เกษียร เตชะพีระ | วิพากษ์ตุลาการภิวัตน์ (3)

เกษียร เตชะพีระ
(โจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษแสดงปาฐกถารีธของบีบีซีประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่หนึ่ง : จักรวรรดิกฎหมายขยายตัว (ต่อ)

แน่ละครับว่าแต่ไหนแต่ไรมากฎหมายได้จำกัดขอบเขตการตัดสินใจเองอย่างอิสระโดยปัจเจกบุคคลเยี่ยงนี้ลงในบางเรื่อง

จอห์น สจ๊วต มิลล์ อีกนั่นแหละที่แสดงจุดยืนเสรีนิยมแบบคลาสสิคในประเด็นนี้ออกมาได้ดีที่สุดเมื่อเขาบอกว่าเราต้องจำแนกแยกแยะระหว่างการกระทำที่ส่งผลกระทบคนอื่น และฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายพึงเข้าไปกำกับควบคุมได้โดยชอบ กับการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้กระทำเองเท่านั้นซึ่งในกรณีดังกล่าวมันย่อมสังกัดพื้นที่ส่วนบุคคลของเขาเอง

ดังนั้น เราจึงถือว่าฆาตกรรม การข่มขืน โจรกรรมและกลฉ้อฉลเป็นความผิดทางอาญา เราบอกว่าศีลธรรมของการกระทำเหล่านี้มิบังควรปล่อยให้เป็นเรื่องของมโนธรรมสำนึกของบุคคลทุกคนเอง การกระทำเหล่านี้มิเพียงแต่ประทุษร้ายคนอื่นเท่านั้น แต่ยังมีฉันทามติที่แทบเป็นเอกฉันท์ว่ามันผิดร้ายทางศีลธรรมด้วย

ข้อที่แปลกใหม่ก็คือมีแนวโน้มเพิ่มทวีขึ้นทุกทีที่จะใช้กฎหมายไปกำกับควบคุมการเลือกของคนเราแม้ในกรณีที่มันไม่ได้ประทุษร้ายคนอื่นแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีฉันทามติเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรมของมันอีกด้วย

ตัวอย่างที่ดีของการนี้มาจากการออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการสัตว์บางฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ อาทิ กฎหมายว่าด้วยปศุสัตว์เพื่อเอาขน อังกฤษและสกอตแลนด์ร่วมกับประเทศยุโรปอื่นๆ บางประเทศได้สั่งห้ามทำปศุสัตว์เพื่อเอาขนในไม่กี่ปีหลังมานี้ เหตุผลหาใช่เพราะการปศุสัตว์และการฆ่าสัตว์เอาขนด้วยวิธีที่มีมนุษยธรรมเพื่อนำมาใช้สอยเป็นที่น่ารังเกียจโดยตัวมันเองไม่

ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าการเลี้ยงและฆ่าสัตว์เป็นอาหารเป็นที่ยอมรับได้ทางศีลธรรม เป็นต้น แต่กระนั้นเราก็หาได้กินตัวบีเวอร์หรือมิงค์ไม่ เหตุผลอย่างเดียวของการทำปศุสัตว์บีเวอร์และมิงค์ก็เพื่อเอาขนของมัน ความคิดเบื้องหลังการสั่งห้ามด้วยตัวบทกฎหมายที่ว่านี้ก็คือว่าความปรารถนาที่จะสวมหมวกขนบีเวอร์หรือเสื้อคลุมขนมิงค์ มิได้เป็นเหตุผลทางศีลธรรมที่ดีพอในการฆ่าสัตว์ ขณะที่ความปรารถนาจะกินมันเป็นเหตุผลทางศีลธรรมที่ดีพอ

แต่กระนั้นผู้คนจำนวนมากคงจะไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยดังกล่าว พวกเขาบางคนยินดีที่จะสวมใส่ขนสัตว์ต่อให้คนอื่นไม่เห็นด้วยก็ตาม

ทว่ารัฐสภาก็ได้ตรากฎหมายว่าการทำปศุสัตว์เพื่อเอาขนหาใช่เรื่องที่ควรปล่อยให้พวกเขาวินิจฉัยกันเองทางศีลธรรมไม่ เราอาจตั้งข้อสังเกตทำนองเดียวกันได้เกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายกำกับควบคุมการตัดหางสุนัขอันละเอียดพิสดารยิ่ง

กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หากมีคุณค่าทางประโยชน์ใช้สอยอาทิตัดหางสุนัขใช้งานเป็นต้น แต่ไม่อนุญาตให้ทำในกรณีที่มีแต่คุณค่าเชิงสุนทรียะ เช่น ตัดหางสุนัขเลี้ยงในครัวเรือนหรือเพื่อออกงานแสดงสุนัข

ผมไม่อยากจะเข้าไปถกเถียงว่ากฎหมายทำนองนี้ทั้งหลายถูกหรือผิดอย่างไรบ้าง ผมเป็นกลางโดยแท้จริงในเรื่องนั้น ประเด็นที่ผมกำลังตั้งขึ้นเป็นคนละเรื่องกัน กล่าวคือ กฎหมายเหล่านี้พูดถึงประเด็นปัญหาทางศีลธรรมซึ่งผู้คนมีทรรศนะแตกต่างกันหลากหลาย แต่กฎหมายกลับกำกับควบคุมการเลือกของพวกเขาบนหลักการว่ามันควรมีข้อวินิจฉัยรวมหมู่ทางศีลธรรมเพียงประการเดียว หาใช่ข้อวินิจฉัยนานัปการของปัจเจกบุคคลไม่

ความข้อนี้บอกอะไรเราบางอย่างเกี่ยวกับท่าทีต่อกฎหมายที่เปลี่ยนไปของสังคมเรา มันเป็นสัญญาณบ่งบอกการขยายพื้นที่ส่วนรวมออกไปเบียดขับพื้นที่ส่วนตัวซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดกันว่าศักดิ์สิทธิ์ แม้ในกรณีที่ไม่มีข้อพิจารณาเรื่องสวัสดิการที่กดดันอย่างหนักให้เราต้องทำอะไรบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็ยังหันไปหากฎหมายเพื่อยัดเยียดทางแก้ที่เป็นแบบแผนเดียวกันให้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยคำนึงถึงข้อวินิจฉัยและพฤติกรรมอันหลากหลาย

เรากลัวการปล่อยให้ผู้คนถูกชักนำด้วยข้อวินิจฉัยทางศีลธรรมของตัวเองด้วยเหตุว่าถ้าเผื่อเกิดพวกเขาดันบรรลุข้อวินิจฉัยซึ่งเราไม่เห็นด้วยเข้าล่ะจะให้ทำอย่างไร

ตอนนี้เรามาลองหันไปดูปัจจัยหลักอื่นอีกประการเบื้องหลังการที่สาธารณชนกระหายใคร่ได้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายมากขึ้นทุกที กล่าวคือ การแสวงหาความมั่นคงยิ่งขึ้นและความเสี่ยงน้อยลง ความข้อนี้สำคัญเป็นพิเศษในเรื่องระเบียบสาธารณะ สุขภาพและความปลอดภัย การคุ้มครองการจ้างงานและการบริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความเสี่ยงหลักๆ ต่อสวัสดิภาพของเราและคิดเป็นสัดส่วนสูงยิ่งของกฎหมายสมัยใหม่ที่ออกมา

บางครั้งมีคนพูดเสมือนว่าการขจัดความเสี่ยงต่อชีวิต สุขภาพและสวัสดิภาพให้หมดไปเป็นคุณค่าเด็ดขาดสัมบูรณ์ แต่เอาเข้าจริงเราก็มิได้ดำเนินการตามหลักดังกล่าวเสียทีเดียวไม่ว่าจะในชีวิตของเราเองหรือการจัดระเบียบรวมหมู่ต่างๆ ของเรา

ลองคิดถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนดูนะครับ มันเป็นต้นตอใหญ่ที่สุดของอาการบาดเจ็บทางกายภาพจากอุบัติเหตุในประเทศนี้ชนิดที่ทิ้งห่างอุบัติเหตุประเภทอื่นลิบลับ

เราคงสามารถขจัดมันได้แทบจะสิ้นเชิงด้วยการรื้อฟื้นพระราชบัญญัติหัวรถจักรปี ค.ศ.1865 ขึ้นมาซึ่งจำกัดความเร็วของพาหนะยานยนต์ไว้ที่ 4 ไมล์ต่อชั่วโมงในชนบทและ 2 ไมล์ต่อชั่วโมงในเมือง

ทุกวันนี้เรายอมให้รถแล่นเร็วกว่านั้นแม้เรารู้แน่ว่ามันหมายถึงจะมีผู้คนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอักโข

และที่เราทำเช่นนี้เพราะความปลอดภัยแบบเบ็ดเสร็จจะทำให้เราไม่สะดวกเกินไป ถึงแม้มันเป็นเรื่องกระดากปากที่จะเอ่ยออกมา แต่เอาเข้าจริงเราคิดว่าการยอมให้มีคนตายเป็นร้อยๆ และบาดเจ็บทุพพลภาพเป็นพันๆ บนท้องถนนเป็นราคาที่คุ้มค่าควรจ่ายแลกกับความสามารถที่จะเดินทางไปไหนต่อไหนได้รวดเร็วและสะดวกสบายขึ้น

ดังนั้น การขจัดความเสี่ยงจึงไม่ใช่คุณค่าเด็ดขาดสัมบูรณ์ หากเป็นเรื่องของระดับที่เหมาะสม

หลายปีก่อนศาลต้องไต่สวนพิจารณาคดีชายหนุ่มคนหนึ่งผู้กระโดดดิ่งลงไปในทะเลสาบตื้นๆ ณ จุดชมวิวสวยงามแห่งหนึ่งที่รู้จักกันดีจนคอหัก เขาต้องเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต ทางการท้องถิ่นถูกเขาฟ้องข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่

เอาเข้าจริงพวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ติดป้ายเตือนเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่เขาสู้คดีว่าในเมื่อพวกเจ้าหน้าที่ทราบดีว่าผู้คนย่อมมีแนวโน้มจะละเลยป้ายเตือนเหล่านี้ พวกเขาจึงควรดำเนินการปิดทะเลสาบไปเสียเลยทีเดียว

ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับข้อถกเถียงนี้ ทว่าเมื่อคดีขึ้นถึงสภาขุนนาง (หรือสภาสูงที่มาจากการแต่งตั้งของสหราชอาณาจักรซึ่งเคยทำหน้าที่ด้านตุลาการเป็นศาลฎีกาไปด้วยในตัวจนถึงปี ค.ศ.2009 – ผู้แปล) คณะผู้พิพากษาก็ชี้ว่ามันมีราคาที่เราจะต้องจ่ายหากจะปกป้องหนุ่มคนนี้ไว้จากความโง่เขลาของเขาเอง

ราคาที่ว่าก็คือการสูญเสียเสรีภาพซึ่งประชามหาชนส่วนข้างมากผู้เที่ยวชมทะเลสาบแห่งนี้อย่างเพลิดเพลินและมีสติสำนึกดีพอที่จะทำเช่นนั้นอย่างปลอดภัยจะต้องทนแบกรับไว้

สมาชิกสภาขุนนางผู้ทำหน้าที่ตุลาการเหล่านี้ได้แตะปัญหาทางแพร่งอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งครอบคลุมกว้างขวางยิ่งกว่า

กล่าวคือ ทุกครั้งที่อำนาจหน้าที่สาธารณะถูกตำหนิว่าล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมทำนองนี้ มันโน้มเอียงจะตอบสนองด้วยการจำกัดเสรีภาพของมหาชนโดยรวมเพื่อพรากเอาโอกาสที่พวกเขาอาจจะก่อภยันตรายแก่ตัวเองได้ไปเสีย มันเป็นวิธีการเดียวที่แน่ใจได้ว่าจะช่วยปัดป่ายคำวิจารณ์ให้พ้นตัว

ทุกครั้งที่เราวิจารณ์พวกนักสังคมสงเคราะห์ว่าประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้งกรณีการกระทำผิดต่อเด็กอันเลวร้ายอันใดอันหนึ่งนั้น เอาเข้าจริงแล้วเรากำลังเชื้อเชิญพวกเขาให้พร้อมยิ่งขึ้นในอันที่จะเข้าแทรกแซงชีวิตของพ่อ-แม่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย เผื่อว่าลูกๆ ของพวกเขาอาจตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย

(ต่อสัปดาห์หน้า)