เพ็ญสุภา สุขคตะ : “กู่ลายท้ายวิหาร” อัตลักษณ์กุฎาคารของล้านนา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีใครเคยสังเกตบ้างไหมคะว่า ตอนท้ายของวิหารบางแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยล้านนา มีสิ่งก่อสร้างที่อาจดูแปลกตา ยื่นออกมาเป็นห้องสี่เหลี่ยม ตอนบนมีหลังคาสูงซ้อนหลายชั้นคล้ายปราสาท

หลายคนถามดิฉันว่าสิ่งนี้คืออะไร มีชื่อเรียกเฉพาะไหม และเคยพบในที่แห่งใดอีกหรือไม่ นอกเหนือไปจากบนแผ่นดินล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่

 

ทำไมจึงเรียก “กู่ลาย”

ห้องที่ยื่นต่อออกมาตอนท้ายวิหารล้านนานี้ ศัพท์ทางสถาปัตยกรรมเรียกว่า “กู่ลาย” เป็นคำประสมที่ประกอบด้วยศัพท์สองคำคือ “กู่” กับ “ลาย”

“กู่” เป็นภาษาล้านนาแผลงมาจากคำว่า “คูหา” อ่านย่อๆ ว่า “คูห์” สำเนียงล้านนาตัว ค จะออกเสียงเป็น ก จึงกลายเป็น “กู่” คูหาหมายถึงช่อง หรือห้องเฉพาะ ที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรืออัฐิธาตุก็ได้

ดังนั้น คำว่า “กู่” จึงเป็นคำกลางๆ ที่ใช้กันบ่อยมากในสังคมชาวล้านนา เพราะสามารถใช้เรียกแทนพระเจดีย์ก็ได้ (ในนิยามที่ใช้บรรจุพระธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ) รวมทั้งยังเรียกรวมไปถึง “มณฑปโขงพระเจ้า” (ในนิยามที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป)

คำว่า “ลาย” สันนิษฐานกันเป็น 2 นัย นัยแรกแผลงอาจมาจากคำว่า “ราย” คือการนำกู่มาตั้งวางเรียงรายที่ท้ายวิหาร

นัยที่สอง อาจมาจากคำว่า “ฮาย” หมายถึงกู่ที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นงดงาม ดังที่มีศัพท์คำว่า “ฮายดอก” ที่แปลว่าการทำให้เกิดลวดลาย เหตุที่ตัว ฮ ในล้านนาเวลาเขียนมักใช้ ร แทน และอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อบางท่านเห็นว่าใช้ ร เขียน ซึ่งตัว ร นี้ชาวล้านนานิยมออกเสียงเป็น ล ต่อมาจึงเขียนด้วยตัว ล แทน

ไม่ว่า กู่ราย หรือกู่ฮาย คำไหนจะเป็นทฤษฎีที่ถูกต้องก็ตามที แต่ทั้งสองคำก็ดูสมเหตุสมผลไม่แพ้กัน

 

กู่ลาย ไฉนต้องอยู่ท้ายวิหาร?

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า กู่ลาย มีรากศัพท์ความเป็นมาอย่างไร คำถามต่อไปก็คือ ทำไมต้องเอา “กู่ลาย” ไปตั้งต่อด้านนอกที่ท้ายวิหาร ทำไมจึงไม่สร้างภายในวิหาร กล่าวให้ง่ายก็คือ ไฉนจึงไม่ให้อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน?

ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ไยจึงแยกเอาพระพุทธรูปออกไปอยู่ในห้องหับเป็นการเฉพาะเสียเล่า?

การแยกห้องหรือคูหาให้พระพุทธรูปประดิษฐานเป็นการเฉพาะนั้น อันที่จริงมิได้ปรากฏเพียงแค่รูปแบบ “กู่ลายที่ท้ายวิหาร” แต่อย่างใดไม่

เพราะยังได้พบการทำห้องหับประดิษฐานพระพุทธรูปในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือในแบบที่เรียกว่า “มณฑปโขงพระเจ้า” คือการทำมณฑปจัตุรมุขเปิดซุ้มสี่ทิศ (ภาษาล้านนาเรียกว่า “โขง”) เพื่อให้เห็นองค์พระพุทธรูปรอบด้าน ดังเช่น มณฑปพระเจ้าแก่นจันทน์แดง วัดเจ็ดยอด หรืออาจเปิดโขงให้เห็นเฉพาะด้านหน้า เช่น มณฑปพระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง

แต่มณฑปโขงพระเจ้าเหล่านี้ ก็ตั้งอยู่ภายในพระวิหาร ไม่ได้อยู่ด้านนอกท้ายอาคาร ดังเช่นกรณีของ “กู่ลาย” ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ (กรณีมณฑปพระเจ้าแก่นจันทน์แดง ครั้งหนึ่งในอดีตก็เคยมีอุโบสถหลังใหญ่ครอบมาก่อน)

ลักษณะมณฑปโขงพระเจ้าของพระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง แม้จะปิดบังส่วนของโขงให้ลดลงต่ำจนแทบจะบดบังพระพักตร์ของพระพุทธรูปนั้นก็ตามที ทว่าเรายังพอจะเห็นพระพักตร์และพระวรกายของพระพุทธรูปได้อยู่บ้างเมื่อเราโน้มตัวลงต่ำในตอนก้มกราบพระพุทธปฏิมา

ถือเป็นกุศโลบายประการหนึ่ง ที่โบราณาจารย์ล้านนาใช้วิธีปราบทิฐิมานะของพุทธศาสนิกชนที่เข้ามาในวัด ให้รู้จักน้อมตัวลงต่ำกว่าองค์พระประธาน เพราะหากเรายืนค้ำเศียรพระพุทธรูปก็จะไม่สามารถเห็นพระพักตร์ได้ถนัดถนี่นัก

ซึ่งลักษณะการทำห้องแคบๆ แทบไม่มีพื้นที่รายรอบพระพุทธรูปเช่นนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร ได้ให้คำจำกัดความว่า หมายถึง พระพุทธเจ้ากำลังประทับอยู่ใน “คันธกุฎี” เพื่อปฏิบัติสมณธรรมอย่างสงบและสันโดษ

การนั่งสมาธิถือเป็นหนึ่งในพุทธกิจหลักของพระพุทธองค์ในแต่ละช่วงวัน (เช้าตรู่-บิณฑบาต, ยามสาย-โปรดสาธุชน, ยามบ่าย-สอนพระสาวก, ยามค่ำ-เทศน์ให้เทวดาฟัง, ยามดึก-ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม)

ซึ่งสถานที่ที่พระพุทธองค์นั่งบำเพ็ญภาวนานั้น จะเป็นคูหาแคบๆ ที่สามารถควบคุมการรบกวนของสิ่งเร้าต่างๆ ได้ เช่น เสียง แสง สายลม ความร้อน ความหนาว ฯลฯ

ดังนั้น สล่าล้านนาจึงได้จำลองห้องแคบๆ มาสร้างเป็นมณฑปโขงพระเจ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธองค์กำลังปฏิบัติธรรมในคันธกุฎี

แล้ว “กู่ลาย” ที่เรากำลังกล่าวถึงนี้เล่า จะอยู่ในข่ายเป็น “คันธกุฎี” ได้ด้วยหรือไม่

 

หรือกู่ลายคือ “คันธกุฎี” อีกรูปแบบหนึ่ง?

นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมล้านนาหลายท่าน ได้ช่วยกันวิเคราะห์ถึงจุดที่ตั้งของ “กู่ลาย” ท้ายวิหาร ว่าเป็นพื้นที่จำเพาะค่อนข้าง “ตัดขาด” จากการปฏิสัมพันธ์ต่อพระภิกษุหรือฆราวาสอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ ลักษณะเช่นนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของ “คันธกุฎี” ในอีกรูปแบบหนึ่งได้หรือไม่

บางท่านก็เห็นว่าน่าจะใช่คันธกุฎี ในขณะที่บางท่านกลับมองว่า “การซ่อนตัว” ในที่ลึกลับซับซ้อนของพระพุทธปฏิมาในกู่ลายเช่นนี้ น่าจะมีความหมายอื่นใดซุกซ่อนอยู่ มากเกินกว่าจะเป็นแค่คันธกุฎีเท่านั้นหรือไม่

เมื่อเราเข้าไปในพระวิหารที่มีกู่ลายต่อท้าย เราจะเห็นว่าวัดบางแห่งมีการสร้างพระพุทธรูปประธานขึ้นมาใหม่อีกองค์ บดบังพระพุทธรูปที่ซ่อนอยู่ในคูหาท้ายวิหาร อาทิ วัดป่าแดงวรมหาวิหาร เชียงใหม่ แต่นั่นก็เป็นเพราะว่ามีการบูรณะใหม่ครั้งใหญ่ในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย อาจเป็นไปได้ว่าครูบาท่านมีความประสงค์ที่จะสร้างพระประธานองค์ใหม่ให้โดดเด่นกว่าองค์เดิมที่ซ่อนอยู่ในกู่ลาย เพื่อให้สาธุชนกราบไหว้ได้ง่ายขึ้น

บางวัดใช้พระพุทธรูปในกู่ลายนั้นเป็นพระประธานในวิหาร โดยไม่มีการสร้างพระประธานอีกองค์มาบังซ้อน ดังเช่นวัดปราสาท วัดบริวารวัดหนึ่งของวัดพระสิงห์ทางด้านทิศเหนือ เหล่าพุทธศาสนิกชนสามารถมองลอดช่องคูหาจนเห็นพระประธานในกู่ลายได้อีกด้วย และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานการบูรณปฏิสังขรณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยเช่นกัน

น่าแปลกที่ครูบาท่านเลือกที่จะไม่สร้างพระประธานในวิหารบนแท่นแก้วให้ปิดบังพระประธานองค์เดิมในซุ้มกู่ลายเหมือนเช่นวัดป่าแดง

แต่กรณีของวัดปราสาท ครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับใช้วิธีบูรณะพระประธานในกู่ลายแทน และคงสถานะพระองค์นั้นไว้ซึ่งพระประธานของวิหารดุจเดิม

กรณีของวัดพระสิงห์เชียงใหม่ ที่วิหารลายคำ เป็นที่รู้จักกันดีว่าประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์นั้น พบร่องรอยของการทำฉากหลังอัดกรุปิดช่องคูหาที่เชื่อมต่อกับกู่ลายท้ายวิหารในลักษณะปิดตาย ไม่สามารถเข้าไปได้ แล้วนำพระพุทธสิหิงค์กับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ มาประดิษฐานบนฐานชุกชี (ล้านนาเรียกแท่นแก้ว) แบบเรียงหน้ากระดานตามแนวยาว 3 องค์

ซึ่งก็เป็นปริศนาอยู่ว่า “กู่ลาย” ท้ายวิหารวัดพระสิงห์นั้น เดิมเคยใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ไหนมาล่ะหรือก่อนที่จะถูกปิดตาย ใช่พระพุทธสิหิงค์หรือไม่

เนื่องจากยังมีนักวิชาการที่เชื่อว่า สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์หลังเดิมในยุคก่อนที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ 2 แผ่นดิน ล้านนา-ล้านช้าง จะอัญเชิญไปพร้อมด้วยพระคู่บ้านคู่เมืองล้านนาอีกหลายองค์เพื่อนำไปประดิษฐานที่นครหลวงพระบางนั้น ควรเป็นอุโบสถสองสงฆ์มากกว่าหรือไม่ (อุโบสถที่ตั้งในแกนขวางเหนือ-ใต้)

ส่วนวิหารลายคำนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ระยะที่สอง ภายหลังจากที่ฝั่งศรีสตนาคนหุตหรือล้านช้างได้ทำการส่งคืนให้แก่ฝั่งล้านนาแล้วในสมัยพระเมกุฏิ (คืออยู่ที่ล้านช้างได้เพียง 2-3 ปี ชาวเชียงใหม่หัวใจจะสลายขอทวงคืนพระพุทธสิหิงค์เอากลับมา ทางลาวก็ยินดีคืนให้)

ส่วนคำตอบที่ดิฉันตั้งปริศนาไว้ว่า “กู่ลาย” ถือเป็น “คันธกุฎี” ประเภทหนึ่ง เหมือนมณฑปโขงพระเจ้าทั่วไป ด้วยหรือไม่ หรือจะใช้แทนสัญลักษณ์อื่นใดที่เรายังตีความไม่ได้

ดิฉันขอสารภาพว่ายังไม่สามารถค้นพบคำตอบ ณ ขณะนี้

 

กู่ลาย อัตลักษณ์เฉพาะของเชียงใหม่?

มาสู่คำถามที่ว่า เราไม่พบ “กู่ลาย” ท้ายวิหารลักษณะพิเศษเช่นนี้ในวัฒนธรรมล้านนาจังหวัดอื่นๆ เลยหรือเช่นไร ยกเว้นเชียงใหม่เพียงแค่จังหวัดเดียว?

คำตอบคือ ณ ตอนนี้ยังไม่พบกู่ลายท้ายวิหาร ณ วัดอื่นใดอีกเลย นอกเหนือไปจาก วัดปราสาท วัดพระสิงห์ วัดป่าแดง และวัดเจ็ดยอด ซึ่งทั้งสี่แห่งนี้ล้วนแต่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น

ดังนั้น เราอาจจะพอสรุปเบื้องต้นได้คร่าวๆ ว่า “กู่ลายท้ายวิหาร” เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของการทำกุฎาคารหรือคันธกุฎีสำหรับประดิษฐานพระพุทธปฏิมาที่พบในวัฒนธรรมล้านนาแค่สกุลช่างเชียงใหม่

โดยเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นั้นจะต้องมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ จึงได้จัดสร้างสถานที่ประดิษฐานให้เป็นห้องหับเฉพาะแยกออกมาแบบเป็นสัดเป็นส่วน อีกทั้งหลังคาตอนบนก็เป็นทรงปราสาทที่มีความอลังการ

หากดิฉันและเครือข่ายนักวิชาการในล้านนา สามารถค้นหาคำตอบอื่นใดที่ตกผลึกคมชัดลึกมากกว่านี้ คงจักได้นำเสนอความคืบหน้าให้ผู้อ่านทราบในโอกาสต่อไปค่ะ