ในประเทศ / การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เห็นจะยากตรงไหน (รายการคืนความสุขให้คนในชาติ ครั้งที่ 9, 8 ส.ค.2557)

ในประเทศ

 

การบริหารราชการแผ่นดิน

ไม่เห็นจะยากตรงไหน

(รายการคืนความสุขให้คนในชาติ ครั้งที่ 9, 8 ส.ค.2557)

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 สิงหาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี

กล่าวในรายการคืนความสุขให้กับคนไทย

อย่างมั่นอกมั่นใจว่า

“การบริหารราชการของ คสช. หลายคนบอกว่าเป็นทหารจะรู้หรือ

การบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องใหญ่

ผมเรียนท่านแล้วทุกวันนี้เราทำตามกลไกของรัฐปกติ

ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน

ผมไม่เห็นจะยากตรงไหน”

 

ตัดภาพมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

หรือ 6 ปีให้หลัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

กล่าวในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563

“…หลายคนบอกวันนี้ไม่ค่อยเชื่อนายกฯ แล้ว

ผมยังเป็นนายกฯ ของผมเหมือนเดิม

วิธีทำงานยังเหมือนเดิม ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี เป็น ครม. ผมลงรายละเอียดให้ทั้งหมด

พยายามใช้สติปัญญาให้มากที่สุด…

…ผมพร้อมนำประเทศชาติให้ผ่านพ้นตรงนี้ไปให้ได้ ยึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเรื่องการเมืองอย่างเดียว

ขอร้องรัฐมนตรีทุกคนแล้วว่าจะไม่ทำงานเพื่อการเมือง

เวลาพูดกับข้าราชการแล้วเข้าใจ แต่เวลาแถลงแบบราชการมากๆ สื่อ ประชาชนก็ไม่เข้าใจอีก

อย่างวันนี้ประชาชนบอกหลายอย่างว่าดี นายกฯ พูดดี แต่เวลาไปทำก็ทำไม่เป็น

มาตรการหลายอย่างรัฐบาลออกมาเยอะแต่เข้าไม่ถึงเพราะการสื่อสาร รัฐบาลต้องรับผิดชอบตรงนี้

ผมไม่โทษหน่วยงาน จากนี้ทุกหน่วยงานและทุกกระทรวงต้องทำทั้งหมดเรื่องให้บริการประชาชน ผมไล่ดูอยู่

ขอให้แจ้งมาที่ทำเนียบได้ ถ้าตรงไหนยังไม่ดีจะได้เล่นงานได้ถูกต้อง

ผมต้องรับผิดชอบทั้ง 77 จังหวัด ขอให้ได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรที่เป็นความขัดแย้งขอให้เบาๆ ลง เพราะจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นอีก

มีอะไรก็บอกมา ผมก็อ่านและนำมาสู่นโยบาย ใครทุจริตตรงไหนฟ้องตรงนั้น

โอเคนะ สิ่งที่พูดไปใช้ได้ นายกฯ ตอบชัดเจนแล้ว

เลิกว่าผมซะทีเถอะ เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมางอมเต็มที

ใจผมก็แย่ไปทุกวัน”

 

จากคำพูดข้างต้น แสดงชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์รู้ซึ้งแล้วว่า ที่บอกว่าการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เห็นจะยากตรงไหน

ไม่จริงเสียแล้ว

สิ่งรอบตัวกลายเป็นปัญหายากให้แก้ไขไปเสียทุกเรื่อง

ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

การเมือง อย่างที่เราทราบดี ในท่ามกลางเงื่อนไขที่น่าจะเป็นบวก เช่น การได้เสียง ส.ส.มาเพิ่มในพรรคร่วม ทำให้รัฐบาลพ้นปัญหาเสียงปริ่มน้ำ

สามารถขจัดพรรคศัตรูสำคัญอย่างอนาคตใหม่ลงไปได้ด้วยการ “ยุบพรรค”

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านก็ล้มเหลวในการบริหารเวลา ทำให้ 6 รัฐมนตรีผ่านการซักฟอกไปได้

เป็นต้น

แต่สิ่งที่ดูเหมือนเป็นบวกนั้น กลับแฝงปัจจัยลบพ่วงเข้ามาอย่างหนักหน่วง

อาทิ การเมืองในสภา ดูเหมือนฝั่งฟากรัฐบาลจะควบคุมเอาไว้ในมืออย่างสบายๆ

อย่างไรก็ตาม การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการเมืองได้ออกไปอยู่นอกสภาด้วย

โดยมีตัวเล่นสำคัญที่เพิ่มเข้ามา นั่นคือคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ลงไปถึงกระทั่งนักเรียน ได้ก่อปฏิกิริยาแฟลชม็อบเขย่ารัฐบาลอย่างหนักหน่วงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โดยพุ่งเป้าต่อต้านไปยังความไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมของการใช้กฎหมาย และการวินิจฉัยขององค์กรอิสระ การต่อต้านการสืบทอดการรัฐประหาร รวมถึงการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา

เหล่านี้ได้ย้อนกลับเข้ามาเป็นแรงกดดันรัฐบาลอย่างหนักภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้กระแสต่อต้านรัฐบาลแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยนั้น ได้กลายเป็นฐานต่อต้านรัฐบาล อันกว้างขวาง ฉับไว โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นเครือข่ายประสาน

ทำให้การเมือง แทนที่จะอยู่ที่การชี้นำของฝ่ายรัฐบาล กลายเป็นการถูกรุกไล่จากฝ่ายต่อต้าน ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่รัฐบาลอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมในปัจจุบัน ปรับตัวรับมือแทบไม่ทัน

และยัง “หวาดกลัว” อีกด้วย

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์พยายามปรับเปลี่ยนท่าที เพื่อรับกระแสเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแบบแฟลชม็อบของนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ด้วยการให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ และในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ประสานงานให้ประชาชนมาพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์

ภายใต้แคมเปญ “มีปัญหา ปรึกษานายกฯ” โดยเริ่มครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความตั้งใจของตนเองที่ต้องการรับฟังเสียงของประชาชนโดยตรงแบบเปิดใจและเข้าอกเข้าใจถึงสภาวะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก อันเนื่องมาจากสงครามการค้า ผนวกกับภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะงักลงไปอีก สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาปากท้องของประชาชน เกษตรกร และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งผู้ประกอบการอิสระ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

พิจารณาตามนี้ แคมเปญ “มีปัญหา ปรึกษานายกฯ” ก็คือการพยายามสร้างดุลถ่วงกับกระแสม็อบนอกสภาที่ขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง

โดยรัฐบาลหวังว่าคงจะดึงเอามวลชนส่วนหนึ่งกลับมาอยู่ข้างตนเอง

แต่แคมเปญดังกล่าว ก็ถูกตั้งคำถามว่าจะต้านกระแส “ไม่เอาลุงตู่” และรัฐบาล ได้หรือไม่

 

เพราะในทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น เผชิญปัญหาร่วม จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ทำให้ทั่วโลกจับไข้

แถมยังมาสะดุดหัวคะมำจากปัญหาระบาดไวรัสโควิด-19 อีก

โดยบัดนี้ได้กลายเป็นปัญหาร่วม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

มีรัฐบาลเป็นเป้าหมายแห่งการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าไม่สามารถรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างดีพอ

แม้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขจะรับมือในกรณีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เมื่อก้าวสู่การตัดสินใจในเชิงนโยบายของรัฐบาล กลับเต็มไปด้วยความสับสนว่าจะเลือกมาตรการใดกันแน่

จะมุ่งควบคุมการระบาดอย่างเด็ดขาด หรือการพยายามรักษาธุรกิจการท่องเที่ยวเอาไว้

นำไปสู่การไม่ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดภาวะประดักประเดิดในฝ่ายปฏิบัติ คือไม่รู้จะเทน้ำหนักไปในเป้าหมายใด

จนเกิดภาวะแตกตื่นว่า ที่สุดไทยจะไม่สามารถป้องกันการระบาดของโรคร้ายนี้ได้

เพราะเพียงแค่ปัญหาผีน้อย หรือแรงงานผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้ต้องกลับประเทศเพื่อหลบภัยไวรัส ก็พลอยทำให้กระบวนการรับมือเป็นไปอย่างสับสนอลหม่าน ไม่เป็นกระบวน

ก่อให้เกิดภาวะเกลียดชังกันเองในสังคม เมื่อมีข่าวว่าผีน้อยไม่ยอมให้ความร่วมมือในการกักตัว จนอาจทำให้โรคแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีก

อันพลอยทำให้เกิดภาวะแตกตื่นซ้ำเข้าไปอีกขั้น เมื่อประชาชนต่างหาหน้ากากมาป้องกันตัวเอง

แต่ก็ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลยังไร้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาหน้ากากอีก ทำให้เกิดการขาดแคลน ไม่พอเพียง โดยเฉพาะในหมู่แพทย์ พยาบาล อันเป็นการบั่นเซาะกำลังใจในการทำงานหนักอย่างรุนแรง

 

พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลก็พยายามลดทอนความไม่พอใจนั้น ด้วยการพยายามผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ใช้ไม้เด็ดเก่า นั่นก็คือ แจกเงินกลับมาใช้อีก

โดยตั้งเป้าจะแจกเงินแก่ประชาชนในระดับล่าง 2,000 บาท โดยต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลทำอะไรไม่เป็นนอกจากแจกเงิน ซึ่งไม่ได้ก่อมรรคผลอันยั่งยืนใดๆ

ทำให้ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องกลืนน้ำลาย สั่งยุติการแจกเงิน หันไปใช้วิธีอื่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลเสียฟอร์มอีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ที่สร้างความคับข้องใจแก่ประชาชน ยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อง เมื่อปรากฏข่าวอื้อฉาวว่าทีมงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกักตุนและหากำไรจากหน้ากาก

กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ของรัฐบาลที่เพิ่มเข้าไปอีก

นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยนำเอารัฐมนตรีที่อื้อฉาวออกไป

ขณะเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ มี ส.ส.บางส่วนใช้ประเด็นอื้อฉาวนี้กดดันให้มีการถอนตัวออกจากรัฐบาล เพราะรับไม่ได้กับภาวะพายเรือให้โจรนั่ง

นำไปสู่ปัญหาระหว่างพรรครัฐบาล ซึ่งแม้แกนนำของแต่ละพรรค รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามไกล่เกลี่ย ประนีประนอม

แต่ท่าทีของประชาธิปัตย์ก็สะท้อนว่า ภายในรัฐบาลเองก็มิได้มีเอกภาพสักเท่าไหร่นัก

หากมีประเด็นหรือเงื่อนไขอะไรขึ้นมา ก็พร้อมจะขยายตัวเป็นปัญหาได้ทุกเมื่อ

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงตกอยู่ในภาวะเหมือนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่งหากรักษาตัวไม่ดี มีโอกาสที่จะ “สิ้นลม” อย่างไม่คาดหมายได้ง่ายๆ

แต่การจะ “หาย” ก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง

แน่นอน ย่อมไม่ใช่การโอ่ประโคมอย่างเมื่อตอนรัฐประหารเข้ามาใหม่ๆ ว่า

“การบริหารราชการแผ่นดิน

ไม่เห็นจะยากตรงไหน”

เพราะขณะนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่จริง

แถมต้องดิ้นรนเพื่อยืดอายุตนเองอย่างเต็มแรง

จะถึงขนาดต้องปรับคณะรัฐมนตรียกเครื่อง

หรือเลวร้าย อย่างที่เริ่มมีกระแสข่าวสะพัดออกมา จนผู้สื่อข่าวต้องเอาไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีการปลุกกระแสข่าวรัฐประหารจริงหรือไม่

ซึ่งแม้จะมีคำตอบโต้จาก พล.อ.ประยุทธ์ทันทีว่า “ถามข่าวที่มีสาระมากกว่านี้หน่อย”

        แต่ในภาวะเช่นนี้ มีใครหรือ ที่จะไม่ไต่ถามและเงี่ยหูฟัง