาต์ไป ปรากฏว่า มืดตึ๊ดตื๋อ

กลัวมากค่ะ

รีบตะกายลงมา แล้วเดินเลาะริมฟุตปาธไปใหม่ จึงพบว่า อาคารที่เราต้องการจะไปนั้น เป็นอาคารอีกบล็อกหนึ่งอยู่ติดกันนั่นเอง

ตึกพวกนี้เป็นตึกที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง

ที่ถูกหลอกคราวนั้น หนักหนาที่สุด เพราะตัวคนเดียว และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนตีสอง ไม่มีใครมาช่วยได้เลย

สยอง

ประมาณว่าโดนหลอกทุกทริป จนท่านธัมมนันทาท่านรำพึงว่า อินเดียเป็นอย่างนี้แหละน่าที่พระพุทธเจ้าต้องรีบชิงตรัสรู้ไปก่อน

ไปคราวนี้ เรียกว่า เป็นทริปไปถอนคำสาป

 

ทําความรู้จักกับรัฐที่เราไปก่อนนะคะ สถานที่ก็สำคัญมากค่ะ เป็นรัฐฉัตติสการห์ “ฉัตติส” แปลว่า 36 เป็นรัฐที่เพิ่งแยกออกมาจากรัฐเดิมที่เรารู้จักกัน คือ มัธยมประเทศ เมื่อ 20 ปีมานี้เอง เมืองหลวงของรัฐใหม่นี้ชื่อเมืองรายปุร์ ถ้าดูจากภาษาอังกฤษเท่านั้น จะสะกดไรปุร์ พอเห็นตัวสะกดภาษาฮินดี จึงรู้ว่า ต้องเขียนว่า รายปุร์

เราบินจากกรุงเทพฯ เข้าโกลกัตตา ที่สร้างเสร็จใหม่ๆ และเพิ่งเปิดให้ใช้เมื่อปลายปี 2562 ประทับใจสุดๆ ใช้ชื่อสนามบินใหม่ว่า สนามบินนานาชาติเนตาจี สุพาส จันทรโภศ เป็นชื่อของผู้นำชาวเบงกอลีที่เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษสำเร็จ ลบความจำและกลิ่นเดิมๆ ของสนามบินดัมดัมออกไปให้หมดเลยค่ะ

ติดอยู่ที่สนามบินโกลกัตตา 8 ชั่วโมง เพราะสนามบินรายปุร์ซึ่งเป็นสนามบินปลายทาง อากาศไม่ดี ฟ้าไม่เปิด ทัศนวิสัยไม่อำนวย เคยเจอแบบนี้มาแล้วตอนไปลาดัค เราต้องทำใจกับสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้

ไม่ได้นอนมาทั้งคืน ท่านธัมมนันทาอาการไม่ค่อยดี ท้องอืด จนฉันเช้าไม่ได้

พอถึงสนามบินรายปุร์ ก็กังวลว่า ป่านนี้คนมารับคงกลับไปแล้ว

ปรากฏว่า ชายหนุ่มหน้าตาดี แต่งตัวดี รออยู่ พร้อมถือกระดาษขนาดเอสี่ ที่มีชื่อของเราเขียนด้วยปากกาหมึกแห้งธรรมดา เราก็รู้สึกดี ขอบคุณเขามากเลยที่เขาอยู่รอเรา ทั้งที่เราช้าไปจากเวลาที่นัดหมายหลายชั่วโมง

ชายหนุ่มคนนี้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เลยต้องบุ้ยใบ้ด้วยภาษาฮินดี ขอให้เขาแวะร้านยาก่อน ร้านยาที่ลงไปนั้น เป็นร้านเล็กมาก หน้าร้านน่าจะกว้างเพียง 2 เมตร คนขายไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ฟังภาษาอังกฤษได้ จัดยามาให้เป็นยาลดกรด และถ่าน ตัดจากแผงมาให้อย่างละ 3 เม็ด เขาว่า เราต้องการเท่านั้นก็พอ

เออ อย่างนี้เมืองไทยไม่ทำนะ ร้านยาจะขายยาทั้งแผงเลย แม้ว่าบางทีเรากินเพียงเม็ดเดียวก็ตาม ให้เราเอามาทิ้ง เรารวยไง

เริ่มรู้สึกดีกับแขกแล้วล่ะ เพราะปกติจะถูกเขายัดเยียดให้ซื้อ แต่คราวนี้จ่ายเงินไปนิดเดียว

 

อีกคราวหนึ่งพยายามจะเข้าเมือง เพราะจุดที่เราพักอยู่นั้น ออกมานอกเมืองตั้ง 20 ก.ม. คนแถวนั้นก็บอกว่า ไม่มีรถออโต คือรถตุ๊กตุ๊กดอก ต้องเดินไปสักครึ่งกิโลจึงจะมีจุดที่รถออโตจอดรอ

บังเอิญมีรถออโตเข้ามาส่งผักที่ร้านค้าเล็กๆ ริมทาง เราก็เลยจับรถคันนี้เข้าเมือง ตกลงราคาว่าไปกลับ 400 รูปี

ฝนพรำอากาศหนาวเย็นมา ของที่ต้องซื้อด่วนคือ ปลั๊กค่ะ ที่เสียบปลั๊กเป็นแบบสามขากลมใหญ่ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตัวไปเป็นสองขาแบนเล็ก ของจำเป็นที่ต้องใช้ คือต้องชาร์จกล้องและโทรศัพท์ ที่จริงก็มีประสบการณ์มาแล้วในหลายๆ ประเทศเรื่องปลั๊กตัวดีนี้แหละ แต่คราวนี้ก็พลาดไปได้

วนหาในตลาดเล็กๆ ไม่เจอ

จุดที่จอดรถนั้น บังเอิญเป็นร้านขายเสื้อผ้า ท่านธัมมนันทาต้องลงไปซื้อถุงเท้า ราคา 54 รูปี พออุปัฏฐากที่ไปด้วยควักเงินมาจ่าย เจ้าของร้านว่า 50 รูปีก็พอ

แทบไม่เชื่อหูตัวเอง นิสัยแขกที่เจอมาไม่มีทางเลยค่ะที่จะลดหย่อนให้แบบนี้

รู้สึกดีอีกแล้ว

กลับมาที่รถ อากาศก็หนาวเย็น คนขับบอกว่า ขอไปข้างหน้าอีกนิดหนึ่ง จะพาไปซื้อปลั๊ก เราก็ยอมตามมาด้วย

เออ เป็นร้านขายเครื่องไฟฟ้าที่ดูดีกว่าที่ผ่านมา พอบอกความต้องการของเรา ชายหนุ่มเจ้าของร้านเข้าใจทันที หยิบปลั๊กที่เราต้องการออกมาให้ เรายินดีมากๆ เลย ราวกับเห็นเทวดา

เขาว่า 60 รูปี

แม้ถึง 100 รูปีก็อยากจ่าย พอหยิบเงินจะจ่ายเขา เขาว่า “50 รูปี” ก็พอ

จริงเหรอ หูเฝื่อนไปหรือเปล่านี่

เจอคนซื่ออีกแล้ว

บอกคนขับว่า เราไม่เข้าเมืองแล้ว เพราะอากาศเย็นลงทั้งฝนก็พรำมาตลอด และเราก็ได้สิ่งที่มีความจำเป็นเรียบร้อยแล้ว

ตกลงเรากลับที่พัก ตอนที่ลงจากรถ เตรียมใจว่าต้องทะเลาะกับแขกอีกแล้ว เพราะตามที่เคยรู้จักแขกมา จะมีการต่อล้อต่อเถียงของค่ารถเพิ่มเสมอ

พอเราจะจ่ายเขา 400 รูปี ตามที่เราตกลงเรียกรถเขาไป

ปรากฏว่า เขาว่า “ไม่ได้ๆ” เอาละซี ต้องทะเลาะกันอีกแล้ว

คือ เขาจะรับเพียง 300 รูปี

ตกใจหมดเลย

ไม่เคยเจอแขกแบบนี้ เป็นงงมาก

รู้สึกดีมากกก

 

มาถึงความเข้าใจใหม่ว่า ฉัตติสการห์เป็นรัฐที่ไม่มีต่างชาติเข้ามาเลย เป็นคนพื้นเมืองล้วนๆ ยังไม่รู้จักกะล่อน เพราะเขายังคงอยู่ในวัฒนธรรมเดิมของเขานั่นเอง

เราจึงพบว่า ที่เราเจอแขกกะล่อนทั้งหลาย เป็นในเมืองใหญ่ที่เป็นที่รวมของคนนานาชนิด ชาวพื้นเมืองจึงต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด

มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ 420 “จาร์เซาบีส” เป็นกฎหมายมาตรา 420 ที่จัดการกับการหลอกลวงต่างๆ ในเรื่องตัวพระเอกกะล่อนมาก เข้าข่ายมาตรานี้ตรงๆ ก็เลยเป็นที่มาของการเรียกคนกะล่อนว่า นาย 420

นายตำรวจท่านหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยตำหนิพวกพ่อค้าที่ขายของริมทางเดินที่โก่งราคาของ จาก 100 รูปี เป็น 1,000 รูปี

พ่อค้าพูดอย่างโกรธว่า “ก็ทีมัน (หมายถึงอังกฤษ) เข้ามาถลุงชาติเราอยู่นานตั้ง 200 ปี ยังทำได้ โก่งราคานิดหน่อยจะเป็นอะไรไป”

นายตำรวจท่านนั้น ท่านเล่าว่า ท่านต้องเดินหนี เพราะไม่รู้จะใช้เหตุผลอะไร ที่พ่อค้าพูดก็จริงอย่างนั้นด้วย

ไปอินเดียทริปนี้ เข้าใจคนแขกมากขึ้นจริงๆ