ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ตอบโจทย์-พยากรณ์จีดีพี ชูแผน 20 ปีขยับเข็มทิศประเทศไทย

หนึ่งในวาระด่วนของตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ทุกสมัย คือแฟ้ม “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส” ที่นำเสนอโดย ฝ่ายเสนาธิการเศรษฐกิจประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา หากเปิดแฟ้มวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งด้านสังคม-เศรษฐกิจ การพัฒนา มีความเห็นประกอบการพิจารณา เป็นลายลักษณ์อักษร จาก “ดร.ปรเมธี วิมลศิริ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ดร.ปรเมธี มีเก้าอี้นั่งในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี มาหลายสมัย ทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บอกสไตล์ความแตกต่างของรัฐบาล

“ความเห็นของสภาพัฒน์ ประกอบการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี คนตัดสินใจก็ต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้ารัฐบาล เพราะเรื่องนโยบาย มีผลกระทบต่อประชาชน ต่อประเทศ ถ้าไม่ทำตามหลักการแล้วเกิดผลกระทบ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ”

“ภารกิจในแต่ละรัฐบาลก็ไม่แตกต่างกัน บางรัฐบาลมีภารกิจมากหน่อย เพราะรัฐบาลต้องการมีผลงานอย่างรวดเร็ว บางรัฐบาลก็มีเวลาอยู่ในวาระจำกัด”

ข้อวิพากษ์ “ทำตัวเลขเศรษฐกิจ” ต่อสภาพัฒน์ มีมาตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวโมเดล “เศรษฐกิจรายไตรมาส” เมื่อยุค วิรัตน์ วัฒนศิริธรรม เป็นเลขาธิการ (2539-2542)

1 ทศวรรษผ่านมา ดัชนีในการพยากรณ์ มีการปรับเปลี่ยน ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็น New Normal “ดร.ปรเมธี” ยืนยันว่า การเมือง-ภัยพิบัติ ล้วนเป็นดัชนี

“บทบาทสภาพัฒน์ในแง่ทำข้อมูลเศรษฐกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ต้องเผชิญคือ ดัชนีภาคบริการที่เจริญเติบโตเร็ว และดัชนีธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ที่เก็บข้อมูลภาครัฐก็ต้องปรับตัวจัดทำข้อมูลเพิ่ม ให้ตามทันการเปลี่ยนแปลง”

“การพยากรณ์เศรษฐกิจเดิมก็ยากอยู่แล้ว และเศรษฐกิจที่เป็น New Normal ต้องเผชิญกับปัจจัยที่ไม่ใช่ดัชนีเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่อนาคตจะมีความท้าทายคือดัชนีที่อยู่นอกเหนือดัชนีเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น น้ำท่วม,การก่อการร้าย ปัจจัยการเมือง การเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนมั่นใจแบบไหนมากกว่ากัน เรื่องเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงในการประมาณการทางเศรษฐกิจ”

อีกพันธะของสภาพัฒน์ที่ผูกพันกับทุกชีวิต คือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี”

เมื่อต้องต่อยอดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุคที่โลกเปลี่ยนทิศทุกเข็มวินาที “ดร.ปรเมธี” บอกว่า ไม่ช้า-ไม่เร็ว-รีวิว-รื้อ-สร้างใหม่ ให้ทันทุกสถานการณ์

“แม้แผน 5 ปีก็จริง เหตุการณ์เปลี่ยนเร็ว ก็จริง ภาครัฐต้องปรับตัวเร็วขึ้น จึงมีการรีวิวแผนทุกปี และสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกปี แต่พอทบทวนแล้วก็ไม่มีอะไรที่ถึงกับต้องรื้อ ยกเว้นเหตุการณ์ใหญ่”

“สิ่งที่จะเปลี่ยนก็คือ แผนระยะยาว คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรวมถึงความมั่นคงกับการเมืองด้วย ซึ่งทั้ง 2 แผนมีความเชื่อมโยงกัน แผนระยะยาว เป็นวาระประเทศที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตามสถานการณ์และปัจจัยใหม่ๆ เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาเรื่องอนาคต เช่น สังคมผู้สูงอายุ กองทุนการออม ต้องทำก่อนล่วงหน้า หากมีการเลือกตั้ง 4 ปี/1 ครั้ง ก็จะมีแผน 20 ปีเป็นกรอบให้ประเทศเดินไปได้”

โจทย์ใหญ่-โจทย์ใหม่ ที่ท้าทายประเทศไทย เพื่อไปสู่ “ประเทศที่มีรายได้สูง” ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “ดร.ปรเมธี” เห็นว่า “ประเทศไทยในอนาคต ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าหมายทางเเศรษฐกิจ มีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง มีรายได้ต่อหัวที่ 12,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ต้องอาศัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอัตรา 5% ต่อปี คาดว่าประมาณ 15 ปีเราก็เข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้”

เครื่องมือในการไปสู่ประเทศมีรายได้สูง สำหรับโลกยุคใหม่ ที่ใครคิดได้ก่อนชนะ “นอกจากแรงงานฝีมือ ลงทุนเครื่องจักรมากขึ้นในกระบวนการผลิต ต้องมีการเพิ่มมูลค่า การวิจัยพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบต่างๆ เพราะคงจะเพิ่มอัตราขยายตัวจากการขายของถูก จำนวนมากไม่ได้อีก ปัจจุบันเอกชนรายใหญ่ก็ปรับตัวด้านวิจัยและพัฒนากันมากขึ้น”

เมื่อสิ่งแวดล้อม-บริบทเศรษฐกิจใหม่ ไม่เหมือนเดิม ตัวเชื่อม-ตัวช่วย ที่จะเป็นสปริงบอร์ดสำคัญของนักลงทุนไทย ไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยี

“การที่เราจะเข้าสู่ดิจิตอลอีโคโนมีในอีก 20 ปี เราก็มองว่าเทคโนโลยีอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน อาทิ ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับสมองมนุษย์”

“โฉมหน้าประเทศไทยที่เปลี่ยนไป จะมีทั้งเกษตร และอุตสาหกรรม บริการ ที่เปลี่ยนรูปแบบเพิ่มมูลค่าด้วยแรงงานที่มี Skill สูง, เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจด้วยระบบ IT มาทำให้ประเทศไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการ Connectivity โดยมีการลงทุนโครงการพื้นฐาน รถไฟเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก จากแหลมฉบัง-อีสเทิร์นซีบอร์ดไปทวาย”

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงเป็นดาวเด่นในภูมิภาคอาเซียน เป็นกลไกสำคัญในการ “เชื่อมโลก” คือ “พลังงาน กำลังเป็นที่ต้องการในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ซื้อ ตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้า การเชื่อมโยงสายส่ง”

แม้ภาระ-พันธะ ของสภาพัฒน์ไม่ได้ผูกมัดอยู่กับ “ตัวเลข” แต่สปอตไลน์วงการพยากรณ์เศรษฐกิจ ก็ยังส่องโฟกัสจดจ่อที่ “จีดีพีรายไตรมาส” และการคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปี

ข้อวิจารณ์กรณี “ทำตัวเลข” เอาใจฝ่ายการเมือง ยังเป็น “โจทย์” ที่ “ดร.ปรเมธี” ต้องให้ปากคำซ้ำ…โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

“ในแง่การทำงาน เราก็ดูข้อมูล ดูเทคนิค ดูสมมุติฐาน และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง เราก็ทำตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการอยู่แล้ว คงไม่สามารถเอาใจใครได้ ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ หรือรัฐบาล ไม่ว่าเขาคาดหวังอยากเห็นอะไร ส่วนความน่าเชื่อถือก็อยู่ที่แต่ละคนไปพิสูจน์เอาเอง จากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเสียงโต้แย้งบ้าง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยังฟังประมาณการที่สภาพัฒน์ ทำแล้วนำไปวิเคราะห์กัน”